ประโยชน์ของกระเจี๊ยบแดง


ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa Linn.
ชื่ออื่นๆ กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง) ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเอ็ง (เหนือ) ส้มตะเลงเครง (ตาก) ส้มปู (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) ส้มพอเหมาะ (ทั่วไป)
ชื่ออังกฤษ Roselle, Jamaica Sorrel, Rama.
ลักษณะ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้าน ลำต้นกิ่งก้านมีสีม่วงแดง สูง 1-2 เมตร ใบเดี่ยวรูปฝ่ามือ มีแผ่นใบหลายรูปแบบ ขอบใบเรียบหรือหยักลึก 3-5 แฉก ใบกว้างและยาวใกล้เคียงกัน 8-12 ซ.ม. ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามง่ามใบ กลีบดอกสีชมพูหรือสีเหลืองอ่อน ตรงกลางของกลีบจะมีสีม่วงแดง ใบประดับ และกลีบรองดอกมีสีแดงเข้มจะคงอยู่และแผ่ขยายออกหุ้มผลไว้ ผลรูปไข่ป้อมๆ มีจงอยสั้นๆ และมีขนหยาบๆ สีเหลืองปกคลุม
ส่วนที่ใช้ ใบประดับ กลีบรองดอก ยอดและใบอ่อน
สารสำคัญ ใบอ่อนมีกรดอินทรีย์ เช่น กรดฟอร์มิค มัลลิค ฯลฯ ทำให้มีรสเปรี้ยว มีวิตามินเอ ซีและแร่ธาตุต่างๆ
ใบประดับ กลีบรองดอก สีแดงเข้ม มีสารสีแดงพวก anthocyanin และมีกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่นกรดซิตริก ทาร์ทาริค ออกซาลิค มัลลิค ฯลฯ และมีสารอื่นๆ เช่น hibiscetin, gossypetin, pectin และอื่นๆ

ประโยชน์ทางยา ใช้ขับปัสสาวะ โดยใช้ใบประดับและกลีบรองดอกแห้ง 3 กรัม บดให้เป็นผง ชงนํ้าเดือด 1 ถ้วยแก้ว ปิดฝาทิ้งไว้ 5-7 นาที ดื่มแต่นํ้าสีแดง วันละ 3 ครั้ง ช่วยขับปัสสาวะ และคนไข้ที่เป็นนิ่วในท่อไต จะมีก้อนนิ่วหลุดออกมาด้วย เมื่อให้ดื่มนํ้ายานี้
ใช้ลดความดัน ใช้ใบประดับและกลีบรองดอกต้มด้วยนํ้า ดื่มแต่นํ้า จะช่วยลดความดันได้ และยังช่วยระบายอ่อนๆ อีกด้วย
อื่นๆ เป็นอาหาร ยอดอ่อนและใบมีรสเปรี้ยว ใช้แกงส้ม
ใบประดับ กลีบรองดอก ใช้เตรียมแยม ทำนํ้ากระเจี๊ยบ ใช้แต่งสีแดงในอาหารหวาน
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ