การปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย

อาวุธ  ณ ลำปาง

กรมวิชาการเกษตร บางเขน กรุงเทพฯ

น้ำฝน-ปัจจัยที่ถูกจำกัดโดยธรรมชาติ

ข้อจำกัดโดยธรรมชาติแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปลูกพืชในประเทศไทยก็คือน้ำ แม้ว่าจะมีน้ำจากการชลประทาน แม่น้ำ ลำคลอง ตลอดจนน้ำใต้ดินในบางท้องที่เป็นผลมาจากน้ำฝนที่ตกลงมาในแต่ละปี อิทธิพลของฝนที่มีต่อการเพาะปลูกพืชของประเทศเห็นได้อย่างชัดเจนจากการผลิตข้าวโพด ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ และ พ.ศ. ๒๕๓๑

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ นั้นเป็นปีที่แห้งแล้งมาก พื้นที่ปลูกข้าวโพดลดลงเหลือ ๑๐.๙๔ ล้านไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ ๒๕๔ กก. และปริมาณผลผลิตทั้งประเทสมีเพียง ๒.๗๘ ล้านตัน แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ มีฝนดีตั้งแต่ต้นฤดูเพาะปลูก และดกอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มมากขึ้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้สำรวจและพยากรณ์ว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งต้นฝนและปลายฝนรวมเป็นพื้นที่ ๑๒.๑๘ ล้านไร่(เพิ่มจากปีก่อน ๑.๒๔ ล้านไร่ หรือร้อยละ ๑๑.๓๙) และยังเป็นผลให้ข้าวโพดมีผลผลิตสูงถึงไร่ละ ๔๒๔ กก. (เพิ่มขึ้นไร่ละ ๑๗๐ กก.หรือร้อยละ ๖๖.๙๓) ประมาณว่าจะได้ผลผลิตตลอดปี ๕.๑๖ ล้านตัน (เพิ่มขึ้น ๒.๘๓ ล้านตัน หรือร้อยละ ๘๕.๗๕) นอกจากนี้ยังทำให้น้ำต้นทุนเหนือเขื่อนหรือในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณมากเพียงพอกับการปลูกพืชในฤดูแล้งได้ตามเป้าหมาย

ตัวอย่างจากผลของการปลูกข้าวโพดในสองปีที่กล่าวถึงข้างต้นชี้ให้เห็นอิทธิพลของน้ำฝนที่มีต่อการปลูกพืชอย่างเด่นชัด

ทำอย่างไรเมื่ออยู่ในพื้นที่มีฝนตกน้อย

แม้จะตระหนักถึงความสำคัญของน้ำที่มีต่อการเพาะปลูกพืชไร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ผลผลิตสูงขึ้น แต่เกษตรกรในบางท้องถิ่นซึ่งอาศัยและทำมาหากินในสภาพภูมิประเทศที่มีฝนตกน้อยและไม่สม่ำเสมอ เช่นในเขตเงาฝน ก็สามารถทำการเพาะปลูกโดยอาศัยปริมาณน้ำที่มีอยู่จำกัดนั้นให้เกิดประโยชน์มากที่สุด หรือต้องทำการเพาะปลูกนอกฤดูกาล เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวของตน

การเพาะปลูกพืชโดยอาดศัยน้ำน้อย หรืออาจกล่าวได้ว่าการเก็บเกี่ยวน้ำฝนนี้ เกษตรกรในแต่ละท้องที่มีความถนัดและได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาเป็นเวลานานโดยความสำเร็จนั้นเกิดจากองค์ประกอบสามประการ คือ ประการแรก รู้จักหาแหล่งน้ำที่มีอยู่ในท้องถิ่น และนำน้ำที่มีอยู่นั้นมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่สอง  การเลือกชนิดและพันธุ์พืชที่มีความต้องการน้ำน้อยและทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง

ประการสุดท้าย  คือรู้จักคิดค้นวิธีการเพาะปลูก และการปฏิบัติรักษาพืชของตนอย่างถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นตัวอย่างที่จะนำมากล่าวถึงต่อไปนี้ จึงเป็นการพิสูจน์ถึงความสามารถทั้งสามประการของตัวเกษตรกรเอง

การปลูกละหุ่งพันธุ์พื้นเมือง

พื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ในตำบลบุ่งขี้เหล็กและตำบลเสมา อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา อยู่ตามบริเวณเชิงเขาด้านตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเขตเงาฝน ฝนต้นฤดูมีปริมาณน้อย มักมีฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอต่อการปลูกพืชหลัก คือข้าวโพด

ดังนั้นเกษตรกรจึงเลี่ยงไปปลูกข้าวโพดรุ่นที่สองในเดือนสิงหาคม เมื่อเตรียมดินเสร็จแล้ว จะปลูกข้าวโพดเป็นแถวยาวพร้อมกับปลูกละหุ่งสลับทุก ๆ ๖-๘ แถว ของข้าวโพด แต่ละแถวละหุ่งมีระยะห่างกัน ๔-๖ เมตร เกษตรกรอาศัยแถวละหุ่งเป็นแนวสังเกตในการทำรุ่น(พรวนดิน-ดายหญ้า) และการพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปโดยสะดวกทั่วถึงและรวดเร็ว

ข้าวโพดที่ปลูกไว้จะสุกแก่เก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายฤดูฝน คือระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ต้นละหุ่งเจริญเติบโตพร้อมกับข้าวโพด แต่ฝักแก่ยังติดอยู่กับต้น ไม่แตกและไม่ร่วงหล่นเสียหาย เกษตรกรอาจทะยอยตัดช่อละหุ่งที่มีฝักแก่มาเก็บไว้ก่อนหลังจากการเสร็จงานเก็บเกี่ยวข้าวโพดและมีเวลาว่างในฤดูแล้ง จึงทำการกระเทาะเมล็ดละหุ่งเพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นเป็นครั้งคราว

ละหุ่งเป็นพืชที่มีระบบรากลึก และทนทานต่อความแห้งแล้ง สามารถอยู่ข้ามฤดูแล้งได้ แม้ว่าจะไม่มีช่อดอกในช่วงเวลาดังกล่าว แต่เมื่อละหุ่งได้รับฝนต้นฤดู(ฝนสงกรานต์) ต้นละหุ่งก็แตกยอดและใบใหม่ แทงช่อดอก ติดฝัก ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อีกครั้งหนึ่ง แม้ปริมาณฝนต้นฤดูในพื้นที่อยู่ในเขตเงาฝนนี้ จะมีปริมาณไม่เพียงพอแก่การปลูกข้าวโพด แต่นับว่าเพียงพอแก่การให้ละหุ่งผลิดอกออกผลไปจนถึงเดือนกรกฎาคม เกษตรกรจึงตัดต้นละหุ่งทิ้งเพื่อเตรียมดินปลูกข้าวโพดสลับแถวกับละหุ่งชุดใหม่ต่อไป

จากการสอบถามเกษตรกรทราบว่าละหุ่งพันธุ์พื้นเมืองมีอายุข้ามปีทนแล้งได้ดี การเลือกปลูกละหุ่งพันธุ์พื้นเมืองที่มีไขหรือฝุ่นสีขาวติดที่ลำต้น ใบ และช่อดอก เช่น พันธุ์ขาวนวล และลายหินอ่อน ก็เนื่องจากลักษณะการมีไขของต้นละหุ่งช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากเพลี้ยจักจั่นได้ดีกว่าละหุ่งพันธุ์อื่น ๆ

การปลูกต้นละหุ่งเป็นแถวในระยะที่ห่างกันและปลูกสลับกันแถวข้าวโพดนั้นช่วยลดปริมาณและการทำลายของหนอนคืบละหุ่ง ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญให้ลดต่ำลงได้

ละหุ่งพันธุ์พื้นเมืองสามารถใช้ความชื้นในดินและปริมาณน้ำฝนต้นฤดูซึ่งมีอยู่จำกัด เพื่อผลิตเมล็ดนำไปจำหน่ายได้ การกระเทาะเมล็ดละหุ่งซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้เวลามาก ก็อาจเลี่ยงไปทำในฤดูแล้ง โดยใช้แรงงานผู้สูงอายุและผู้อยู่ในวัยเด็ก ซึ่งปกติก็ต้องรับหน้าที่ดูแลบ้านช่องและสัตว์เลี้ยง ในขณะที่คนหนุ่มคนสาวออกไปรับจ้างทำงานต่างท้องถิ่น

การปลูกละหุ่งสลับกับแถวข้าวโพดดังกล่าวมาแล้วนี้ ยากที่จะบอกผลผลิตและรายได้อย่างถูกต้อง จากการสอบถามเกษตรกรผู้มีพื้นที่ปลูก ๑๐-๑๕ ไร่ เก็บเกี่ยวเมล็ดละหุ่งได้ปีละ ๑๕-๒๐ กระสอบ หรือประมาณ ๗๕๐-๑๐๐๐ กก. ราคาขายในท้องถิ่นกก.ละ ๕ บาท นับว่าเป็นรายได้เสริมประมาณครอบครัวละ ๓,๕๐๐-๕,๐๐๐ บาท ต่อปี

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๐ ประเทศไทยผลิตละหุ่งได้ทั้งสิ้น ๓๖,๐๐๐ ตัน คิดเป็นมูลค่าที่เกษตรกรขายได้ประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท เกือบทั้งหมดของผลผลิตเกิดจากการปลูกพืชอื่นสลับกับแถวละหุ่งดังกล่าวมาข้างต้น

การปลูกถั่วลิสงในนาข้าว

เกษตรกรในตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จในเดือนธันวาคม พวกเขาจะเริ่มไถนาอีกครั้งหนึ่งด้วยแรงสัตว์ หรือรถไถเดินตาม ไถลึกประมาณ ๑๐-๑๕ ซม.และทำให้หน้าดินร่วนซุย แล้วจึงไถเปิดแถวเพื่อหยอดเมล็ดถั่วลิสงให้ลึกถึงชั้นดินที่ยังชุ่มชื้นแล้วกลบให้เรียบร้อย ระยะปลูกระหว่างแถว ๒๕ ซม. ระหว่างหลุม ๒๕ ซม. พื้นที่ปลูก ๑ ไร่ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ก่อนกะเทาะเปลือก จำนวน ๑ กระสอบ หลังจากต้นถั่วงอก ๑๐-๑๕ วัน มีการพรวนดิน ดายหญ้า และพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช แล้วปฏิบัติซ้ำอีก ๑-๒ ครั้ง ตามความจำเป็น จนถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยวในปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน ถั่วลิสงส่วนหนึ่งถูกถอนขายฝักสดตามความต้องการของพ่อค้าในท้องถิ่น ส่วนที่เหลือปล่อยให้ฝักแก่จึงถอนต้นขึ้นมาปลิดฝัก ตากแห้งบรรจุกระสอบ เพื่อรอจำหน่ายต่อไป

จากการสอบถามเกษตรกรทราบว่าได้ผลผลิตทั้งเปลือกไร่ละ ๑๐-๑๔ กระสอบ(ถั่วลิสงแห้งทั้งฝัก ๑ กระสอบ หนัก ๔๐ กก.) หรือไร่ละ ๔๐๐-๔๖๐ กก. ซึ่งผลผลิตถั่วลิสงเฉลี่ยทั้วประเทศเพียงไร่ละ ๒๐๐ กก.เท่านั้น

ราคาขายถั่วลิสงฝักสดกก.ละ ๓-๕ บาท ส่วนฝักตากแห้ง ราคากก.ละ ๕-๘ บาท เกษตรกรจึงมีรายได้เฉลี่ยไร่ละ ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ บาท เพิ่มขึ้นจากการทำนาปีแต่เพียงอย่างเดียว

ณ ตำบลมะเกลือใหม่นี้มีการปลูกถั่วลิสงประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ เริ่มตั้งแต่ประมาณ ๒๐ ปีที่ผ่านมา หรือหลังจากสร้างอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงเสร็จแล้ว การเก็บกักน้ำเหนือเขื่อนทำให้น้ำใต้ดินในบริเวณนี้มีระดับสูงขึ้นและมีความชุ่มชื้นเพียงพอต่อการปลูกถั่วลิสงในฤดูแล้ง โดยไม่จำเป็นต้องให้น้ำทางผิวดินอีก นอกจากมีฝนตกเป็นครั้งคราว

ถั่วลิสงต้องการน้ำน้อย เมื่อดินมีความชุ่มชื้นพอสมควร ฝักถั่วก็จะติดเมล็ดได้เต็มสมบูรณ์ การปลูกถั่วลิสงหลังนา เฉพาะในฤดูแล้ว ทำให้แมลงศัตรูระบาดทำลายน้อยกว่าการปลูกพืชตระกูลถั่วติดต่อกันตลอดปี เนื่องจากการขยายพันธุ์ของแมลงขาดช่วงไม่ต่อเนื่องกัน

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ดินส่วนใหญ่เป็นดินชุดโคราชและร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นดินทรายละเอียด มีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดี ดังนั้นในท้องที่ซึ่งมีระดับน้ำใต้ดินสูงก็สามารถปลูกถั่วลิสงในฤดูแล้งได้เช่นกัน เช่น จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ แต่ผลผลิตต่อไร่ไม่สูงเท่ากับถั่วที่ปลูกในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้อาจเกิดจากความแปรปรวนของระดับน้ำใต้ดิน ซึ่งเปลี่ยนไปตามปริมาณฝนในแต่ละปี

การปลูกถั่วเขียวในนาข้าว

เกษตรกรในอำเภอสีคิ้วและอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีนาข้าวอยู่ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำลำตะคอง หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พอตอซังแห้งก็จุดไฟเผา บางรายนำเอาฟางข้าวที่นวดแล้วมาเผารวมกันไปด้วยเพื่อให้ได้ปริมาณขี้เถ้าเพิ่มมากขึ้น หลังจากนี้จะสูลน้ำเข้านาระดับความลึก ๑๐-๑๕ ซม. แล้วหว่านเมล็ดถั่วเขียวไร่ละ ๕-๘ กก. เมล็ดถั่วจมลงใต้น้ำและเมื่อน้ำค่อย ๆ ซึมลงในดินเมล็ดถั่วถูกขี้เถ้ากลบจนมิดทำให้เมล็ดงอกสม่ำเสมอ เนื่องจากปลูกโดยใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ค่อนข้างสูง ประกอบกับถั่วเขียวเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงสามารถแข่งขันกับวัชพืชในนาได้โดยไม่ต้องทำรุ่นหรือดายหญ้าอีก

ดินในบริเวณดังกล่าวเป็นดินตะกอนมีลักษณะค่อนข้างเหนียว อุ้มน้ำได้ดีมีการให้น้ำครั้งเดียวก็เพียงพอกับการเจริญเติบโตของต้นถั่วเขียวจนถึงเวลาออกดอกและติดฝัก เกษตรกรอาจพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูเพียง ๒-๓ ครั้ง เมื่อสังเกตเห็นว่ามีแมลงระบาดทำความเสียหาย

เกษตรกรเลือกใช้ถั่วเขียวพันธุ์อู่ทอง ๑ ซึ่งอายุสั้นและฝักแก่เก็บเกี่ยวได้พร้อมกันภายในเวลา ๖๕-๗๐ วัน  ได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณไร่ละ ๘๐-๑๐๐ กก.(ไร่ละ ๑ กระสอบ) ราคาขายในท้องถิ่นกก.ละ ๕-๖ บาท ทำให้เกิดรายได้เสริมเพิ่มขึ้นจากการทำนาอย่างเดียว ไร่ละ ๓๐๐-๕๐๐ บาท

ในจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี เกษตรกรนิยมปลูกถั่วเขียวในนาหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเช่นกัน โดยไถดินเพียงครั้งเดียวแล้วจึงหว่านเมล็ดถั่วเขียว ความชุ่มชื้นในดินทำให้ต้นถั่วเขียวงอกและเจริญเติบโตโดยไม่ต้องให้น้ำชลประทานช่วย

สำหรับเกษตรกรในภาคเหนือตอนล่างหรือภาคกลางตอนบน ในจังหวัดตาก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรีและอ่างทอง มักพบอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ทำให้ต้นถั่วเขียวงอกและเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ จึงได้เลื่อนการลงมือปลูกถั่วเขียวในนาออกไปจนถึงเดือนมีนาคม โดยมีการไถเตรียมดินไว้ก่อน เมื่อหว่านเมล็ดเสร็จแล้วจึงสูบน้ำเข้านา ช่วยทำให้เมล็ดถั่วงอกอย่างสม่ำเสมอ ความชื้นในดินเพียงพอกับการเจริญเติบโตของถั่วเขียวจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว

จากประสบการทำให้เกษตรกรทราบว่าถั่วเขียวเป็นพืชที่มีอายุสั้นและมีความต้องการใช้น้ำน้อยกว่าพืชไร่อีกหลายชนิด จึงได้เลือกปลูกเป็นพืชเสริมรายได้ในช่วงเวลาที่มีปริมาณน้ำจำกัด แม้ว่าผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่เกษตรกรก็ได้เลือกวิธีการปลูกและบำรุงรักษาในระดับของการลงทุนต่ำ จึงทำให้ได้ผลตอบแทนอยู่ในระดับที่พอใจเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ

เหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อมีการปลูกพืชตระกูลถั่วแล้ว ซึ่งรวมทั้งหมาด ได้แก่ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง เกษตรกรส่วนใหญ่สังเกตเห็นว่าต้นข้าวที่ปลูกในฤดูต่อไปจะเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงกว่าแปลงนาที่ไม่มีการปลูกถั่วมาก่อน