การปลูกยางพารา


ยางพารา เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย และเป็นพืชที่มีความสำคัญที่สุดของภาคใต้ ยางส่งเป็นสินค้าออก ทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยเป็นอันดับสองรองจากข้าว ในปี พ.ศ. 2516 เป็นปีที่ยางมีราคาสูง ประเทศไทยสามารถส่งยางออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ถึง 365,000 ตัน มีมูลค่าถึง 4,150 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการส่งสินค้าออกสูงเป็นอันดับหนึ่ง รัฐบาลเห็นความสำคัญของอาชีพทำสวนยางเป็นอย่างมาก จึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางขึ้นในปี พ.ศ.2503 เพื่อเร่งรัดส่งเสริมการปลูกยางยางพันธุ์ดี และให้ความช่วยเหลือสนับสนุนชาวสวนยางที่มีความประสงค์จะขอรับการสงเคราะห์จากรัฐบาลด้วยการปลูกยางพันธุ์ดีให้มีน้ำยางมากแทนยางพันธุ์พื้นเมืองที่ให้น้ำยางน้อย ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มผลผลิตยางพาราให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการยางธรรมชาติของตลาดโลก
จากสถิติการส่งยางออก ประเทศไทยส่งยางออกเพิ่มมากขึ้นทุกปี ถึงกระนั้นยังไม่พอเพียงแก่ตลาดโลก เมื่อปี พ.ศ. 2517 ตลาดโลกต้องการยางธรรมชาติถึง 3.7 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 3.4 ล้านตัน และประเทศไทยผลิตได้เพียงประมาณ 458,859 ตัน ซึ่งนับเป็นอันดับที่ 3 รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย อนึ่ง สมาคมผู้ผลิตยางมาเลเซียคาดคะเนว่าความต้องการใช้ยางของโลกในปี พ.ศ. 2523 จะมีปริมาณ 17 ล้านตัน จะเป็นยางธรรมชาติประมาณ 6 ล้านตัน อนาคตของยางธรรมชาติย่อมจะแจ่มใสไปอีกนาน
ยางพาราไม่ใช่ต้นไม้พื้นเมืองของไทย แต่เข้ามามีบทบาทสำคัญเมื่อประมาณปี 2443 โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิสบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรัง ได้นำเมล็ดยางมาจากประเทกมาเลเซีย มาปลูกที่อำเภอเมืองตรังและอำเภอกันตัง ต่อมาปี 2451 หลวงราชไมตรี (ปุณ ปุณศรี) ได้นำไปทดลองปลูกที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งได้ผลดี จึงทำให้อาชีพการทำสวนยางพารามีความสำคัญทั้งในภาคใต้และภาคตะวันออก เพราะมีสภาพดินฟ้าอากาศคล้ายคลึงกัน
ดินที่เหมาะสำหรับปลูกยาง
ดินที่เหมาะแก่การปลูกยาง ควรเป็นดินร่วนซุย ระบายน้ำได้เร็ว น้ำไม่ขังแช่ ถ้าเป็นดินทรายจัด ดินลูกรัง มีหินมาก ไม่เหมาะแก่การปลูกยาง ต้นยางชอบพื้นที่ๆ มีอากาศชุ่มชื้นตลอดปี มีฝนตกสม่ำเสมอทุกๆ เดือน และควรมีปริมาณฝนตกปีละประมาณ 2,000-3,000 มิลลิเมตร
พันธุ์ยาง
พันธุ์ยางที่ควรนำไปปลูก มีลักษณะดังนี้คือ
1. ให้น้ำยางสูงกว่าต้นยางธรรมดา
2. เปลือกหนา
3. เปลือกที่ถูกกรีดแล้วงอกใหม่เร็ว
4. ความเจริญของลำต้นสม่ำเสมอดี ไม่ใช่พอกรีดแล้วต้นหยุดเจริญ หรือเจริญช้ามาก
5. เปอร์เซ็นต์เป็นโรคเปลือกแห้งมีน้อย หรือไม่มีเลย
6. ต้นแข็งแรง ทรงพุ่มใบโปร่ง ต้านทานลมได้ดี
พันธุ์ยางที่แนะนำให้ปลูก และเป็นที่นิยมของชาวสวน
คือ พันธุ์ P.B. 5/51 G.T. 1 R.R. 1 M. 600 และ 623 P.B. 28/59
การปลูกยางพารา
การปลูกยางพาราทำได้หลายวิธี
1. การปลูกด้วยเมล็ด ใช้เมล็ดยางพันธุ์ดีเพาะเป็นต้นกล้า ต้นกล้ายางนี้จะต้องชำอยู่นานถึง 6-9 เดือน ก่อนจะย้ายเอาไปปลูก ต้นกล้าที่เหมาะแก่การปลูกควรมีขนาดกลาง ไม่ใหญ่และเล็กจนเกินไป สะดวกทั้งการขุดถอนและขนย้าย ต้นกล้าที่จะนำไปปลูกจะต้องตัดเอาส่วนยอดที่มี เปลือกสีเขียวออกให้เหลือแต่ส่วนที่เป็นสีเขียวปนน้ำตาล ยาวประมาณ 50-75 ซม. และควรจุ่มส่วนที่ตัดออกด้วยขี้ผึ้ง แต่ปัจจุบันนี้การปลูกยางด้วยเมล็ดไม่นิยมกัน
2. การปลูกด้วยต้นตอตา เป็นการปลูกด้วยต้นยางที่ติดตาไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ตายังไม่แตกเป็นกิ่งออกมา คงเห็นเป็นต้นกล้ายางที่มีแผ่นตาที่แตกเป็นตุ่มติดอยู่ ก่อนปลูกต้องตัดยอดให้เหลือประมาณ 10-15 ซม. เหนือรอยติดตา เมื่อย้ายเอาไปปลูกในสวนยาง ถากตอตาของต้นยางพันธุ์ดี ที่ติดตาเอาไว้ตาย และมีตาใหม่ของลำต้นเดิมแตกออกมา อาจทำให้เข้าใจผิดได้ ฉะนั้นชาวสวนต้องหมั่นตรวจให้แน่นอน และปลิดแขนงเดิมทิ้งเสีย
3. การปลูกด้วยติดตา เป็นการปลูกต้นยางที่เกิดจากการติดตาด้วยกล้าพื้นเมืองด้วยยางพันธุ์ดี หลังจากตาแน่นแล้ว ให้ตัดส่วนยอดของต้นกล้ายางพื้นเมืองที่อยู่เหนือตานั้นทิ้งเสีย ปล่อยให้ต้นกล้ายางนั้นโตต่อไปในที่เดิมจนกระทั่งตานั้นผลิตยอดออกใหม่ขึ้นมาเป็นต้นยางเพียงต้นเดียว เมื่อต้นยางมีอายุประมาณ 1 ปี หรือนานกว่านั้นจึงย้ายไปปลูกที่สวน เมื่อถึงฤดูปลูก ก่อนจะขุดไปปลูกประมาณ 7-10 วัน ควรตัดยอดเหนือส่วนที่เป็นสีน้ำตาลหรือส่วนที่เป็นสีเขียวทิ้ง หลุมที่เตรียมไว้ปลูกต้นยางชนิดนี้ต้องใหญ่และลึกกว่าปกติเล็กน้อย
4. การปลูกด้วยต้นยางชำในถุง เป็นการปลูกต้นยางที่ใช้กันในบางท้องถิ่นที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่นพื้นที่ดินรก ไกลคมนาคม มีสัตว์รบกวน โดยเอาต้นตอใส่ถุงพลาสติคสีดำ ชำทิ้งไว้ให้มีฉัตรใบขึ้นประมาณ 2 ฉัตร แล้วจึงนำไปปลูก
5. การติดตาต้นกล้าในแปลง เป็นการปลูกต้นกล้าสองใบในเนื้อที่จะปลูกยางหลุมละ 2-3 ต้น เมื่อต้นกล้ายางมีอายุ 4-8 เดือน จะเริ่มติดตาสีเขียวหรือสีน้ำตาล การปลูกพืชวิธีนี้เหมาะสำหรับชาวสวนที่สามารถหากิ่งพันธุ์และติดตาเองได้ หรือจ้างคนอื่นทำ ให้ค่าพันธุ์ยางถูกลง
การเตรียมหลุมปลูก
ควรขุดหลุมให้มีขนาดกว้างยาวและลึกด้านละ 50 ซม. ควรใส่ปุ๋ยร๊อคฟอสเฟตประมาณ 50 กรัม (ประมาณครึ่งกระป๋องนม ) รองก้นหลุมก่อนปลูก คลุกปุ๋ยกับดินชั้นล่าง ให้เข้ากันดี แล้วเอาดินที่ขุดกองไว้ข้างหนึ่งกลบลงไปในหลุมให้สูงขึ้นมาประมาณ 1 ใน 4 ของหลุมปลูก แล้วจึงเอาต้นติดตาปลูกตรงกลางหลุม ให้รอยติดตาอยู่เหนือระดับดินเดิมประมาณ 3-4 นิ้ว พยายามให้ต้นยางตั้งตรง และค่อยๆ เติมดินลงไป กลบอัดดินให้แน่นจนเต็มหลุมอย่าให้มีโพรงชั้นบน
ระยะปลูก
1. พื้นที่ราบ ควรปลูกระยะ 4X5 เมตร หรือ 4.5 X 5 เมตร หรือ 3.5 X 6 เมตร แต่ถ้าจะปลูกพืชแซม เพื่อหารายได้ชั่วคราวระหว่างแถวยาง ควรปลูกระยะ 3X8 เมตร
2. พื้นที่ดอนเทหรือที่ลาด ระยะปลูกระหว่างแถว เพื่อทำขั้นบันได อย่างน้อยห่างกันประมาณ 8 หรือ 9 เมตร หรือ 10 เมตร ฉะนั้น ควรปลูกระยะ 3X8 เมตร หรือ 2.7 X 9 เมตร หรือ 2.5 X 10 เมตร
การบำรุงรักษา
1. การปราบวัชพืช ต้นยางอ่อนที่ปลูกจะเจริญรวดเร็วจะต้องไม่มีพืชอื่นรบกวน หรือแย่งอาหาร ควรไถกลบ หรือฆ่าด้วยยาปราบวัชพืช และปลูกพืชคลุมด้วยพืชตระกูลถั่ว
2. การใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยเพื่อให้ต้นยางเจริญเติบโตรวดเร็วได้ขนาดที่จะกรีดเอาน้ำยางได้ เมื่อมีอายุครบ 5 ½  ปี เป็นสิ่งจำเป็น การใส่ปุ๋ยขึ้นอยู่กับชนิดของดิน ปุ๋ยและอายุของต้นยาง สำหรับต้นยางอายุ 2-5 เดือน ควรใส่ปุ๋ยจำนวน 100 กรัมต่อต้น หรือ 8 กก.ต่อไร่ ต้นยางอายุ 8-18 เดือน ใส่ปุ๋ยจำนวน 150-200 กรัมต่อต้น หรือ 16 กก. ต่อไร่ ถ้า
ต้นยางอายุ 2-2 ½  ปี ใส่ปุ๋ยจำนวน 300 กรัมต่อต้น หรือ 24 กก. ต่อไร่ หากอายุ 3-5 ปี ใส่ปุ๋ยจำนวน 600-800 กรัม ต่อต้น หรือ 38-51 กก. ต่อไร่ อายุ 5 ปีขึ้นไป ใส่ต้นละ 1 กก. การใส่ปุ๋ยควรให้ห่างจากต้นยางประมาณ 12-24 นิ้ว โดยใช้วิธีหว่านหรือเจาะเป็นรู หรือวิธีเจาะเป็นร่องแล้วใส่ปุ๋ย
การตัดแต่งและตัดแคระแกร็นทิ้ง ต้นยางที่ดีและง่ายต่อการกรีดควรมีลำต้นกลมและตั้งตรงตั้งแต่โคนไปถึงระยะสูง 2.00 – 2.50 เมตร กิ่งที่เกิดจากลำต้นในระดับที่ต่ำกว่า 2 เมตร ควรตัดทิ้งให้หมด และต้องตัดตั้งแต่ยังเล็กๆ เพื่อมิให้ต้นมีลักษณะเป็นปุ่มเป็นปม ส่วนที่เหนือกว่า 2 เมตร อาจจะเลือกคัดออกเพื่อมิให้พุ่มหนาเกินไป เพราะอาจได้รับอันตรายจากลมแรง ทำให้ลำต้นหรือกิ่งหักได้ ควรตัดต้นที่แคระแกร็นหรือเป็นโรคออก หรือเฉพาะต้นที่สมบูรณ์ไว้ไร่ละ 50-60 ต้น
การกรีดยาง
ต้นยางจะให้น้ำยางได้หลายปีหรือไม่นั้น อยู่ที่การกรีดยาง ถ้ากรีดไม่ระมัดระวังจะเป็นแผลไม่มีที่กรีดอีกต่อไป ต้นยางทุกต้นมีท่อน้ำอยู่ที่เปลือกวนเวียนรอบๆ ต้นไปทางขวามือ การกรีดยางจากขวามาซ้าย ตามที่เคยกรีดแต่ก่อนนั้น ท่อน้ำยางถูกตัดขาดน้อยกว่าจากการกรีดจากซ้ายมาขวา ฉะนั้นจึงควรกรีดจากซ้ายมาขวาเพื่อให้ท่อน้ำยางถูกตัดขาดมาก และจะได้น้ำยางมาก ต้นยางที่จะเปิดกรีดได้ ควรมีลักษณะดังนี้
ต้นกล้า ลักษณะต้นยางที่ปลูกด้วยเมล็ด โคนต้นจะใหญ่และลำต้นเรียวขึ้นไป เปลือกตรงโคนต้นจะหนากว่าปลายลำต้น ควรเปิดกรีดหน้ายางเหนือระดับพื้นขึ้นไป 75 ซม. และตรงหน้ายางที่จะเปิดกรีด วัดโดยรอบต้นตั้งแต่ 50 ซม.ขึ้นไป
ต้นติดตา ลักษณะของลำต้นตั้งแต่โคนต้น และปลายลำต้นเกือบจะโตเท่าๆ กัน เปลือกหนาพอๆ กัน การเปิดหน้ายางควรเปิดหน้ายางเหนือระดับเท้าช้างขึ้นไป 125 ซม. ตรงหน้ายางที่จะเปิดกรีด วัดโดยรอบต้นตั้งแต่ 50 ซม.ขึ้นไป


สำหรับระบบการกรีดยาง พึงระลึกว่ายางพันธุ์ดีไม่เหมือนพันธุ์พื้นเมือง การกรีดครั้งหนึ่งน้ำยางออกมากกว่ายางพันธุ์พื้นเมืองหลายเท่า แต่ต้นมีความอ่อนแอกว่ายางพื้นเมือง ฉะนั้นควรเปิดกรีดแบบครึ่งต้นวันเว้นวัน เพราะการกรีดยางแบบเก่า ซึ่งกรีดหนึ่งในสี่หรือในสามของต้นทุกวัน เหมาะสำหรับพันธุ์พื้นเมือง เพราะน้ำยางออกน้อย แต่ยางพันธุ์ดีใช้ไม่ได้ เพราะน้ำยางออกมาก หากไม่พักต้นยางให้เพียงพอ ต้นจะโทรม เปลือกจะแห้งเป็นโรคได้ง่าย ฉะนั้นระบบการกรีดยาง ควรจะกรีดดังนี้
1. กรีดครึ่งต้น วันเว้นวัน เหมาะสำหรับสวนยางที่สูญเสียวันกรีดน้อย เนื่องจากฝนตก
2. กรีด 1/3 ของต้นทุกวัน เหมาะสำหรับสวนยางที่สูญเสียวันกรีดยางประมาณ 20-40 เปอร์เซนต์ เนื่องจากฝนตก เช่น แถบภาคใต้ฝั่งตะวันตก
3. กรีดครึ่งต้นทุกวัน เหมาะสำหรับยางที่สูญเสียวันกรีดยางเกิน 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เหมาะกับต้นยางที่ปลูกด้วยเมล็ด หรือพันธุ์ยางที่เป็นโรคเปลือกแห้งได้ง่าย
ข้อควรจำ
1. อย่าเปิดกรีดต้นยางเล็กหรือไม่ได้ขนาด จะทำให้ต้นยางเจริญเติบโตช้าลง
2. ต้นยางที่ได้ขนาดกรีด เมื่อโตเกิน 50 ซม. ควรมีจำนวน 3 ใน 4 ของทั้งหมด จึงค่อยเปิดกรีด
3. อย่ากรีดเปลือกออกให้กว้าง เดือนหนึ่งๆ ควรกรีดอย่าให้เกิน 2 ซม.
4. อย่ากรีดให้ลึกเข้าไปถึงเยื่อเจริญ จะทำให้เปลือกยางงอกใหม่เป็นแผลตะปุ่มตะป่ำ กรีดซ้ำอีกไม่ได้ น้ำยางก็จะลดน้อยลง
5. การกรีดยางพันธุ์ดี ควรกรีดเมื่อสว่างแล้วประมาณ 6.00 น. ก็จะได้น้ำยางเท่าๆ กับการกรีดก่อนสว่าง หากหน้ายางยังเปียกอยู่อาจรอไปกรีดตอนสาย แต่อย่าให้เกิน 11.00 น. การกรีดยางพันธุ์ดีตอนสาย น้ำยางที่ออกจะลดลงบ้าง แต่ไม่มากนัก
โรคและแมลง
โรคยางมีมากมายหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยในแหล่งที่ปลูกยาง ที่ควรรู้และได้จำแนกไว้ดังนี้ คือ
1. โรครากขาว เป็นโรคที่ร้ายแรงทำความเสียหายให้แก่สวนยางมากที่สุด ต้นยางที่อายุ 1-20 ปี จะเป็นโรคนี้ได้ง่าย ลักษณะของโรคจะสังเกตเห็นได้ชัดคือ ใบเหลือง ขอบใบม้วนเข้าข้างใน ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อรา เข้าทำอันตรายรากแขนงได้ แต่เมื่อเชื้อราเข้าทำอันตรายถึงรากแก้ว เนื้อในบริเวณนั้นจะเน่าผุ และใบเริ่มร่วง กิ่งเริ่มตาย ในที่สุดต้นยางจะตายทั้งหมด ต้นยางที่เป็นโรคนี้ หากปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งแสดงอาการที่ราก ใบและกิ่ง โดยมากมักจะหมดหนทางช่วยไม่ให้ต้นตายได้
การป้องกัน โดยขุดเอาดินรอบๆ โคนและตามรากไปเท่าที่จะขุดได้ และควรจะขุดห่างจากโคนประมาณ 1-2 ฟุต และลึกไปตามรากแก้วประมาณ 2 ฟุต แล้วใช้ยาที่มีประสิทธิภาพทางป้องกัน คือยาเซนต้าเอ และโฟเมค 2
2. โรคเปลือกเน่า เป็นโรคที่ร้ายแรงและระบาดได้รวดเร็ว ในฤดูฝน ทำความเสียหายบนแผลกรีดยาง ทำให้เปลือกงอกใหม่ออกมาเป็นโรคเปลือกเน่าเสียหาย จนกรีดยางไม่ได้ อาการขั้นแรก บนรอยกรีดยางจะเป็นจุดสีดำหม่น ต่อมาในไม่ช้าเส้นใยของราจะเจริญงอกขึ้นเป็นจุดดำแล้วเส้นใยแผ่ขยายออกไปตามรอยกรีดยางอย่างรวดเร็ว จนทำให้หน้า กรีดยางเน่าจนไม่สามารถกรีดได้
การป้องกัน ใช้ยาทาใต้รอยกรีดประมาณ 3 นิ้ว แต่ต่ำกว่ารอยกรีด 1 นิ้ว ทุกๆ 3 วันหรือทุกๆ อาทิตย์ เฉพาะท้องที่ฝนตกชุกมีความชื้นสูงไม่ควรปล่อยปละละเลย ยาที่มีประสิทธิภาพได้แก่ ไดฟอริลาแทน อัตราส่วนเข้มข้น 0.25 %
3. โรคเส้นดำ เป็นโรคที่ทำอันตรายบนรอยกรีด ทำความเสียหายให้แก่ชาวสวน เฉพาะในเขตที่มีความชื้นสูงเช่น แถบตะวันตกของภาคใต้ เป็นโรคที่ต่อเนื่องจากโรคใบร่วง ที่เกิดจากเชื้อไฟทอปเทอร่าอาการขั้นแรกบนผิวเปลือกเหนือรอยกรีดจะมีรอยบุ๋มสีเทาจาง เป็นทางยาว เหมือน แผลกรีดยาง เป็นเส้นขนานกับลำต้น ถ้าเป็นโรคใกล้รอยกรีด เส้นดำจะ ขยายไปตามรอยกรีด เชื้อราจะเข้าไปทำลายเปลือกและเกิดเน่าทำให้รอยกรีดเสียหาย เมื่อปล่อยไว้ไม่ป้องกันกำจัด หน้ากรีดยางจะเน่า ทำให้กรีดเอาน้ำยางไม่ได้
การป้องกัน หยุดกรีดยางระหว่างที่โรคระบาด ขูด และลอกเอาส่วนที่เป็นโรคออกเผาไฟทำลายเสีย ทาแผลที่ขูดด้วยยาแอนตี้มูซิล อัตราส่วน 0.25 % ประมาณ 3-4 ครั้ง หรือใช้ยาไดโพลาแทน 80 % ชนิดละลายน้ำ อัตราส่วน 2 % ทาที่รอยกรีดทุกครั้งหลังการกรีด ขณะที่น้ำยางกำลังซึมออกมา จะช่วยทำให้น้ำยางไหลนาน และน้ำยางไม่จับเป็นก้อนในถ้วยรอง
4. โรคราสีชมภู เป็นโรคร้ายแรงกับต้นยางที่มีอายุ 3-7 ปี ทำให้ต้นยางตายไปในเวลารวดเร็ว เชื้อโรคจะเข้าทำอันตรายต้นยางตรงง่ามกิ่งและลำต้น โรคนี้ระบาดในฤดูฝน ที่มีอากาศชื้นลง อาการนี้สังเกตได้ง่ายเพราะว่าเส้นใยเชื้อราจะปราฏให้เห็นคล้ายใยแมงมุม เมื่อเชื้อราเข้าทำลายแล้ว จะมียางไหลออกเป็นทางยาวที่รอยแผล เมื่อต้นยางแห้งแล้ว จะมีราสีดำจับเห็นได้เด่นชัด เปลือกบริเวณเป็นโรคจะแตกแยกเป็นแผล เมื่อเชื้อราเจริญเต็มที่จะมีลักษณะเป็นแผ่นสีชมภู มองเห็นด้วยตาเปล่ากระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
การป้องกัน ตัดส่วนที่เป็นโรคทิ้ง แล้วทาด้วยยาป้องกันเชื้อรา เช่น คูปราวิท บอร์โดมิคเจอร์ อัตราส่วนผสม มีจุนสี 120 กรัม ปูนขาว 240 กรัม ผสมน้ำ 10 ลิตร ยานี้ควรใช้ขณะผสมเสร็จใหม่ๆ นอกจากนี้ยังมียาโฟโลคเมค 90 เข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ ทาบริเวณเป็นโรคทุกๆ อาทิตย์
แมลงศัตรูของต้นยาง
1. แมลง เช่น ปลวก ด้วง เพลี้ย ไรแดง ทำอันตรายให้แก่ต้นยางน้อยกว่าโรคยาง
2. สัตว์อื่นๆ เช่น หมูป่า เม่น มักจะเข้ามาขุดทำลายต้นยางที่อยู่ตามชายป่า
3. คน คนกรีดยาง กรีดโดยไม่ทนุถนอมจนเปลือกยางเสียหาย ถือว่าเป็นศัตรูของต้นยาง
การทำยางแผ่น
น้ำยางที่ออกจากต้นใหม่ๆ จะสะอาดไม่มีสิ่งสกปรกเจือปน แต่เมื่อชาวสวนเก็บรวบรวมน้ำยางมาทำยางแผ่น ทำให้ยางสกปรก เพราะว่าคนกรีดยางมักไม่กรองน้ำยางให้สะอาด ก่อนทำยางแผ่น ฉะนั้นจึงขายได้เป็นยางชั้นต่ำราคาถูก ทั้งนี้เพราะยางแผ่นที่หน้าสกปรกจะถูกพ่อค้ากดราคา การผลิตยางแผ่นที่ดี มีหลักง่ายๆ อยู่ คือ การรักษาความสะอาดเพื่อให้ได้แผ่นยางที่สะอาด แผ่นยางบาง การใช้น้ำและน้ำกรดให้ถูกส่วน ทำให้แผ่นยางมีขนาดและมีความสวยงามพอสมควร


กรรมวิธีผลิตที่ควรถือปฏิบัติมีดังนี้ คือ
1. ใช้ภาชนะที่รองน้ำยางสะอาด อย่าให้มีสิ่งสกปรกเจือปน เพราะจะทำให้กรองน้ำยางยาก
2. ถังเก็บยางต้องรักษาให้สะอาด อย่าให้มีขี้ยางหรือใบไม้ลงในถัง เพราะจะทำให้น้ำยางสกปรก เป็นเหตุให้น้ำยางจับตัวเร็ว กรองน้ำยางได้ยาก
3. น้ำยางที่เก็บได้ต้องรีบนำไปทำแผ่น แล่ะต้องทำความสะอาดเครื่องมือทำยางทุกชนิด ทั้งก่อนและหลังใช้งานแล้ว ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญในการทำแผ่นยางชั้นดี
4. น้ำยางที่ได้จากสวน ต้องกรองก่อนทำยางแผ่น โดยผสมน้ำกับน้ำยางในอัตราส่วน 2 ต่อ 3 เมื่อผสมน้ำแล้ว จึงค่อยเทผ่านเครื่องกรองเบอร์ 40 และเบอร์ 60 กรอง 2 ชั้น
5. กรองน้ำยางที่ผสมแล้วใส่ตะกงขนาด 5 ลิตร ควรใช้ตะกงอลูมิเนียมดีกว่าใช้ปี๊บน้ำมันก๊าสผ่าซีก ต่อจากนั้นใช้น้ำกรดผสมน้ำยางเพื่อทำให้ยางจับตัว กรดที่ใช้ควรเป็นกรดฟอร์มิค 90 % ใช้อัตราส่วน คือ กรด 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 2 กระป๋องนม กรดที่ผสมแล้วนี้จะทำให้ยางจับตัวภายในเวลา 30-60 นาที ในการทำยางแผ่น ใช้กรดที่ผสมแล้ว 1 กระป๋อง นม ผสมกับน้ำยางที่ผสมแล้ว 1 ตะกง ประมาณ 5 ลิตร จะได้เนื้อยางแห้งประมาณ 0.8-1.2 กิโลกรัม
6. นวดยางที่แห้งตัวบนโต๊ะที่สะอาด แล้วรีดแผ่นยางด้วยเครื่องรีดเรียบ 3-4 ครั้ง ให้ได้แผ่นหนาประมาณ 4 มิลลิเมตร
7. ล้างยางแผ่นที่รีดเรียบร้อยแล้วด้วยน้ำสะอาด เพื่อล้างน้ำกรดและสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ออกให้หมด อย่าใส่แผ่นยางครั้งละหลายแผ่นลงไปในคตุ่ม เพราะจะทำให้ล้างไม่สะอาด
8. ควรนำไปผึ่งหรือตากไว้ในที่ร่ม ไม่ควรนำไปผึ่ง หรือตากแดด เพราะจะทำให้ยางแผ่นเสื่อมคุณภาพได้ง่าย อย่าวางแผ่นยางบนพื้นหรือบนถนน หรือพาดแผ่นยางไว้ในที่ๆ จะถูกสิ่งสกปรกได้ง่าย