การปลูกสับปะรดแบบไม่ไถพรวน

รศ.อัมพร สุวรรณเมฆ และจำรูญ  เล้าสินวัฒนา

ภาควิชาพืชไร่ ม.เกษตรศาสตร์

การปลูกสับปะรดแบบไม่ไถพรวนเป็นเทคนิคใหม่ที่น่าจะนำไปใช้ได้ในทางปฏิบัติจริง ๆ ทั้งนี้จากที่ได้ทดลองทำมาเป็นเวลามากกว่า 4 ปี ในสภาพไร่ที่ทำเป็นอุตสาหกรรมสำหรับในสภาพการปลูกแบบเตรียมดินโดยทั่วไปของชาวบ้าน  วิธีนี้แม้ว่าอาจไม่ช่วยลดค่าใช้จ่าย แต่ก็ได้กำไรเวลาโดยสามารถปลูกได้เร็วกว่า

สับปะรด (Ananas comousus (L.) Merr.) เป็นผลไม้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศในเขตร้อนและกึ่งร้อน  ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออก รายใหญ่ประมาณ อันดับหนึ่ง หรือสองของโลก ในปี 2534 และ 2535 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรด มีถึง 10.4 และ 10.8 พันล้านบาท ตามลำดับ ในการผลิตสับปะรดต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับพืชไร่อื่น ๆ เหตุผลอย่างหนึ่งก็คือ เป็นพืชอายุยาวตั้แต่ 16 ถึง 18 เดือน หรือมากกว่า การเตรียมดินปลูกเป็นเรื่องใหญ่อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมดินในระหว่างรอบการปลูก  ซึ่งจะมีปัญหาการทำลายต้นตอเก่า  ซึ่งถ้าทำไม่ดีชิ้นส่วนของต้นตอดังกล่าวที่ถูกตัดจะงอกขึ้นมา และก่อให้เกิดปัญหากลายเป็นวัชพืช

วิธีการเตรียมดินสำหรับการปลูกแบบปกติ (conventional tillage)

การเตรียมดินในระหว่างรอบการปลูกที่ถูกต้องคือ  การไถกลบต้นเก่าหลายครั้งให้แหลกละเอียดลงไปในดิน  ก่อนอื่นใช้พรวนขนาดใหญ่ (Rome plough) ไถวนครั้งละสองรอบจำนวน 3-4 ครั้ง ห่างกันประมาณ 6 สัปดาห์ หลังจากครั้งสุดท้ายแล้วทิ้งช่วงไถด้วยผานสาม  แล้วจึงลงด้วยพรวนและยกร่องปลูก  โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 5-8 เดือน ทั้งนี้จะต้องมีฝนด้วย อย่างไรก็ดีวิธีที่ใช้อยู่ปัจจุบันมีการดัดแปลงเล็กน้อย คือก่อนอื่นตัดต้นแก่ลงชิดดินด้วยใบมีดติดท้ายแทรกเตอร์ (slasher) แล้วลงพรวนใหญ่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ต่อมาแล้วลงอีกครั้งหนึ่งเมื่อราว 8 สัปดาห์ต่อมา แล้วจึงลงผานสาม และยกร่องปลูก ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน วิธีนี้บางครั้งก็มีปัญหาจากหน่อที่งอกจากชิ้นส่วนที่ถูกตัดขาดอยู่เหมือนกัน  วิธีนี้จึงไม่ค่อยยอมรับกันมากนัก การใช้สารเคมีเข้าช่วยพบว่าได้ผลดีกว่า แต่ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น  วิธีดังกล่าวทั้งหมดใช้ปฏิบัติกันในไร่ใหญ่ ๆ ของบริษัทฯ แต่ในไร่กสิกรนั้นต่างออกไปเนื่องจากปัญหาเครื่องมือหนักราคาแพง

ในไร่กสิกรมักจะไม่คิดถึงการไถกลบเศษซากต้นเก่าเพื่อรักษาระดับอินทรียวัตถุ  วิธีหนึ่งที่ใช้กันคือพ่นด้วยสารพาราควอทให้ต้นแห้งตายแล้วจุดไฟเผา  แต่เศษลำต้นที่ถูกไฟไหม้จนดำก็อาจยังมีโอกาสงอกได้เหมือนกัน  อีกวิธีหนึ่งก็คือทำการไถเฉพาะแถวของต้นเดิมให้หลุดออกจากดิน แล้วใช้รถแทรกเตอร์ดันออกไปนอกแปลง  ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างจะใช้กันมาก  อย่างไรก็ดีในระยะหลัง ๆ รู้สึกว่ากสิกรที่ก้าวหน้าจะใช้วิธีการตัดชิดดินเสียก่อน  แล้วทิ้งไว้ให้เศษซากต้นยุบลงให้มาก ๆ แล้วจึงลงไถผานสาม  ซึ่งทั้งนี้ช่วยให้มีการรักษาระดับดินทรียวัตถุในดินได้

วิธีการเตรียมดินดังกล่าว มีจุดด้อยหลายอย่าง

1.  ใช้เวลานาน  ซึ่งถ้าจะมีการรักษาเศษซากต้นใบไว้  จะต้องใช้เวลามากกว่า 3 เดือนขึ้นไป จนถึง 8 เดือน ขึ้นกับว่าเศษซากมีการผุพังดีเพียงไร ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วราว ๆ 5 เดือน

2.  มีการใช้เครื่องมือหนักในแปลงหลายครั้ง  อย่างน้อยก็ 4 ครั้ง ยิ่งถ้าจะให้เสร็จเร็วใน 3 เดือน ก็ต้องวิ่งหลายรอบในแต่ละครั้ง

3.  การที่มีฝนตกจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน  และจะต้องรอจนกว่ารถแทรกเตอร์จะเข้าได้

4.  การเตรียมแปลงในพื้นที่ลาดชันเมื่อมีฝนตก  ฝนจะชะเอาดินที่เตรียมไว้ไหลไปตามน้ำ  ทั้งนี้รวมไปถึงต้นที่เพิ่งปลูกใหม่ด้วย

5.  วิธีการเผาเศษซากใบและต้นเป็นการทำลายอินทรียวัตถุ  ซึ่งเศษซากนี้จะมีมากประมาณ 20-40 ตันต่อไร่

จากข้อด้อยดังกล่าวจึงได้มีการวิจัยการปลูกด้วยวิธีไม่ไถพรวน  หลังจากที่ได้มองเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ในปี 2533 และได้รายงานไว้ในปี 2535 ได้ทราบว่ามีบางบริษัทได้ค้นคว้าเรื่องนี้มา 7-8 ปีแล้ว แต่ก็ไม่มีรายละเอียดมากนัก ดังนั้นจึงต้องทำการวิจัยเรื่องนี้อีกในปี 2535 จนถึง 2537 เพื่อย้ำความมั่นใจและศึกษารายละเอียดอื่นเพิ่มเติม  ก่อนที่จะนำไปใช้ในทางปฏิบัติจริง

วิธีการเตรียมดินปลูกแบบไม่ไถพรวน (no-tillage)

ปัญหาแรกของการปลูกแบบไม่ไถพรวนคือ การทำลายสับปะรดต้นตอเดิมซึ่งอาจจะเป็นต้นที่ให้ผลแล้วครั้งเดียว (plant crop) หรือให้ผลมาแล้วมากกว่า 1 ครั้ง (ratoon crop) ทั้งนี้ส่วนใหญ่มักจะปล่อยไว้ให้ผลเพียง 2 ครั้ง การทำลายต้นตอเดิมโดยไม่รบกวนผิวหน้าดินจะทำได้ก็โดยใช้สารเคมี  ซึ่งมีสารเคมีที่ใช้ได้หลายชนิด เช่น

1.  พาราควอท 3.75 กิโลกรัม ไอออนในน้ำ 4,000 ลิตรต่อเฮกตาร์ (หรือสารผลิตภัณฑ์ 3 ลิตร ในน้ำ 640 ลิตรต่อไร่)

2.  ไกลโฟเสท 6.75 กิโลกรัม เออี ผสมแอมโมเนียมซัลเฟต 25 กิโลกรัม ในน้ำ 2,000 ลิตรต่อเฮกตาร์ (หรือสารผลิตภัณฑ์ชนิดเข้มข้น 360 กรัมเออีลิตร จำนวน 3 ลิตร ผสมแอมโมเนียมซัลเฟต 4 กิโลกรัม ในน้ำ 320 ลิตรต่อไร่)

3.  ฟลูร็อกซีเพอร์ 2.0 กิโลกรัม เออีในน้ำ 2,000 ลิตรต่อเฮกตาร์ (หรือสารผลิตภัณฑ์ชนิดเข้มข้น 200 กรัมต่อลิตร จำนวน 1.6 ลิตร ในน้ำ 320 ลิตรต่อไร่)

สารทั้งหมดดังกล่าวเมื่อพ่นแล้ว 5 วัน ทำการตัดต้นให้ชิดดิน ถ้าทิ้งไว้นานต้นจะเหนียว  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพาราควอททำให้ตัดยาก  แต่ถ้าใช้ใบมีดติดท้ายแทรกเตอร์ ก็ไม่มีปัญหาในการฆ่าตอ  ถ้าเป็นสับปะรดปลูกใหม่ให้ผลมาแล้วครั้งเดียว  จะตายสนิทดีกว่าต้นตอที่เคยให้ผลมาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากสับปะรดมีลำต้น 2 ชนิดคือ ลำต้นตอเดิม (mother stump) และลำต้นตอลูก (daughter stump) สารเคมีพวกเคลื่อนย้าย (translocated) จะฆ่าตอลูกได้ดี  แต่ตอเดิมมากกว่า 70℅ จะไม่ตาย  อย่างไรก็ดีหน่อที่แตกขึ้นมาจากตอเดิม  ส่วนมากก็มักมีขนาดเล็กและไม่ค่อยสมบูรณ์

เทคนิคการปลูกแบบไม่ไถพรวน

หลังจากตัดต้นชิดดินแล้ว  จะพบว่ามีกองเศษซากต้นเดิมมากมาย การปลูกขณะนั้นเลยทันทีจะไม่ค่อยสะดวก (แต่ถ้าจะทำก็ย่อมได้) ควรทิ้งไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ให้ยุบตัวแล้วเกลี่ยให้เสมอ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศษซากใบมักจะกองอยู่ระหว่างร่องเป็นส่วนมาก (โดยทั่วไปสับปะรดจะปลูกเป็นแถวคู่บนสันร่อง เช่น ระยะ 27x60x70 หมายถึง 27 เซนติเมตร ระหว่างต้น 60 เซนติเมตร ระหว่างแถวบนร่อง และ 70 เซนติเมตรระหว่างร่อง) ควรใช้มือหรือคราดซี่ดึงขึ้นมากลบบนสันร่อง  ปิดบริเวณที่มองเห็นผิวดิน พยายามดูให้ทั่วๆ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้วัชพืชขึ้นตรงบริเวณนั้น

ในการปลูกควรใช้จอบหน้าแหลม ด้ามสั้น ขุดให้ลึกพอสมควรตรงบริเวณที่จะปลูก  ซึ่งอยู่ระหว่างต้นเดิม (คือปลูกสลับ ในแถวเดียวกับต้นเดิม) ไม่พยายามรบกวนหน้าดินส่วนอื่น โดยที่ดินไม่ได้รับการไถพรวนจึงทำให้ไม่ร่วนซุย  ดังนั้นจะต้องช่วยกลบบริเวณโคนหน่อที่ปลูกให้กระชับ เพื่อไม่ให้เกิดโพรงหรือช่องว่างระหว่างโคนหน่อกับผิวดินส่วนล่าง นอกจากจะปลูกให้ลึกพอแล้ว หลังจากปลูกถ้าเห็นมีช่องว่างหน้าดินบริเวณใดให้พยายามเกลี่ยเศษซากใบคลุมให้ทั่วด้วย

ข้อแตกต่างของการปลูกแบบไม่ไถพรวนกับการปลูกแบบปกติ

1.  วัสดุปลูก วัสดุปลูกที่เหมาะสมคือ หน่อ ทั้งนี้ในแต่ละช่วงหรือตอนของพื้นที่ปลูกควรจะใช้หน่อที่มีน้ำหนักเท่า ๆ กันให้มากที่สุด  เพื่อต้นจะเจริญเติบโตใกล้เคียงกัน ซึ่งจะสะดวกในการบังคับผล ขนาดของหน่อควรจะประมาณ 350-600 กรัม จะให้ผลในการเจริญเติบโตดีที่สุด  การปลูกด้วยจุกนั้นทำได้แต่ไม่ค่อยจะสะดวก และจะต้องพิถีพิถันมาก ซึ่งในทางปฏิบัติมักทำให้ได้ผลผลิตต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการปลูกแบบปกติ  แต่ทั้งนี้หากมีประสบการณ์เพียงพอก็สามารถทำได้

2.  ช่วงที่เหมาะสมในการปลูก

จากการทดลองปลูกในช่วงเวลาต่าง ๆ กันของปี พบว่าช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือเมื่อเริ่มมีฝนตกลงมาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ไปจนถึงมิถุนายน ทั้งนี้เนื่องจากหลังจากนั้นยังจะได้รับฝนอีกหลายเดือน ทำให้การเจริญไม่ชะงักงัน  อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาที่ฝนตกชุกในเดือนกันยายนและตุลาคม ก็ปรากฎว่าได้ผลดีไม่แพ้กัน ทั้งนี้เข้าใจว่า เนื่องจากการเจริญในระยะแรก ซึ่งมาจากการกระชับของดินกับโคนต้นและการที่มีน้ำอย่างเพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญ

การปลูกในหน้าแล้งมีอุปสรรคในเรื่องการขุดหรือเจาะดิน  และหากว่าทำได้หลังจากปลูกควรจะต้องมีน้ำรดที่โคนให้โชก  ทั้งนี้จากการสังเกตแม้จะทำได้  แต่การเจริญเติบโตจะค่อนข้างช้ากว่าการปลูกแบบปกติ นอกเสียจากว่าจะมีการให้น้ำอย่างอย่างเพียงพอ ต่อเนื่องกันหลายครั้งในระยะแรกปลูก

3.  การเจริญเติบโต

ต้นที่ปลูกจากการไม่ไถพรวน มีการเจริญเติบโตระยะแรกช้าไม่ค่อยเป็นที่ประทับใจแต่จะโตทัน หลังจาก 7-8 เดือนไปแล้ว และผลผลิตจะไม่ต่างไปจากการปลูกด้วยวิธีปกติ ทั้งนี้หากได้เลือกจังหวะดีและมีการเอาใจใส่ดีตั้งแต่แรก

4.  การกำจัดวัชพืช ในแปลงที่ปลูกแบบไม่ไถพรวนมีปัญหาวัชพืชน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการดูแลเก็บเศษซากใบคลุมพื้นที่ให้ทั่ว ๆ ไม่ปล่อยให้เกิดช่องว่างให้วัชพืชงอกได้ในกรณีที่มีวัชพืชขึ้นมา ไม่ควรใช้จอบเข้าไปถาก  เพราะจะยิ่งทำให้มีวัชพืชงอกในบริเวณดังกล่าวมากขึ้น การกำจัดให้เริ่มจากการถอนด้วยมือเมื่อมีปริมาณน้อย  เพราะมักจะขึ้นกระจัดกระจาย การถอนควรทำอย่างปราณีตในขณะที่ดินชื้น  โดยจับบริเวณโคน ๆ ต้นชิดดินแล้วดึงขึ้นมา แต่ถ้ามีมากอาจใช้สารกำจัดวัชพืชอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

ก.  โปรมมาซิล  240  กรัม สารออกฤทธิ์ผสมแอมเมทริน 400 กรัม สารออกฤทธิ์ต่อไร่ผสมสารจับใบตามที่แนะนำ ปกติไร่หนึ่งจะใช้น้ำประมาณ 320 ถึง 640 ลิตร

ข.  แอมเมทรินเดี่ยว 560-640 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่  ผสมสารจับใบตามแนะนำ ปริมาณน้ำเท่ากัน

ในการพ่น  อาจพ่นเฉพาะต้นวัชพืชเป็นต้น ๆ หรือเป็นหย่อม (spot treatment) ใช้หัวพ่นที่ปรับได้ค่อนข้างเป็นเส้นตรง หรือถ้ามีมากก็ใช้พ่นทั้งผืน ซึ่งอาจจะทำให้ต้นสับปะรดทั้งแปลงงันไปประมาณ 3 สัปดาห์ การพ่นควรพ่นขณะต้นวัชพืชยังเล็ก ๆ จะดีที่สุด  โดยทั่วไปแล้ววัชพืชจะเริ่มปรากฎหลังจากปลูกไปแล้วประมาณ 5-6 เดือน หรือมากกว่า ในช่วงนี้ถ้ามีการพ่นกำจัดเพียงครั้งเดียวก็จะเพียงพอควบคุมไปได้จนกระทั่งเก็บผล

5.  การหักหน่อจากต้นเก่า

หน่อหรือต้นที่ไม่ต้องการจะปรากฎมีขึ้นในแปลงปลูกที่ไม่ไถพรวน  ทั้งนี้เนื่องจากต้นเก่าซึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสับปะรดรุ่นตอส่วนมากไม่ตายสนิทจากการใช้สารเคมี จึงมักจะงอกหน่อขึ้นมา ก็ต้องคอยหักออกให้หมดขณะยังเล็กเมื่อประมาณ 4-6 เดือน หลังจากปลูกโดยเฉพาะหน่อที่สมบูรณ์ ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก

6.  การใช้ปุ๋ย การปลูกแบบไม่ไถพรวน  ไม่สามารถใช้ปุ๋ยรองพื้นได้ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมีที่ใส่ไว้ในดินข้าง ๆ ต้นก่อนที่จะปลูก ก็คงมีเฉพาะปุ๋ยเร่งใส่ที่กาบใบล่าง  โดยใช้สูตรปกติคือ 14-5-20+2 MgO ปริมาณ 40 กรัมต่อต้น  แบ่งใส่ 3 ครั้ง ครั้งแรก 10 กรัม ครั้งที่ 2 และ 3 ครั้งละ 15 กรัม ห่างกันประมาณ 2-3 เดือน แล้วแต่ฤดูกาล แต่ควรให้พืชนำไปใช้ได้  นอกจากนี้ก็มีปุ๋ยเร่งฉีดทางใบ ซึ่งใช้สูตร 23-0-25 คือใช้ยูเรียผสมโพแทสเซียมซัลเฟต  อัตรา 1:1 ผสมน้ำให้เข้มข้น 5℅ ฉีดต้นสับปะรดครั้งละ 75 ซีซี. ฉีด 3 ครั้ง คือก่อนบังคับผล 2 ครั้ง (เมื่อ 30 วันและ 5 วัน) และหลังจากบังคับผลอีก 1 ครั้ง (เมื่อ 20 วัน)

ข้อดีและข้อเสียของการปลูกสับปะรดแบบไม่ไถพรวน

ข้อดี

1.  ตัดขั้นตอนการไถพรวนทั้งหมด

2.  สามารถทำการปลูกได้เร็วภายใน 1 เดือน หลังจากพ่นสารเคมี

3.  ไม่ต้องใช้ปุ๋ยรองพื้น

4.  สามารถทำได้ตลอดฤดูฝน

5.  ลดปัญหาวัชพืช การพ่นวัชพืชเพียงครั้งเดียวก็นับว่าเพียงพอ

6.  การปลูกในพื้นที่ลาดชัน จะช่วยลดการพังทะลายของดิน โดยเฉพาะเมื่อมีฝนตกมากขณะที่ดินยังไม่จับตัว

ข้อเสีย

1.  จะต้องเสียค่าสารเคมีทำลายต้นสับปะรดเดิม

2.  จะต้องเสียค่าตัดต้น หลังจากใช้สารเคมี

3.  จะต้องเสียค่าแรงในการปลูกเพิ่มขึ้นประมาณ 30℅ เนื่องจากปลูกได้ช้ากว่า

4.  ไม่เหมาะที่จะปลูกในฤดูแล้ง (นอกเสียจากจะมีความสะดวกในเรื่องการขุดหลุมปลูกและการให้น้ำเพียงพอในระยะแรก)

5.  มักมีโอกาสเกิดต้นขนาดไม่เท่ากันได้มาก  โดยเฉพาะถ้าไม่พิถีพิถันตั้งแต่แรกปลูก  ทั้งนี้มีสาเหตุจากการเลือกขนาดของหน่อไม่เท่ากันมาปลูก หรืออาจเนื่องจากปลูกแล้ว โคนต้นไม่กระชับกับดินดีพอ

6.  ไม่เหมาะสมที่จะปลูกด้วยจุกซึ่งแม้จะทำได้แต่ก็ค่อนข้างยุ่งยาก นอกจากจะมีประสบการณ์พอ

7.  การที่ปลูกด้วยหน่อ  ซึ่งไม่ว่าจะด้วยวิธีใดมักจะมีปัญหาการออกดอกตามธรรมชาติก่อนการบังคับผล

8.  ปัญหาแมลง-โรคบางชนิดเป็นเรื่องที่จะต้องเอาใจใส่ให้ดี แต่ในสภาพของการทดลองเท่าที่ทำยังไม่ปรากฎเด่นชัด