การปลูกสับปะรด


ANANASSA COMOSUS
พันธุ์สับปะรด
พันธุ์ที่ปลูกกันแพร่หลายในขณะนี้มี 3 พันธุ์ คือ
1. พันธุ์พื้นเมือง เช่น พันธุ์อินทรชิต สับปะรดแดง สับปะรดเหลือง ใบมีสีต่างๆ กัน แข็งและมีหนามทุกพันธุ์ ผลเล็กหนักประมาณ 1-1.5 กก. รูปร่างกลมป้อมหรือบางทียาว เนื้อสีเหลือง หรือเหลืองจัด ฉ่ำดี ไส้กลางแข็งเหนียว มีหน่อตะเกียง และจุกตะเกียงมาก เป็นพันธุ์ทนทาน
2. พันธุ์สิงคโปร์ (Queen) ลักษณะใบแข็ง หนามคม เล็กกว่าพันธุ์พื้นเมือง น้ำหนักราว 1 กก. ตาลึกเนื้อฟ่าม รสหวานอมเปรี้ยว เนื้อสีเหลืองจัด กรอบไส้อ่อนรับประทานได้ มีหน่อมาก ไม่ค่อยมีหน่อตะเกียงและจุกตะเกียง
3. พันธุ์กัลกัตตาหรือปัตตาเวีย (Smooth Cayenne) ใบสีเขียวจัดไม่มีหนาม หรือมีหนามเล็กน้อยที่ปลายใบ ผลใหญ่ น้ำหนักประมาณ 2-5 กก. เมื่อสุกสีของผลมีสีเหลืองอมแอง หรือมีสีเขียวคล้ำ ตาผลตื้น เนื้อสีเหลืองอ่อน หวานฉ่ำ มีน้ำมาก ไส้กลางไม่เหนียว เป็นที่นิยมปลูกสำหรับป้อนโรงงานสับปะรดกระป๋อง
อากาศ
สับปะรดชอบอากาศค่อนข้างร้อนและชุ่มชื้นสลับกันไปหรืออยู่ในระหว่าง 60-90 องศาฟาเรนไฮท์ มีฝนตกอยู่ระหว่าง 760-2,500 มิลลิเมตร หรือ 30-100 นิ้ว แต่ในระยะเวลาที่สับปะรดแก่ ถ้ามีฝนตกชุกในระยะนี้อาจทำให้ผลเน่าได้
ดิน
สับปะรดอาจปลูกได้ในที่ทุกแห่ง และไม่ต้องการดินดีนัก สับปะรดเจริญงอกงามดีในดินที่ค่อนข้างเป็นกรดระหว่าง pH 3.5-5.5 ดินร่วนซุยหรือดินร่วนปนทราย จะปลูกสับปะรดได้ดีกว่าดินเหนียว ทางระบายน้ำเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการปลูกสับปะรด ถ้าดินเละปิดทางเดินของอากาศในดินหมดแล้ว การปลูกสับปะรดมักจะไม่ค่อยเป็นผลดี สำหรับประเทศไทย สับปะรดปลูกได้ในดินเกือบทุกแห่ง ในที่ราบภาคกลางซึ่งเป็นดินเหนียวก็สามารถปลูกได้ แต่ควรยกร่องเพื่อป้องกันน้ำท่วม การปลูกสับปะรดโดยทั่วๆ ไปแล้ว มักจะปลูกในที่ดินร่วนปนทราย เช่นในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และลำปาง เป็นต้น
ส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์
นิยมใช้หน่อหรือตะเกียงปลูก สำหรับจุกไม่ค่อยนิยมใช้กัน เพราะจะให้ผลช้ำ การปลูกโดยใช้หน่อหรือตะเกียงจะให้ผลในราว 16-18 เดือน แต่ถ้าใช้จุกปลูกกว่าจะให้ผลต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีหรือกว่านั้น ในที่บางแห่งหน่อหรือตะเกียงจะใช้ปลูกมีน้อย และต้องการขยายพันธุ์ออกไปมากๆ
อาจใช้ลำต้นมาตัดเป็นท่อน ๆ ให้ท่อนหนึ่งๆ มี 2-3 ตา เอาไปปลูกก็ได้ มีวิธีดังนี้
วิธีขยายพันธุ์โดยลำต้น
1. ตัดต้นสับปะรดที่ออกผลแล้ว มาลอกเอาใบออกให้หมดจนตลอดลำต้น เมื่อเสร็จแล้วใช้มีดคมๆ ตัดลำต้นตามขวางเป็นแว่นๆ แว่นหนึ่งหนาประมาณ 2 ซม. ต้นหนึ่งจะตัดได้ตั้ง 10-20 แว่น แล้วแต่ขนาดของลำต้น เมื่อตัดแล้วก็เอาแว่นเหล่านี้ไปแช่น้ำยาด่างทับทิมอย่างแก่ ประมาณ 15 นาที เพื่อรักษาแผลและช่วยให้ตาแตกเร็ว หลังจากนั้นก็นำไปชำในแปลงที่เตรียมไว้ การชำในแปลงระยะให้ห่างกันประมาณ 10×10 ซม. และใช้ดินกลบแต่บางๆ พอให้มิ อนึ่ง เวลาชำจะต้องระวังตาของแต่ละแว่นอยู่ในสภาพเดิม คืออย่าชำกลับเอาตาคว่ำลง มิฉะนั้นหน่อจะโค้งและไม่ค่อยโต แปลงชำแปลงหนึ่งกว้าง 1 เมตร ชำได้ประมาณ 2,500 แว่น ในระยะแรกต้องทำเพิงป้องกันแดดไว้ด้วย เมื่อชำเสร็จแล้วต้องคอยระวังมิให้หญ้าขึ้นมารบกวน และต้องหมั่นรดน้ำให้ดินชุ่มอยู่เสมอ หลังจากชำแล้วประมาณ 1 เดือนตาก็เริ่มออกจากแว่น บางแว่นอาจใช้ถึง 3 หน่อ แต่วิธีนี้อาจจะเกิดราขึ้นได้ ทำให้เน่าเสียหาย ต้องคอยระวังอยู่เสมอ
2. เมื่อเอาลำต้นสับปะรดมาลอกเอาใบออกหมดแล้ว แทนที่จะตัดลำต้นออกเป็นแว่นๆ อย่างวิธีที่หนึ่ง กลับเอาลำต้นทั้งต้นนั้นเรียงลงในหลุม แล้วใช้หญ้าหรือฟางคลุม รดน้ำให้ชุ่ม ปล่อยไว้ประมาณ 1 เดือน จะมีหน่องอกขึ้นมาพอหน่อเหล่านี้มีขนาดโตเท่าหัวแม่มือ ก็ตัดเอาไปชำในแปลงเช่นเดียวกับหน่อสับปะรดธรรมดา เมื่อตัดเอาหน่อแล้วก็นำเอาลำต้นกลับไปชำไว้อย่างเดิมอีก
สำหรับการขยายพันธุ์แบบใช้ลำต้นนี้ ส่วนมากไม่นิยมทำกัน เพราะต้องเสียเวลาเตรียมงานและสถานที่ ทั้งยังต้องนำไปปักชำก่อนที่จะนำไปปลูกในไร่ ซึ่งต้องทำให้เสียเวลามาก และเป็นภาระยุ่งยาก ส่วนมากนิยมปลูกกันโดยใช้หน่อหรือตะเกียง
การเลือกสับปะรดไว้ทำพันธุ์
สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย เป็นพันธุ์ที่มีการปลูกกันมากที่สุด โดยทั่วๆ ไปแล้วลักษณะที่ดีของสับปะรดพันธุ์นี้ จะต้องมีผลยาวเป็นรูปทรงกระบอก มีไหล่ของผลกว้าง ส่วนตาของผลจะต้องใหญ่และแบน ผลที่เกิดขึ้นจะต้องตัดยาวบนก้านผลที่สั้นๆ ต้นจะต้องเตี้ย เพราะถ้าสูงเกินไปมักจะทำให้ต้นล้มง่ายเมื่อติดผล ลักษณะโดยละเอียดของสับปะรดที่จะใช้ทำพันธุ์ปลูกมีดังนี้
ก. ลักษณะต้น
1. คัดเลือกต้นที่เจริญเติบโตดี แข็งแรง สมบูรณ์
2. ขอบใบทุกใบต้องเรียบ หรือมีหนามบ้างเล็กน้อย เฉพาะส่วนปลายของใบเท่านั้น
3. จะต้องเป็นต้นที่ไม่มีโรคหรือแมลง
4. แต่ละต้นจะต้องมีหน่อตั้ง 1-3 หน่อ แต่ละหน่อควรมีความยาวประมาณ 20 ซม.
5. แต่ละต้นจะต้องมีตะเกียงไม่น้อยกว่า 5 อันและกระจายอยู่ตามบริเวณก้านของผล
ข. ลักษณะของผล
1. ผลจะต้องมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก
2. ขนาดของผลขึ้นอยู่กับความต้องการของโรงงานสับปะรดกระป๋องและตลาด
3. เนื้อจะต้องมีสีเหลือง
4. เนื้อจะต้องมีความเหนียวแน่น
5. จะต้องไม่มีเมล็ดติดอยู่กับเนื้อของสับปะรด
6. ก้านของผลต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 30 ซม.
วิธีการปลูก
นิยมทำกันอยู่ 2 วิธี คือ
1. การปลูกแบบแถวเดียว ใช้ระยะการปลูกระหว่างต้น 40 ซม. ระหว่างแถว 100-125 ซม. ในเนื้อที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 2,500-3,500 ต้น การปลูกแบบนี้เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับปลูกเพื่อจำหน่ายผลสด เพราะได้ผลใหญ่ ราคาดี ให้หน่อมาก และไว้หน่อให้ออกผลสืบแทนต้นแม่ได้หลายรุ่น แต่มีข้อเสียคือให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เปลืองเนื้อที่ แรงงานและค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืช การทรงตัวของลำต้นไม่สู้ดี
2. การปลูกแบบแถวคู่ ใช้ระยะปลูกระหว่างดินประมาณ 30 ซม. ระหว่างแถวประมาณ 50 ซม. กลับฟันปลาระยะระหว่างแถวของคู่ 1 เมตร ในหนึ่งไร่จะปลูกได้ประมาณ 6,500-8,000 ต้น บางแห่งอาจถึง 10,000 ต้น ทั้งนี้ แล้วแต่ความต้องการของโรงงานว่าจะต้องการผลขนาดไหน การปลูกแบบนี้เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับปลูกเพื่อจำหน่ายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม เพราะให้ผลที่มีขนาดเล็กตามความต้องการของโรงงาน และให้ผลผลิตต่อไร่สูง เสียค่าใช้จ่าย แรงงานและเวลาในการกำจัดวัชพืชน้อยกว่าการปลูกแบบแถวเดียว การทรงตัวของลำต้นดี เพราะต้นสับปะรดจะเจริญเติบโตเบียดเสียดกันไว้ไม่ให้ล้ม
สับปะรดควรจะปลูกใหม่ทุกๆ 3 ปี และไม่ควรจะปลูกซ้ำที่เดิม ควรจะปลูกสลับกับพืชชนิดอื่นบ้าง เช่นพืชตระกูลถั่วเป็นต้น การปลูกซ้ำที่เดิมอาจทำให้เกิดโรคระบาดในไร่สับปะรดได้ง่าย และการปลูกควรจะเริ่มปลูกตอนต้นฤดูฝน เพื่อจะได้รับความชุ่มชื้นเพียงพอ
การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยสับปะรดนั้น ไม่อาจจะระบุให้แน่ชัดลงไปได้ว่า จะต้องใส่เท่าไรจึงจะเป็นการเหมาะสมและให้ผลดี เพราะสภาพของดินแต่ละแห่งแตกต่างกัน ธาตุในดินก็มีอาหารมากน้อยแตกต่างกันไป ดังนั้นจำนวนปุ๋ยที่จะใส่จึงแตกต่างกันไปด้วย โดยทั่วไปการใส่ปุ๋ยอาจแบ่งออกไปได้ราว 2-3 ครั้ง นับแต่ปลูกจนเก็บผล โดยมากมักใช้เป็นปุ๋ยแต่งหน้า การใส่ปุ๋ยครั้งแรกควรใส่เมื่อสับปะรดอายุได้ 3 เดือน ต่อจากนั้นอีก 2-3 เดือนจึงควรใส่อีกครั้ง เว้นระยะเช่นนี้เรื่อยไป หรือจะใส่ปีละ 2 ครั้งก็ได้ ตามความต้องการ การใส่ปุ๋ยไม่ควรใส่เมื่อใกล้เวลาจะออกผล เพราะจะไม่เกิดผลอะไรมากนัก
ปุ๋ยที่สำคัญสำหรับสับปะรดคือ ธาตุไนโตรเจน และโปแตชเซี่ยม ปุ๋ยไนโตรเจนโดยมากมักใช้แอมโมเนียซัลเฟตมากกว่าจะใช้โซเดี่ยมไนเตรท เพราะโซเดี่ยมไนเตรทเมื่อละลายน้ำแล้วน้ำจะเหลือด่างทิ้งไว้ในดิน ซึ่งสับปะรดชอบดินค่อนข้างเป็นกรดดังได้กล่าวมาแล้ว ธาตุโปแตชเซี่ยม สับปะรดต้องการมาก ดังนั้นปุ๋ยสับปะรดที่ใช้กันทั่วไปมักจะมีไนโตรเจนและโปแตชเซี่ยมสูง สูตรที่นิยมใช้กันทั่วๆ ไปมักจะเป็น 10-4-15 หรือ 12-2-10 หรือ 12-2-8 การใช้ปุ๋ยส่วนมากใช้หยอดรอบๆ โคนต้น ใช้ปุ๋ยประมาณ 35 กก.ต่อสับปะรด 1,000 ต้นต่อครั้ง ซึ่งอาจจะใช้ปีละ 2 ครั้งก็พอ
ธาตุอื่นๆ นอกจากนี้ที่จำเป็นสำหรับสับปะรดก็มีเหล็ก ทองแดง สังกะสี โบรอน และแมงกานีส ซึ่งสับปะรดต้องการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็เป็นธาตุที่จำเป็นต่อการปลูกสับปะรด ซึ่งจะขาดไม่ได้
การบังคับให้สับปะรดออกผล
สับปะรดจะออกผลทยอยกันตลอดปี แต่ในปีหนึ่งๆ จะได้ผลมากอยู่สองครั้ง คือประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม และประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ในไร่หนึ่งๆ จะออกผลไม่ค่อยสม่ำเสมอ บางฤดูจะมีสับปะรดมากทำให้ราคาถูก การใช้สารเคมีบังคับให้สับปะรดออกก่อนกำหนดจึงเป็นวิธีที่ชาวไร่นิยมทำกันอยู่ในขณะนี้ โดยใช้แคลเซี่ยมคาร์ไบด์ หรือชาวไร่เรียกว่า ถ่านแก๊ส หยอดลงที่ยอดแบ่งวิธีการออกได้เป็น 3 แบบ คือ
1. ใช้แคลเซี่ยมคาร์ไบด์ 1 กิโลกรัมผสมน้ำ 1-2 ปี๊บ แล้วใส่ส่วนผสมนี้ 1 กระป๋องนมข้น ต่อสับปะรด 3-4 ต้น ในไร่หนึ่งจะใช้สารนี้ประมาณ 4-5 กิโลกรัม วิธีนี้ทำได้รวดเร็ว เหมาะในการปฏิบติในฤดูแล้ง แต่เปลืองสารเคมีมาก
2. โดยวิธีบดก้อนแคลเซียมคาร์ไบด์ให้เป็นผง นำมาใส่ที่ยอดสับปะรดแล้วใส่น้ำตามลงไป ใช้สารเคมีประมาณต้นละ 0.5-1.0 กรัม ไร่หนึ่งจะใช้ประมาณ 1-2 กิโลกรัม วิธีนี้สิ้นเปลืองน้อยกว่าวิธีแรก แต่เสียเวลาและเปลืองแรงงาน
3. โดยใช้ก้อนแคลเซี่ยมคาร์ไบด์ใส่ลงในกรวย แล้วเทน้ำลงไปให้ผ่านก้อนแคลเซี่ยมคาร์ไบด์ในกรวย ให้น้ำไหลลงไปยังยอดสับปะรด แต่วิธีนี้ไม่ค่อยนิยมเช่น 2 วิธีแรก
การหยอดสารแคลเซี่ยมคาไบด์นั้น ต้องเลือกต้นที่ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ควรมีอายุประมาณ 8-10 เดือน หลังจากใส่สารเคมีนี้แล้วประมาณ 40-45 วัน จะสังเกตเห็นดอกสีแดงโผล่ขึ้นมาจากยอด จากนั้นอีก 3-5 เดือน ผลจะแก่จัดก็เก็บได้
นอกจากสารเคมีดังกล่าวแล้ว ยังมีสารเคมีชนิดอื่นที่เร่งให้สับปะรดออกดอกก่อนกำหนด คือ อีเทรล (Ethral) โดยใช้อีเทรลซึ่งมีความเข้มข้น 1% โดยปริมาตร ใช้ฉีดที่ยอดสับปะรดต้นละ 50 c.c. เมื่อสับปะรดอายุได้ 10 เดือน จะติดผลประมาณ 97%
โรคและแมลงศัตรูของสับปะรด
สับปะรดเป็นพืชที่ไม่ค่อยจะมีศัตรูและโรครบกวนเหมือนพืชอื่นๆ เท่าที่พบก็มีแต่โรคโคนเน่า อันเนื่องมาจากพื้นที่แฉะเกินไป บริเวณที่ปลูกไม่มีทางระบายน้ำออกได้ หรือในแหล่งที่ปลูกสับปะรดนานๆ ศัตรูอย่างอื่นก็มี นก หนู ในที่บางแห่งมีไส้เดือนฝอย (Nematode) เป็นศัตรูที่สำคัญจึงควรระวังไว้ด้วย
โรคที่พบเสมอคือโรคไส้เน่า (Heart Rot) เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง โรคนี้พบมากในระยะที่ฝนตกชุก และในไร่ที่มีน้ำขังแฉะ อาการเริ่มเป็นใบจะเหลือง ปลายใบไหม้เป็นสีน้ำตาล เมื่อถอนใบกลางๆ ขึ้นมา ใบจะหลุดติดมือออกมาโดยง่าย โคนใบที่ดึงขึ้นมาจะเป็นรอยสีน้ำตาลไหม้ และมีรอยช้ำ เมื่อเป็นมากๆ ทำให้ลำต้นมีแผล โคนเน่า ต้นเหี่ยวตาย การป้องกันกำจัดโรคนี้ควรจะถอนต้นที่เป็นโรคเผาไฟทำลายเสีย ควรทำทางระบายน้ำ อย่าให้มีน้ำขังแฉะในที่ๆ เคยเป็นโรคนี้มาแล้ว
แมลง แมลงศัตรูของสับปะรดที่สำคัญคือ เพลี้ยแป้ง ซึ่งทำให้เกิดอาการใบเหี่ยว แมลงชนิดนี้ส่วนมากจะพบเกาะอยู่ตามกาบทั้งบนและใต้ใบ จะเห็นคล้ายเป็นแป้งสีขาวๆ ติดอยู่ กินอาหารโดยดูดน้ำเลี้ยงจากใบสับปะรด และในขณะเดียวกันก็ถ่ายสารประกอบที่เป็นพิษชนิดหนึ่งเข้าไปในใบ ทำให้ใบสับปะรดเป็นจุดสีเขียวๆ เหลืองๆ และมีสีน้ำตาลปนแดง ถ้าเป็นมากๆ ทำให้ปลายใบไหม้ ใบเหี่ยวต้นแห้งตายไป บางทีอาจพบเพลี้ยชนิดนี้เกาะดูดกินอยู่ที่โคนต้นใต้ดินและที่รากทำให้ใบเหลืองหมดทั้งต้น ต้นไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด
การป้องกันกำจัดแมลงชนิดนี้ ควรใช้ยามาลาไธออน ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงที่ใช้กำจัดแมลงชนิดนี้ได้ผลดี ใช้ตามอัตราส่วนที่แจ้งไว้ในฉลาก การฉีดเว้นระยะประมาณ 10-15 วัน ต่อครั้ง สัก 2-3 ครั้ง จนกว่าแมลงจะเบาบางลง พันธุ์ที่จะนำมาปลูกใหม่ ก็ควรนำมาจุ่มในน้ำยานี้ เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่อาจติดยา และป้องกันมิให้ไประบาดในไร่
การกำจัดวัชพืช
สับปะรดเป็นพืชที่มีรากตื้น วัชพืชจะแย่งน้ำและอาหารจากสับปะรด ทำให้ใบสับปะรดมีสีแดง ต้นแคระแกร็นไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ให้ผลเล็ก ในปีหนึ่งๆ ควรกำจัดวัชพืชประมาณ 5-10 ครั้ง สำหรับในฤดูฝนต้องทำบ่อยกว่าในฤดูแล้ง ส่วนมากชาวไร่ใช้จอบถาก ที่ใช้เครื่องมือตัดหญ้ามีน้อย เพราะการกำจัดวัชพืชวิธีนี้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแรงงานมาก ขณะถากหญ้าจอบอาจไปถากเอารากตามผิวดินขาดไปด้วยทำให้ต้นเฉา และดินอาจกระเด็นไปถูกเอายอดสับปะรด ทำให้ต้นเน่าตายได้
การกำจัดวัชพืชในไร่สับปะรด โดยใช้สารเคมีทดลองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ผลพอสรุปได้ดังนี้
ใช้ยากำจัดวัชพืช ซิมาซีน (Simazine) แอตราซิน (Atrazine) โมนูรอน (Monuron) และไดยูรอน (Diuron) พ่นบนดินในอัตรา (ตัวยาสุทธิ) 0.36 กก. ต่อไร่ กำจัดวัชพืชได้ตลอด 2 เดือน ถ้าในอัตรา 0.72 กก.ต่อไร่ จะกำจัดได้นาน 3 เดือน ถ้าพ่นในฤดูแล้งจะให้ผลนานกว่านี้