การปลูกแตงโม


CITRULLUS VULGARIS
แตงโมเป็นพืชเมืองร้อน ผลมีน้ำมากเป็นพืชที่จัดอยู่ในจำพวกผัก แต่ใช้บริโภคเป็นผลไม้ชั้นดีชนิดหนึ่ง เนื้อมีรสหวานร่วนเป็นทราย การปลูกง่าย โดยเฉพาะในเขตร้อน ต้นแตงโมชอบแสงแดดจัดและมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่ชอบดินที่แฉะหรือแห้งจนเกินไปนัก เพราะจะทำให้เถาแคระแกร็น และจะมีเพลี้ยไปทำลายได้จึงจำเป็นจะต้องใช้ฟางข้าวคลุมหน้าดินให้หนาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นที่ผิวดินไว้ตลอดระยะเวลาที่ปลูกนั้น
แตงโมเป็นพืชที่ทนต่อดินที่เป็นกรดค่อนข้างจัด ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน 5.0-7.5 ก็ยังสามารถปลูกแตงโมได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นกรดเป็นด่างของดินที่แตงโมชอบประมาณ 6.3
ฤดูปลูก
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีช่วงฤดูฝนยาวนานถึงปีละ 6 เดือน โดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคมสำหรับภาคใต้นั้น มีฝนตกชุกถึงปีละ 8 เดือน คือเริ่มตั้งแต่เดือน เมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งทั้งนี้ทำให้แตงโมขาดตลาด และมีราคาสูงในตอนกลางและปลายฤดูฝน ในช่วงเวลาดังกล่าวจะปลูกแตงโมได้ยากและลำบาก เพราะต้นแตงโมไม่ชอบฝนชุก ถ้าขืนปลูกไปจะทำให้ตายด้วยโรคเถาเหี่ยวเป็นส่วนใหญ่ และเกิคโรคทางใบมากและผลแตงโมจะเน่าง่าย อีกทั้งรสชาดจะไม่หวานจัดเหมือนแตงโมที่ปลูกในฤดูแล้ง หรือในฤดูหนาว ฉะนั้นจึงควรเริ่มปลูกแตงโมตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมีนาคม และเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้ายในเดือนมิถุนายนซึ่งยังเป็นต้นฤดูฝนอยู่ และมีผู้ต้องการบริโภคแตงโมกันมาก ส่วนในฤดูฝนมักไม่ใคร่มีใครอยากทานแตงโมกันนัก เพราะมีผลไม้อื่นๆเต็มตลาดอยู่แล้ว เช่นมะม่วง เงาะ ทุเรียน เป็นต้น
พันธุ์แตงโม
แตงโมในบ้านเราที่นิยมปลูกกันมี 2 พันธุ์คือ พันธุ์เบา ที่รู้จักกันโดยทั่วๆไป คือ พันธุ์ชูการ์เบบี้ ผลกลมสีเขียวคล้ำ อายุเก็บเกี่ยว 65 วัน นับจากวันงอก อีกพันธุ์หนึ่งได้แก่พันธุ์หนัก คือพันธุ์ชาร์ลสตันเกร ผลสีเขียวอ่อน มีลายที่ผิวผล ผลกลมขนาดใหญ่ อายุเก็บเกี่ยว 85 วัน นับจากวันงอก
ดินและการเตรียมดิน
แตงโมเป็นพืชที่หยั่งรากลึกลงไปมากกว่า 120 ซม. และต้องการดินที่อุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นมากพอ ฉะนั้นถ้ามีการไถพรวน หรือขุดย่อยดิน ให้มีหน้าดินร่วนโปร่งและลึกก็จะช่วยป้องกันการขาดน้ำได้เป็นอย่างดี ในระยะที่ต้นแตงโมกำลังเจริญเติบโต การเตรียมดินให้หน้าดินร่วนโปร่งจะทำให้ดินนั้นอุ้มความชื้นได้มากขึ้น และเป็นทางเปิดให้รากแตงโม แทรกตัวเองลึกลงไปใต้ดิน ซึ่งจะช่วยให้รากหาอาหารและน้ำได้กว้างไกลยิ่งขึ้น และเป็นการช่วยทำให้พืชสามารถใช้น้ำใต้ดินมาเป็นประโยชน์ได้อย่างดีอีกด้วย ถ้าจำเป็นต้องปลูกแตงโมในหน้าฝนควรเลือกปลูกที่มีการระบายน้ำดี คือน้ำไม่ขังแฉะ เป็นดินเบาหรือดินทราย แต่ถ้ามีที่ปลูกเป็นดินหนัก หรือค่อนข้างหนัก ควรปลูกแตงโมในหน้าแล้งและขุดดิน หรือไถดินให้ลึกมากทื่สุดจะเหมาะกว่า
การปลูกและการบำรุงรักษา
การหยอดเมล็ดในเนื้อที่ 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์แตงโม ชูการ์เบบี้ประมาณ 40-50 กรัม เพราะเมล็ดแตงโมพันธุ์นี้ มีขนาดเล็ก สำหรับแตงโมพันธุ์ ชาร์ลสตันเกร หรือแตงโมพันธุ์หนักอื่นๆ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ปลูกไร่ละประมาณ 250- 500 กรัม เพราะมีขนาดใหญ่ แตงโมพันธุ์หนัก เมล็ดหนัก 100 กรัม จะมีปริมาณเมล็ด 800 เมล็ด แตงโมพันธุ์เบาเช่น ชูการ์เบบี้ 100 กรัม จะมีเมล็ดมากถึง 2,600 เมล็ด นิยมหยอดเมล็ดแตงโมเป็นหลุมโดยให้แต่ละหลุมในแถวห่างกัน 60 -90 เซ็นติเมตร ส่วนแถวของแตงนั้น ควรให้ห่างจากกันเท่ากับความยาวของเถาแตงโมหรือประมาณ 2-3 เมตร ในพื้นที่ดินทรายทุกหลุมให้มีความกว้างยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 15 เซ็นติเมตรส่วนดินเหนียวทุกหลุมลึกประมาณ 10 เซ็นติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกที่ละเอียดคลุกเคล้ากับดินบน ใส่รองก้นหลุมๆ ละ 4-5 ลิตร เตรียมหลุมทิ้งไว้ 1 วันแล้วจึงลงมือปลูก หยอดหลุมละ 5 เมล็ด
เมื่อหยอดเมล็ดแล้วต้องรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อแตงโมขึ้นมา มีใบจริง 2-3 ใบ ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 2-3 ต้น โดยคัดเลือกเอาแต่ต้นที่แข็งแรงไว้ ถ้าปลูกโดยให้แต่ละหลุมห่างกัน 60 เซ็นติเมตร และแถวห่างกัน 2 เมตร ควรเหลือไว้หลุมละ 2 ต้น จะได้จำนวนต้นต่อไร่ประมาณ 2,600 ต้น แต่ถ้าปลูกให้ห่างกัน 90 เซ็นติเมตร และแถวห่างกัน 3 เมตรแล้ว ก็เหลือหลุมละ 3 ต้น ได้รวมแล้วในเนื้อที่ 1 ไร่ จะได้แตงโมประมาณ 1,700 ต้น
การช่วยให้เมล็ดแตงโมงอกง่ายขึ้น
สำหรับผู้ที่หยอดเมล็ดแตงโมในฤดูหนาว มักจะพบว่า แตงโมงอกช้า หรือไม่งอกเลย ทั้งนี้เพราะว่า ถ้าอุณหภูมิในดินปลูกต่ำกว่า 15.5 องศาเซลเซียส เมล็ดแตงโมจะไม่งอก ควรแช่เมล็ดแตงโมในน้ำอุ่น แล้วทิ้งไว้ 1 วัน กับอีก 1 คืน โดยธรรมชาติ ฉะนั้นเพื่อขจัดปัญหาเมล็ดไม่งอกในฤดูหนาวแล้วเอาผ้าเปียกห่อวางไว้ในที่อุ่นๆ ในบ้าน จะช่วยทำให้เมล็ดแตงโมงอกเร็วขึ้น และงอกได้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อรากเริ่มโผล่ออกมาจากเมล็ด ถ้าเอาไปเพาะในถุงหรือในกระทงใบตองได้ รอจนกล้ามีใบจริงแล้ว 2-3 ใบ จึงนำไปปลูกในไร่ หรือหากไม่สะดวกเพราะต้องการประหยัดแรงงาน ก็อาจนำเมล็ดที่งอกนั้นไปปลูกในแปลงไร่ได้เลย โดยหยอดลงในหลุมแบบ เดียวกับหยอดเมล็ดที่ยังไม่งอก แต่ต้องให้น้ำในหลุมที่จะหยอดล่วงหน้าไว้ 1 วัน เพื่อให้ดินในหลุมมีความชื้นพอเหมาะ หยอดเมล็ดที่งอกแล้ว กลบดินทับหน้าไม่เกิน 1 เซ็นติเมตร แล้วรดน้ำต้นแตงโมจะขึ้นมาสม่ำเสมอกันทั้งไร่ ตอนหุ้มเมล็ดควรตรวจดูอย่าให้เมล็ดงอกรากยาวเกินไป จะทำให้รากหักเสียหายได้
ปุ๋ยและการให้ปุ๋ยแตงโม
ปุ๋ยคอก การใส่ปุ๋ยคอกให้แก่แตงโม ก็มีความสำคัญมาก เพราะปุ๋ยคอกช่วยทำให้ดินร่วนโปร่ง ช่วยทำให้ดินมีธาตุอาหารมากขึ้น แล้วยังช่วยทำให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์อยู่ในสภาวะสมดุลย์เป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้นด้วย ควรใส่ปุ๋ยคอกในอัตราไร่ละ 2-4 ต้น (คิดเฉพาะเนื้อที่ปลูก)
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมี ควรใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราส่วน 1:1: 2 ซึ่งได้แก่ปุ๋ย N.P.K. สูตร 10:10:20 เป็นต้น ปุ๋ยสูตรดังกล่าวอาจจะหายาก แต่ปุ๋ยที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป เกษตรกรอาจใช้ปุ๋ยสูตรใกล้เคียงได้ เช่นปุ๋ยสูตร 13:13:21 ใส่ในอัตราไร่ละ 100-150 กิโลกรัม จะตัดสินใจใส่ปุ๋ยมากหรือน้อย จะต้องดูความอุดมสมบูรณ์ของดิน และราคาแตงโมประกอบกัน
จากการศึกษาการใช้ธาตุอาหารจากดินของแตงโมและผลผลิตที่ได้ต่อไร่ พบว่าเนื้อที่ปลูกแตงโม 1 ไร่ แตงโมให้ผลผลิตไร่ละ 8,000 กิโลกรัม หรือ 8 ตัน แตงโมทั้ง 8 ตันนี้ จะใช้ธาตุไนโตรเจนจากต้นไป 19 กิโลกรัม ใช้ธาตุฟอส¬ฟอรัส (p2O5) ไป 11.2 กิโลกรัม และใช้ธาตุโปแตสเซี่ยม (K2O) ไป 30 กิโลกรัม จะเห็นได้ว่าแตงโมใช้ธาตุโปแตสเซี่ยมจากดินไปมากที่สุด รองลงมาคือธาตุไนโตรเจน และใช้น้อยที่สุดคือฟอสฟอรัส ปริมาณแร่ธาตุอาหารที่รากแตงโมดูดซับจากดินไปใช้นั้นมีปริมาณมากกว่าธาตุอาหารในปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตราส่วน 100 กิโลกรัมต่อไร่เสียอีก เราจึงมองเห็นว่าแตงโมนั้น เป็นพืชที่ใช้ธาตุอาหารจากต้นมากที่สุดพืชหนึ่ง ฉะนั้นปุ๋ยที่จะใส่ในสวนแตงโม จึงต้องใส่มากจึงจะปลูกแตงโมได้ผลสำเร็จ
วิธีการใส่ปุ๋ยให้กับต้นแตงโม
ผู้ปลูกแตงโมส่วนมากยังนิยมใส่ปุ๋ยสูตร (N.P.K. ลงบนผิวดิน โดยหว่านหรือวางเป็นกระจุกหน้าดิน แล้วรดน้ำ เพื่อให้ปุ๋ยละลายน้ำลงไปหารากแตงโม การใส่ปุ๋ยวิธีดังกล่าวนี้ เป็นวิธีที่ผิด ซึ่งจะทำให้เปลืองปุ๋ยมาก รากพืชจะได้รับธาตุไนโตรเจนกับโปแตสเซี่ยมจากปุ๋ยสูตรเท่านั้น แต่จะไม่ได้รับธาตุฟอสฟอรัสจากปุ๋ยสูตรนั้นเลย หรือได้รับก็ได้รับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะตามปกติธาตุฟอสฟอรัสจะไม่เคลื่อนย้ายจากผิวหน้าดินลงไปสู่รากแตงโมแต่อย่างใด ซึ่งธาตุฟอสฟอรัสนั้น เป็นธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของแตงโมมากพอสมควรทีเดียว
ฉะนั้นการใส่ปุ๋ยสูตร (N.P.K. จึงควรใส่ไว้ใต้ดินเป็นกลุ่มๆ เช่น รองก้นหลุมก่อนปลูก หรือใส่ไว้ใต้ผิวดิน ห่างจากโคนต้นแตงโมสัก 1 ฟุต ใส่เป็นกลุ่ม แตงโมจะได้รับปุ๋ยอย่างเต็มที่ ดังตารางต่อไปนี้เป็นตารางการใส่ปุ๋ยให้กับต้นแตงโมโดยแยกแม่ปุ๋ยเดี่ยวๆ ไม่ได้ ใช้ปุ๋ยสูตร (N.P.K. โดยใส่ตามความต้องการตามธรรมชาติของมัน
การใส่ปุ๋ยตามตารางที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นการใส่ปุ๋ยให้กับต้นแตงโม ตามระยะที่ต้นแตงโมต้องการใช้ ซึ่งจะพอเหมาะพอดี ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป
การใส่ปุ๋ยเสริมหลังปลูก
ต้องคำนึงอยู่เสมอว่า รากแตงโมส่วนใหญ่เดินตามแนวนอน ขนานกับผิวดินและเถาของมัน ฉะนั้นการใส่ปุ๋ยหลังปลูก ควรใส่ที่ปลายราก และต้องไม่ใส่มากจนปุ๋ยเข้มข้นเกินไปและต้องให้ปุ๋ยอยู่ในรูปที่ค่อยๆ ละลายน้ำ เพื่อให้รากดูดซับเอาไปใช้ได้พอดิบพอดี
เวลาของการใส่ปุ๋ยเพิ่มภายหลังปลูก
การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ใส่แบบโรยรอบต้นด้วยยูเรีย ใส่เมื่อต้นแตงโมมีใบจริงประมาณ 5 ใบ ปุ๋ยยูเรียโรยที่ผิวดินได้
การใส่ปุ๋ยเสริมครั้งที่  2 ใส่ปุ๋ยยูเรียด้านข้างแถวของต้นแตงโม ใส่เมื่อเถาแตงโมทอดยาวประมาณ 1 ฟุต ควรพรวนดินก่อนแล้วจึงใส่ปุ๋ย แล้วปิดคลุมด้วยฟาง
การใส่ปุ๋ยเสริมครั้งที่ 3 ใส่ปุ๋ยยูเรียและโปแตสเซี่ยม คลอไรด์ โดยใส่ด้านข้างแถวของต้นแตงโม ใส่เมื่อเถาแตงโมมีความยาววัดได้ประมาณ 7 ฟุต หรือประมาณ 90 เซ็นติเมตร
การให้น้ำและการดูลักษาแปลง
แม้ว่าต้นแตงโมจะเป็นพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้งของอากาศ แต่ถ้าอากาศแห้งแล้งจนเกินไปก็ทำให้ต้นแตงโมชะงักการเจริญเติบโตได้ ตามธรรมชาติต้นแตงโมต้องการให้ผิวดินชุ่มชื้น แต่ไม่ถึงกับแฉะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ผลแตงโมกำลังเจริญเติบโต เป็นตอนที่ต้นแตงโมต้องการน้ำมาก การให้ความชุ่มชื้นแก่ดินในแปลง ควรให้ทั้งแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าดินแห้งแข็งและจับปึก ซึ่งจะทำให้ดินขาดอากาศอ๊อกซิเจน ถ้าดินขาดอากาศเมื่อใดก็หมายถึงว่า รากแตงโมจะขาดอากาศ แม้ว่าจะขาดน้ำก็ตาม ดินร่วนทรายและดินทราย สามารถไถพรวนให้หน้าดินลึกมากๆ ได้ เพื่อให้สามารถยึดจับความชื้นที่ให้ไว้ได้มากขึ้น ส่วนดินเหนียวนั้น ไม่สามารถไถพรวนให้ลึกเท่าดินทราย หรือดินร่วนทรายได้ เพราะเนื้อดินทั้งเหนียวและแน่น อุ้มน้ำไว้ในตัวได้มากกว่าดินทราย แต่ก็คายออกจากผิวดินได้ไวมาก และดูดซับความชื้นได้ตื้นกว่าดินทราย หรือดินร่วน จึงทำให้ต้องให้น้ำกับต้นแตงโมที่ปลูกในดินเหนียวมากกว่า คือต้องให้น้ำอย่างน้อย 5 วันครั้ง หรือรดน้ำทุกวันๆ ละครั้ง
การคลุมด้วยฟาง
เมื่อเถาแตงโมเจริญเติบโตได้ระยะหนึ่ง เราควรจะปิดคลุมหน้าดินด้วยฟาง การคลุมดินด้วยฟางจะมีผลดังนี้ คือ
1. ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินให้คงอยู่นาน ทำให้รากแตงโมดูดซับ ธาตุอาหารในดินได้ติดต่อกันโดยไม่ขาดตอน
2. ทำให้ต้นแตงโมเป็นโรคทางใบน้อยลง เพราะต้นและเถาไม่ได้สัมผัสกับดิน เพราะเลื้อยอยู่บนฟาง
3. ป้องกันไม่ให้ดินร่วนจัดเกินไป
4. ควบคุมไม่ให้หญ้าขึ้น และเจริญเติบโตมาแข่งกับแตงโม เพราะแตงโมแพ้หญ้ามาก เนื่องจากหญ้าส่วนใหญ่มีใบปรกดิน หญ้าจะบังใบแตงโมไม่ให้ถูกแดดทำให้ใบแตงโมปรุงอาหารไม่ได้เต็มที่ และจะอ่อนแอลงทันทีในที่สุดจะหายไป
การบังเถาแตงโม
ถ้าปล่อยให้เถาแตงโมเลื้อยและแตกแขนงไปตามธรรมชาติของมัน เถาแตกของแต่ละต้นก็จะเลื้อยทับกัน และซ้อนหนาแน่น ทำให้ผลผลิตน้อยลง สืนเนื่องมาจากแมลงช่วยผสมเกสรได้ไม่ทั่วถึง เพราะไม่อาจซอกแซกหาได้หมด ฉะนั้น เมื่อเถาแตงโมเจริญเติบโตไปจนมีความยาว 1-2 ฟุต ควรได้มีการจัดเถาให้เลื้อยไปทางเดียวกัน และคัดเถาให้เหลือไว้ ต้นละ 4 เถา เถาที่เป็นเถาแขนงก็จะแตกแขนงต่อไปได้อีกเรื่อยๆ จึงควรริดแขนงที่ไม่จำเป็นเหล่านั้นออก ให้คงเหลือไว้คนละ 4 เถา ซึ่งเป็นเถาที่สมบูรณ์ไว้ตามเดิม
การช่วยผสมด้วยมือ
แตงโมเป็นพืชพวกผสมข้ามดอก จะติดเป็นผลได้โดยแมลงเป็นตัวช่วยผสมเกสร หรือด้วยลมพัดพาละอองเกสรตัวผู้ไปตกบนเกสรตัวเมีย แต่เป็นไปได้น้อยมาก ตามปกติดอกของแตงโมจะแยกเพศกัน คือมีดอกตัวผู้แยกต่างหากจากดอกตัวเมีย ดอกตัวเมียนั้นสังเกตดูได้ง่าย คือจะมีรังไข่ลักษณะเหมือนผลแตงโมเล็กๆ อยู่ใต้ดอกเสมอ ส่วนดอกตัวผู้นั้นจะ เป็นดอกโดดๆ ได้มีผู้นับจำนวนของดอกตัวผู้และตัวเมียไว้ และพบว่าเมื่อมีดอกตัวผู้เจ็ดดอก ก็จะมีดอกตัวเมียหนึ่งดอกเสมอ การที่มีดอกตัวผู้มากนี้เป็นผลดีตรงที่ว่าจะมีละอองเกสรตัวผู้มากเพียงพอที่แมลงจะนำไปผสมกับดอกตัวเมียให้ติดเป็นผลแตงโมได้ แต่ผู้ปลูกแตงโมมักประสพปัญหาแตงโมไม่ติดผล เนื่องจากไม่มีแมลงช่วยผสมมากทีเดียว เพราะใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นต้นแตงโมมากไปและไม่เลือกเวลาฉีด ทำให้แมลงที่ช่วยผสมเกสร เช่นผึ้งถูกยาฆ่าแมลงตายหมด จึงเกิดปัญหาไม่มีผึ้งช่วยผสมเกสร จึงต้องใช้คนผสมแทน เราสามารถผสมพันธุ์แตงโมได้ตั้งแต่เวลา 6.00 น. ถึง 10.00 น. หลังจาก 10.00 น. ไปแล้ว ดอกตัวเมียจะหุบและไม่ยอมรับ การผสมเกสรอีกต่อไป การผสมด้วยมือทำได้โดยเด็ดดอกตัวผู้ที่บานมาปลิดกลีบดอกสีเหลืองของดอกตัวผู้ออกเสียก่อน จะเหลือแต่อัปเรณู ซึ่งมีละอองเกสรตัวผู้เกาะอยู่ทั่วไป จากนั้น จึงควํ่าดอกตัวผู้ลงบนดอกตัวเมียให้อัปเรณูของดอกตัวผู้แตะสัมผัสกับเกสรตัวเมียทั่วกันทั้งหมด ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการผสม ซึ่งวิธีนี้ชาวบ้านเรียกว่า “การต่อดอก”
การปลิดผลทิ้ง
แตงโมผลแรกที่เกิดจากเถาหลัก ส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำและผลเล็ก ควรปลิดทิ้งตั้งแต่ผลยังเล็กๆ และแตงที่มีผลลักษณะบิดเบี้ยวก็ควรปลิดทิ้งด้วย ขนาดที่ปลิดทิ้งไม่ควรปล่อยให้โตเกินลูกปิงปองหรือผลฝรั่ง แตงที่ปลิดทิ้งนี้สามารถขายเป็นแตงอ่อนได้ และตลาดยังนิยมอีกด้วย ควรเลี้ยงต้นแตงโมไว้เถาละลูกจะดีที่สุด เถาแตงโมเถาหนึ่งๆ อาจติดเป็นผลได้หลายผล ให้เลือกผลที่มีก้านขั้วขนาดใหญ่ และรูปทรงผลได้รูปสม่ำเสมอทั้งผลไว้ ซึ่งจะทำให้ผลแตงโมมีขนาดใหญ่ และมีคุณภาพสูง เพราะขนาดก้านขั้วผลมีความสัมพันธ์กับขนาดของผล ถ้าก้านขั้วผลใหญ่ผลก็จะใหญ่ ถ้าก้านขั้วเล็กผลก็จะเล็ก
เมื่อผสมติดแล้วควรปฏิบัติดังนี้
ดอกตัวเมียของแตงโม ที่ได้รับการผสมเกษรอย่างสมบูรณ์ก็จะเจริญเติบโตอย่างสมํ่าเสมอติดต่อกันไปวันต่อวัน  เมื่อผลแตงโมมีขนาดเท่ากับกะลามะพร้าว ควรเอาฟางรองใต้ผล เพื่อไม่ให้ผิวผลสัมผัสกับดินโดยตรง ควรจะกลับผลแตงโดยให้ด้านที่สัมผัสฟางถูกแสงแดดก่อนเก็บเกี่ยว 10 วัน เพื่อให้ผลแตงมีสีสม่ำเสมอทั่วทั้งผล จะทำให้แตงโมมีรสหวานมากขึ้นอีก
การเก็บผลแตงโม
แตงโมเป็นพืชหนึ่งเมื่อผลแก่แล้วไม่แสดงอาการว่าสุก งอมให้เห็น เหมือนผลมะเขือเทศหรือพริก ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือไม่เหมือนกับผลมะม่วง ซึ่งเปลี่ยนสีแล้วยังมีกลิ่นหอมด้วย ฉะนั้นการดูแตงโมว่าแก่เก็บได้หรือยัง จึงต้องพิถีพิถันกันมากกว่าปกติอีกเล็กน้อย คือ
1. คาดคะเนการแก่ของผลแตงโมด้วยการนับอายุซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ของแตงโม และอุณหภูมิของอากาศ
1.1 แตงโมพันธุ์เบา (ชูการ์เบบี้ ผลกลม สีเขียวคล้ำ) จะแก่เก็บได้ภายหลังดอกบานประมาณ 35-42 วัน
1.2 แตงโมพันธุ์หนัก (ชาร์ลสตันเกร ผลยาว สีเขียวอ่อน มีลาย) จะแก่เก็บได้ภายหลังดอกบานประมาณ 42-45 วัน
2. คาดคะเนการแก่ของผล ด้วยการดูสัญญลักษณ์ที่พบได้ทั่วไปเมื่อแตงโมแก่
2.1 มือเกาะที่อยู่ใกล้กับขั้วผลมากที่สุด เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแห้งเป็นบางส่วนจากปลายมาหาโคน
2.2 การวัดความแก่อ่อนของแตงโมได้จากการดีดฟัง เสียงหรือตบผลเบาๆ ฟังเสียงดูถ้ามีเสียงผสมกันระหว่างเสียงกังวาลและเสียงทึบ แตงจะแก่พอดี (แก่ 75 %) มีเนื้อเป็นทราย ถ้าดีดแล้วเป็นเสียงกังวาลใส แสดงว่าแตงยังอ่อนอยู่ ถ้าดีดแล้วเสียงทึบเหมือนมีลมอยู่ข้างใน แตงจะแก่จัดเกินไป ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไส้ล้ม” ขายไม่ได้
โรคและแมลง
1. โรคเถาเหี่ยว ซึ่งเกิดจากเชื้อรา ฟิวซาเรี่ยม (F. bulve genura var. niveum) แตงโมที่เป็นโรคนี้สีใบจะซีด ใบและเถาจะเหี่ยว ตรงบริเวณโคนเถาที่ใกล้กับผิวดิน จะแตกตามยาว และมีน้ำเมือกซึมออกมา เมื่อแกะแผลดูจะเห็นภายในเป็นสีน้ำตาล
สาเหตุ
-เชื้อรานี้เจริญและทำลายแตงโมได้ดีที่มีอุณหภูมิระหว่าง 24-27 องศาเซลเซียส
-ขณะแตงกำลังเจริญเติบโตมีฝนตกติดกันยาว
-ดินมีธาตุไนโตรเจนอยู่สูง แต่มีฟอสฟอรัส (P2O5) และโปแตสเซี่ยม (K2O) อยู่ต่ำ
-ดินเป็นกรดจัด และมี pH. ต่ำ
การป้องกัน
1.อย่าปลูกแตงโมซ้ำที่เดิม
2. ฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ด โดยจุ่มเมล็ดแช่ไว้ในน้ำยาฟอมาลิน ที่มีความเข้มข้น 1:150 เป็นเวลานานหนึ่งชั่วโมง แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ก่อนนำไปปลูก
3. ใช้ปูนขาวใส่ดินเพื่อแก้ความเป็นกรดของดิน ในอัตราไร่ละ 500 กิโลกรัม
4. ใช้ยาไดเทน ที่มีความเข้มข้น 1:5 ฉีดที่ต้น จะทำให้เชื้อโรคชะงักลง
5.ใช้ยาเทอราคลอผสมน้ำ ในอัตรา 60 ซี.ซี. ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นลงในหลุมแตงโมให้โชกก่อนหยอดเมล็ด 2 วัน
2. โรคเถาเหี่ยว ซึ่งเกิดจากเชื้อราแบคทีเรีย (Erwsin ta tracheiphilus) สัญญลักษณะที่มองเห็นได้ในครั้งแรกคือ ใบในเถาจะเหี่ยวลงทีละใบ การเหี่ยวจะเหี่ยวจากปลายเถามาหาโคนเถาในเถาใดเถาหนึ่ง เมื่อเหี่ยวมาถึงโคนเถาก็จะเหี่ยวพร้อมกันหมดทั้งต้น แต่ใบยังคงเขียวอยู่ และจะตายไปทันที เมื่อเหี่ยวทั้งต้น สาเหตุของการเหี่ยวก็คือ เชื้อแบคทีเรียไปอุดท่อส่งนํ้าเลี้ยงในต้นแตงโม ถ้าเอามีดเฉือนเถาตามยาวดู จะเห็นว่ากลางลำต้นในเถาฉ่ำด้วยน้ำมากกว่าปกติ เชื้อแบคทีเรียนี้อาศัยอยู่ในตัวของแมลงเต่าแดง ต้นแตงโมได้รับเชื้อโรคจากการกัดกินของแมลงเต่าแดงนี้ เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ต้นแตงโมทางแผลที่แมลงเต่ากัดกิน ก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วก็จะกระจายตัวเข้าสู่ท่อน้ำ และท่ออาหารของแตงโม เราอาจป้องกันและรักษาได้โดย ฉีดยาเซริน 85 ป้องกันแมลงเต่า และฉีดยาอะทริมัยซิน (ยาปฏิชีวนะพวก เธอราไมซิน และสเตรปโตมัยซิน) ทุกสัปดาห์ใช้อัตราส่วนผสมที่แจ้งไว้ในซองบรรจุยาที่จำหน่าย เมื่อพบว่าต้นแตงโมบางส่วนเริ่มเป็นโรคนี้ ยานี้จะช่วยรักษาและป้องกันได้ แต่มีข้อเสียคือ เสื่อมคุณภาพเร็ว จึงต้องซื้อยาใหม่เท่านั้น หรือยาอะทริมัยซินเก่าเกิน 1 ปีขึ้นไป จะฉีดไม่ได้ผล
3. โรคราน้ำค้างของแตงโมเกิดจากเชื้อรา (pseudo- peronosporacubensis)
สัญญลักษณ์ที่มองเห็นได้คือ เกิดจากสีเหลืองบนหลังใบ และขยายตัวใหญ่ขึ้น และจำนวนจุดสีเหลืองเพิ่มปริมาณมากขึ้นและใต้ใบตรงตำแหน่งเดียวกันจะมีกลุ่มของเชื้อราสีม่วงอมเทาเกาะเป็นกลุ่มอยู่ เชื้อโรคนี้เจริญได้อย่างรวดเร็วเมื่ออากาศอุ่นและชุ่มชื้นเมื่อใด ใบแก่ตายเชื้อก็จะทำลายใบอ่อนต่อไป เมื่อใบแห้งไปหมดแล้ว ผลที่เกิดขึ้นมาก็คือ แตงติด ผลต่ำ ทำให้คุณภาพผลแก่ก็ต่ำไปด้วย สปอร์ของเชื้อนี้แพร่ระบาดไปโดยลมและแมลงพวกเต่าแดง ยาที่ใช้ฉีดได้ผลดี คือยาแคปแทน ยาไซเนบ หรือยามาเนีย ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง อัตราผสมใช้ยา 1 กรัมผสมน้ำ 500 C.C. หรือครึ่งลิตร หรือยา 35-40 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร (ปี๊บ)
แมลงที่เป็นศัตรูสำคัญของแตงโม ได้แก่
1. เพลี้ยไฟ เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีตัวขนาดเล็กมาก ตัวอ่อนจะมีสีแสด ตัวแก่จะเป็นสีดำ มีขนาดเท่าปลายเข็ม จะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อนของแตงโม และใต้ใบอ่อนของแตงโม จะทำให้ใบหงิก หดสั้น ปล้องถี่ ยอดชูตั้งขึ้น ชาวบ้านเรียกโรคนี้ว่า “โรคยอดตั้ง” บางแห่งก็เรียกว่า “โรคไอ้โต้ง” เพลี้ยไฟจะบินไปเป็นฝูงๆ มีลักษณะเล็กละเอียดคล้ายฝุ่น ลมจะช่วยพัดพาเพลี้ยไฟ ให้สามารถเคลี่อนที่เข้าทำลายพืชผลในไร่เกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว เพลี้ยไฟจะหนีเข้ามายังสวนข้างเคียงที่ไม่ได้ฉีดยาป้องกันและกำจัด ใช้ยาหลายชนิด เช่น เซริน 85% แลนเนท ไดเมทไธเอท หรืออาจปลูกพืชเป็นกันชน เช่นปลูกมะระจีนล้อมไว้สัก 2 ชั้น แล้วภายในจึงปลูกแตงโม เพราะมะระขึ้นค้าง จะช่วยปะทะการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟให้ลดลงได้ จะเสียหายก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
2. เต่าแดง เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งที่ชอบกัดกินใบแตงขณะยังอ่อนอยู่ ลักษณะตัวยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปีกสีเหลืองปนส้ม จะกัดกินใบแตงขาดเป็นวงๆ ตามปกติ เต่าแดงลงกินใบอ่อนต้นแตงโม หรือพืชพวก ฟัก แฟง แตงกวา แต่ไม่ทำความเสียหายให้แก่พืชมากนัก แต่จะเป็น พาหะนำเชื้อโรคแบคทีเรียวิลท์ หรือโรคเถาเหี่ยวของแตงโม ซึ่งเกิดจากเชื้อของแบคทีเรียมาสู่แตงโมของเรา จึงต้องป้องกันกำจัด โดยฉีดพ่นด้วยยาเซริน 85% ในอัตรา 15-30 กรัม ผสมด้วยน้ำ 20 ลิตร ฉีดคลุมทั้งบนใบและใต้ใบ เป็นการป้องกันก่อนสัปดาห์ละครั้ง โดยไม่ต้องรอให้แมลงเต่าแดงลงมากิน และเป็นการป้องกันโรคเถาเหี่ยวของแตงโมด้วย