การเพาะเห็ด

เห็ดเป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์อย่างมากต่อร่างกาย เพราะมีสารอาหารอยู่ครบครัน เช่นเห็ดฟาง จะให้โปรตีนถึง 3.5% ขณะที่ผักอื่น ๆ มีโปรตีนเพียง 2% เท่านั้น เห็ดหูหนูสดมีโปรตีน 7.3% และเห็ดหูหนูแห้งมีโปรตีนถึง 13.8% ในปัจจุบันนี้การเพาะเห็ดได้วิวัฒนาการมาอย่างมาก จะทำให้เราสามารถเพาะเห็ดในถุงพลาสติกได้ เห็ดที่ควรรู้จักมีดังต่อไปนี้

ชื่อเห็ด                            ที่ ๆ จะเพาะหรือปลูก

1. เห็ดฟาง                                กองฟางบนดินหรือบนพื้น

2. เห็ดหูหนู                              ขอนไม้เนื้ออ่อนและขี้เลื่อยในถุงพลาสติค

3. เห็ดนางรม                           ขี้เลื่อยในถุงพลาสติค

4. เห็ดตีนแรด                          ขี้เลื่อยในถุงพลาสติค

5. เห็ดนางฟ้า                           ขี้เลื่อยในถุงพลาสติค

6. เห็ดเป๋าฮื้อ                            ขี้เลื่อยผสมฟางในถุงพลาสติค

การเพาะเห็ดฟาง การเพาะเห็ดฟางทำได้ 2 วิธี คือ การเพาะแบบกองสูง และการเพาะแบบกองเตี้ย

อุปกรณ์ในการเพาะเห็ดฟาง

1. เชื้อเห็ดฟาง เชื้อเห็ดต้องมีเส้นใยสีขาวคล้ายใยแมงมุมทั่วทั้งก้อน

2. ฟาง ต้องเป็นฟางแห้งสะอาด (ปักษ์ใต้เรียกว่าซังข้าว) ฟางข้าวนวดก็ใช้ได้

3. น้ำ ควรเป็นน้ำจืด สะอาด ไม่มียาปราบศัตรูพืชและของเสีย ถ้าใช้น้ำประปารดต้องทิ้งให้คลอรีนสลายไปก่อน 2-3 วัน

4. พื้นที่เพาะเห็ด ควรเป็นที่น้ำไม่ท่วม ไม่มีมดปลวก ถ้าเป็นที่เคยเพาะเห็ดแล้ว ควรขุดดินตากแดดสัก 7 วัน

5. อาหารเสริม สำหรับฟางข้าวนวด และการเพาะแบบกองเตี้ย ใช้ :-

-ผักตบชะวา หั่นตากแห้ง หรือ

-ใส่นุ่น หรือ

-กากฝ้าย หรือ

-ต้นกล้วยหั่นตากแห้ง หรือ

-ขี้ไก่แห้ง 1 ส่วน ผสมกับดินแห้ง 3 ส่วน

6. แบบพิมพ์สูง 30 ซ.ม. กวาง 30 ซ.ม. ยาว 1-1.50 เมตร ควรมีฐานกว้างกว่าด้านบน (ใช่เฉพาะกองเตี้ย)

วิธีเพาะแบบกองสูง วิธีนี้เป็นวิธีดั้งเดิม นิยมใช้ตอซัง ขนาดของกองยาว 4-5เมตร กว้าง 40-50 ซ.ม. กอง 5-7 ชั้น ใช้เชื้อเห็ด 4-5 กระป๋อง (ถุง)

-นำตอซังมาแช่นํ้าจนฟางนุ่ม (8-16 ช.ม.)

-ปักไม้หลัก 2 อัน ห่างกัน 4-5 เมตร (เท่าความยาวของกอง)

-นำตอซังที่แช่น้ำแล้วมาวางเรียงระหว่างไม้หลัก ควรให้โคนซังหันออกข้างนอก เกลี่ยฟางให้หนาเท่า ๆ กันคือประมาณ 1 ฝ่ามือ

-ขึ้นไปย่ำบนกองฟาง พร้อมรดน้ำไปด้วย บางคนอาจใช้มีดตัดแต่งให้โคนฟางเรียบสวยงาม

-โรยเชื้อเห็ดฟางตามขอบแปลง (ด้านโคนฟาง) ห่างจากขอบแปลง 1 ฝ่ามือ เสร็จชั้นที่ 1

-ต่อไปนำตอซังมาวางทับชั้นที่ 1 ขึ้นเหยียบยํ่ารดนํ้าเล็กน้อยถ้าจำเป็น โรยเชื้อเห็ด ตามขอบแปลง

-ทำชั้นที่ 3,4,5,6,7 เช่นเดียวกับชั้นที่ 1 และ 2 สำหรับชั้นสุดท้ายให้โรยเชื้อเห็ดให้ทั่วหลังแปลงแล้วใช้ฟางเปียกปิดทับ โดยวางฟางตามแนวของแปลงหนา 1 ฝ่ามือ

-คลุมแปลงด้วยแผงจาก แผงฟางหรือผ้าพลาสติค

-ตรวจสอบความชื้นในแปลงเสมอ ๆ ถ้าแห้งเกินไปก็ควรรดด้วยนํ้าสะอาด ๆ

-จะเริ่มเก็บเห็ดได้หลังจากเพาะ 12-15 วัน เก็บเห็ดได้กองละ 10-20 กิโลกรัม และมีเห็ดให้เก็บนาน 1 เดือน

วิธีเพาะแบบกองเตี้ย วิธีนี้เป็นที่นิยมกันมาก และต้องใช้แบบพิมพ์ กว้างและสูง 30 ซ.ม. ยาว 1-1.5 เมตร ใช้เชื้อเห็ดกองละ 1-2 กระป๋อง ทำ 3-5 ชั้น

-วางแบบไม้บนที่เรียบหรือแปลงที่เตรียมไว้

-นำตอซังหรือฟางข้าวนวดที่แช่น้ำแล้ว มาวางลงในแบบ เกลี่ยฟางให้หนาเท่าๆ กัน (2-3 นิ้ว)

-ขึ้นยํ่าพร้อมกับรดน้ำ

-นำอาหารเสริมมาชุบน้ำ บีบน้ำออกให้พอหมาดๆ แล้วโรยอาหารเสริมเป็นแถบ ชิดขอบแปลงทั้ง 4 ด้าน

-โรยเชื้อเห็ดลงบนอาหารเสริมให้ทั่ว

ทำชั้นที่ 2,3,4 ต่อไปเหมือนชั้นที่ 1 สำหรับชั้นสุดท้าย ควรโรยอาหารเสริมและเชื้อเห็ดให้เต็มหลังแปลง

-นำฟางที่ชุ่มน้ำมาปิดทับหลังแปลงบาง ๆ หนา 2-3 นิ้ว

-ถอดแบบออก คลุมแปลงเห็ดด้วยแผงจากหรือผ้าพลาสติค

-ตรวจดูความชื้นของกองฟางเป็นครั้งคราว อาจรดน้ำบ้างถ้าจำเป็น

-เมื่อเห็ดเริ่มเกิดตุ่ม และออกดอก ควรเอาผ้าพลาสติคออกหรือใช้ไม้ไผ่ทำโครง กันไม่ให้ผ้าลงทับบนกอง

-จะเก็บเห็ดได้หลังจากเพาะ 9-11 วัน เก็บเห็ดได้ 1-2 กิโลกรัมภายในเวลา 3-4 วัน

การเพาะเห็ดนางรม ตีนแรต หูหนู และเป๋าฮื้อ

วัสดุอุปกรณ์

1. เชื้อเห็ดนางรม ซึ่งอาจเป็นเชื้อวุ้นหรือหัวเชื้ออยู่ในขวดแบน หรือจะเป็นถุงเชื้อ ที่เส้นใยเดินเต็มถุงแล้วก็ได้

2. ขี้เลื่อยไม้ยางพาราหรือไม้เนื้ออ่อนอื่นๆ ฟางสับ (ถ้ามี) รำ ข้าวโพดป่น(ถ้ามี)

3. ถุงพลาสฅติคทนไฟขนาด 7×11 นิ้ว

4. คอขวด (พลาสติค หรือบ้องไม้ไผ่)

5. สำลี ยางเส้น กระดาษ

6. ที่นึ่งฆ่าเชื้อ เช่น รังซึ้ง

วิธีการเพาะเห็ดนางรม

1. เอาขี้เลื่อยไม้ยางพาราใส่ในกะละมังใหญ่เติมฟางสับลงไป 1-2 ปุ้งกี๋ (ถ้ามีฟาง) แล้วเติมรำละเอียดหรือข้าวโพดป่นลงไป 1.5-2 ก.ก. เทน้ำ

สะอาด(ใช้น้ำบ่อ ไม่ควรใช้น้ำที่มีคลอรีน) ลงไปบนขี้เลื่อย ใช้มือคลุกเคล้าให้ทั่ว จนขี้เลื่อยมีความชื้นพอดีๆ คือ ไม่แฉะหรือแห้งเกินไป (ใช้มือกำและบีบดูให้พอมีน้ำซึมๆ อย่าให้น้ำหยดขณะบีบ ถ้าแฉะไปต้องเติมขี้เลื่อยลงไปอีก)

2. เอาขี้เลื่อยผสมนี้บรรจุลงในถุงพลาสติกขนาด 2 ใน 3 ของถุงหรือค่อนถุง โดยเอานิ้วมือดันที่มุมก้นถุงทั้ง 2 ข้างให้หลุบเข้าข้างใน เพื่อทำให้ถุงตั้งยืนได้

3. ใช้คอขวดสอดเข้าทางปากถุง แล้วปลิ้นถุงออกข้างนอก ใช้ยางรัดให้แน่น

4. อุดปากถุงด้วยจุกสำลี แล้วใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มทับจุกสำลีมัดด้วยยางอีกชั้น

5. นึ่งถุงอาหารนี้ในหม้อนึ่งความดัน (15 นาที ) ถ้าใช้ไอน้ำ ( นึ่งด้วยรังถึง) ต้องนึ่งนานถึง 45-60 นาที

6. เอาถุงอาหารออก ทิ้งให้เย็น แล้วเขี่ยเชื้อเห็ดลงไป 1 ช้อนชา (ขณะเขี่ยเชื้อ ต้องฆ่าเชื้อช้อนและอุปกรณ์ตักเชื้อให้สะอาด อาจใช้เทียนไขช่วยฆ่าเชื้อ) ปิดจุกสำลีไว้ตามเดิม

7. บ่มเชื้อไว้ในห้องธรรมดา 3-4 อาทิตย์ หรือรอดูจนเชื้อเดินเต็ม คือจะมีเส้นใยสีขาวเดินเต็มทั้งถุง (สำหรับเห็ดเป๋าฮื้ออาจใช้เวลา 2 เดือน)

8. ดึงเอาคอขวดออก เปิดปากถุง พับปากถุงลงข้าง ๆ จนกระทั่งถึงก้อนอาหาร (สำหรับเห็ดนางรม นางฟ้า ตีนแรดและเห็ดเป๋าฮื้อ) ส่วนเห็ดหูหนูนั้น ให้ใช้มีดกรีดข้าง ๆ ของถุง 3-4 แผล แล้วจึงนำถุงเชื้อไปวางในห้องเพาะเห็ด ซึ่งมีความชื้นสูง อากาศเย็นสบาย

9. รดด้วยน้ำสะอาค โดยใช้บัวฝอย การรดน้ำต้องระวังอย่าให้เเฉะเกินไป

10. เห็ดนางรมจะออกดอกใน 6-8 วัน เห็ดตีนแรต เห็ดนางฟ้า เป๋าฮื้อ ออกดอกใน 8-12 วัน เห็ดหูหนูออกดอกใน 15-20 วัน

หมายเหตุ

1. อาหารหมักสำหรับเห็ดเป๋าฮื้อ ควรใช้ฟางสับยาว 1/2-1 นิ้ว 100 ส่วนโดยน้ำหนัก ยิบซั่มหรือปูนขาว 2-3 ส่วน ข้าวโพดป่น 3 ส่วน รำ 3 ส่วน โดย การหมักฟาง คลุมผ้าไว้ 3 วัน เติมปูนขาวลงไปหมักต่ออีก 3 วัน แล้วจึงผสม ข้าวโพดป่นและรำลงไป เสร็จแล้วจึงบรรจุลงถุง แล้วนึ่งนาน 2 ช.ม.

2. ในการเพาะเห็ดหูหนู ใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ผสมกับรำ ข้าวโพดและปูนขาวเล็กน้อยก็ได้