การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

กุ้งก้ามกรามมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น กุ้งนาง กุ้งหลวง กุ้งใหญ่ ภาคใต้เรียกแม่กุ้ง กุ้งชนิดนี้เป็นกุ้งนํ้าจืดขนาดใหญ่จนได้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Giant Fresh-water Prawn มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Macrobrachium rosenbergiide Man เป็นกุ้งที่มีรสดี ราคาแพง เป็นที่นิยมกันในท้องตลาดทั่วไปในประเทศไทย

ปัจจุบัน ความอุดมสมบูรณ์ของกุ้งก้ามกรามในแหล่งนํ้าธรรมชาติลดลงเนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น ทำการประมงมากเกินควร ทำการประมงผิดวิธี ปัญหามลภาวะต่างๆ อันเกิดจากการปล่อยของเสียในครัวเรือนของประชากรที่เพิ่มขึ้นในเมือง และจากโรงงานอุตสหกรรม ตลอดจนไร่นาซึ่งใช้ยากำจัดวัชพืชเป็นประจำเป็นต้น

แหล่งน้ำธรรมชาติที่เคยมีกุ้งก้ามกรามชุกชุมมากที่สุดแห่งหนึ่งคือ บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง แต่ในระยะหลังคือประมาณปี 2510 เป็นต้นมานั้น แทบจะหากุ้งก้ามกราม ในแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ได้เลย ต่อมาประมาณปี 2523 – 2524 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้นที่บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระนางเจ้าฯ ซึ่งทรงมองเห็นการณ์ไกล ได้มีรับสั่งให้กรมประมงได้สาธิตการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามขึ้นที่ศูนย์ฯ และทดลอง ปล่อยพันธุ์กุ้งลงบริเวณหน้าศูนย์ฯ แห่งนี้ ในการนี้กรมประมงได้มอบหมายให้สถานประมงนํ้าจืดจังหวัด ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีหน้าที่ผลิตพันธุ์กุ้ง และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (บางไทร) ดำเนินการปล่อยพันธุ์กุ้งตั้งแต่ปี 2525 – 2529 เป็นจำนวน 886,000 ตัว ภายหลังจากที่ได้ปล่อยในปี 2525 ก็มีราษฎรในบริเวณใกล้เคียงเริ่มจับกุ้งก้ามกรามได้ และในปี 2527 ซึ่งเป็นปีที่ราษฎรจับกุ้งได้มากเป็นพิเศษ ไม่เฉพาะในเขตอำเภอบางไทรเท่านั้น ตามลำน้ำอื่นๆ ในเขตอำเภอเสนา อำเภอเมือง ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียงก็ได้มีราษฎรจับกุ้งได้มากขึ้นเช่นกัน

แหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่เคยมีกุ้งก้ามกรามมาก่อน เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ แต่เมื่อได้ปล่อยพันธุ์กุ้ง ลงไปตั้งแต่ปี 2524 – 2528 จำนวน 3,042,000 ตัว แต่จับได้(เฉพาะที่ท่าขึ้นปลา) ตั้งแต่ปี 2525 – 2528 ได้จำนวน 59,325 ตัว น้ำหนัก 14,643.2 กก. มูลค่าประมาณ 2.2 ล้านบาท (คิดกก.ละ 150 บาท) ซึ่งคิดเป็นผลกำไร 1,740,200 บาท ซึ่งนับว่าให้ผลตอบแทนสูงมาก

จากแหล่งธรรมชาติทั้งสองแห่งนี้ แสดงให้เห็นว่าการที่จะเพิ่มผลผลิตจากแหล่งธรรมชาติของกุ้งก้ามกรามนั้น การปล่อยพันธุ์กุ้งเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรจะได้รับการพิจารณา

การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามก็เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งจะเป็นทางแก้ปัญหาการขาดแคลนกุ้งก้ามกรามหรือเพื่อเพิ่มผลผลิต นอกจากหวังที่จะได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ แม่การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามจะมีการเลี้ยงกันมากในภาคกลางของประเทศไทย แต่ภาคอื่นๆ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ได้มีการตื่นตัวในการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามกันมาก จากสถิติของกรมประมงปี 2527 จังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามอยู่เพียง 105 ราย ในเนื้อที่ 338.7 ไร่ แต่ต่อมาในปี 2529 ได้มีการเลี้ยง 216 ราย ในเนื้อที่ 1,574 ไร่ หรือเลี้ยงเพิ่มขึ้นเป็นเนื้อที่เกือบ 5 เท่า เพียงในระยะเวลาห่างกันเพียง 2 ปีเท่านั้น

รูปร่างลักษณะ

กุ้งก้ามกรามจัดอยู่ในจำพวกสัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่มีเปลือกหุ้มอยู่ภายนอก ลำตัวแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนหัว ส่วนลำตัว และส่วนหาง ส่วนหัวประกอบด้วยขาเดน 3 คู่ และขาที่มีลักษณะเป็นก้ามอีก 2 คู่ อยู่ทางส่วนหน้า ขาคู่ที่ 1ใช้ในการป้อนอาหารเข้าปากและทำความสะอาดร่างกาย ขาคู่ที่ 2 มีความยาวและใหญ่กว่าคู่ที่ 1 ซึ่งใช้ประโยชน์ในการต่อสู้และจับเหยื่อ ส่วนปลายสุดของกุ้งก้ามกรามประกอบด้วยกรีมีลักษณะแบนข้าง ส่วนโคนของกรีหนาและนูนเรียวแหลมไปทางส่วนปลาย ตรงกลางกรีโค้ง แอ่นลง ส่วนปลายงอนขึ้น ที่สันกรีด้านบนและล่างมีหลักหนามคล้ายฟันเลื่อย จำนวนหนามบนสันกรีล่าง 8-14ซี่  สันกรีบนมี 12-15 ซี่ ตาอยู่ส่วนใต้โคนกรี อยู่บนก้านซึ่งยาวยื่นออกมาและเคลื่อนไหวได้ ส่วนลำตัวแบ่งออกเป็นปล้องๆ รวม 6 ปล้อง ด้านล่างของส่วนลำตัวมีขาว่ายน้ำ 5 คู่ ระหว่างปล้องที่ 1 ถึงปล้องที่ 5 ส่วนหางประกอบด้วยแพนหางข้างละ 1 คู่ ตรงส่วนกลางเป็นปลายหางแหลม

ลักษณะเพศ

กุ้งก้ามกรามเพศผู้กับเพศเมียมีลักษณะที่สามารถจำแนกความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดอยู่หลายประการ ได้แก่ เพศผู้จะมีช่องเปิดของน้ำเชื้อ 1 คู่ อยู่ที่โคนขาเดินคู่ที่ 5 ด้านใน และบริเวณช่องท้องระหว่างขอบของเปลือกหุ้มตัวของเพศผู้จะแคบกว่าของตัวเมีย ซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจนมาก โดยเฉพาะกุ้งที่โตเต็มวัยในระยะฤดูวางไข่ นอกจากนี้ลักษณะที่เห็นง่ายๆ คือ ขาเดินคู่ที่ 2 ซึ่งมีลักษณะเป็นก้ามของกุ้งเพศผู้มีขนาดใหญ่และยาวกว่าของเพศเมีย เมื่อมีขนาดเท่าๆ กัน แต่ถ้าจะพิจารณากันให้แน่ชัดแล้วมีอวัยวะที่แตกต่างกันอยู่ที่บริเวณโคนขาว่ายน้ำคู่ที่ 2 ของเพศผู้มีติ่งขนาดเล็กยื่นออกมา 2 ติ่ง เรียกว่า Appendix masculina กับ Appendix interna ส่วนบริเวณโคนขาว่ายน้ำคู่ที่ 2 ของเพศเมียนั้น จะมีติ่งยื่นออกมาเพียงอันเดียวเรียกว่า Appendix interna เท่านั้น นอกจากนี้ในฤดูวางไข่จะสังเกตเห็นว่า ภายในกระดองหัวของกุ้งเพศเมียจะมีสีแสดหรือแดงอมเหลืองเด่นชัด สีในบริเวณดังกล่าวนั้นเป็นที่ตั้งของรังไข่ หรือสามัญทั่วไปเรียกว่า “แก้วกุ้ง” สำหรับของเพศผู้สีในบริเวณดังกล่าวจะไม่ปรากฎให้เห็น

แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจาย

กุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์น้ำที่มีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ในภูมิภาคทางแถบอินโด-แปซิฟิก อันได้แก่ ไทย ลาว  เขมร ญวน มาเลเซีย พม่า อินเดีย ฯลฯ ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลมีแพร่กระจายอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำจืดที่มีทางน้ำ ไหลติดต่อกับน้ำทะเล ซึ่งได้แก่ ลำคลอง หนอง บึง และทะเลสาบ

ในประเทศไทย กุ้งก้ามกรามมีแพร่กระจายอยู่เกือบทั่วทุกภาค ในภาคกลางเคยมีชุกชุมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ในท้องที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ราชบุรี และสุพรรณบุรี เป็นต้น ส่วนภาคใต้มีชุกชุมในทะเลสาบสงขลา ในท้องที่จังหวัดสงขลา พัทลุง สุราษฎร์ธานี ชุมพร และนครศรีธรรมราช ฯลฯ

อุปนิสัยและคุณสมบัติบางประการ

ความเป็นอยู่

กุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์ชอบน้ำเคลื่อนไหว กุ้งขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดตามแม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ และมีความต้องการออกซิเจนสูง จึงมักจะพบกุ้งชนิดนี้ในที่ที่มีน้ำไหล และใสสะอาด มีนิสัยชอบเกาะซุกซ่อนตัวอยู่ตามรากไม้และเสา ตลอดจนหินผาที่จมอยู่ใต้น้ำ เช่น บริเวณเขื่อน ฝายฯ มีความไวต่อแสง ว่องไว ปราดเปรียว หลบหลีกศัตรูได้คล่องแคล่วเมื่อถูกรบกวนตามปกติ ตามธรรมชาติกุ้งก้ามกรามออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนในเวลากลางวันจะซุกซ่อนตัวอยู่ตามสภาพสิ่ง แวดล้อมดังกล่าวแล้ว

การกินอาหาร

กุ้งชนิดนี้มีนิสัยการกินอาหารได้ทุกประเภทโดยไม่เลือก ทั้งอาหารมีชีวิตและซากเน่าสลาย แล้วทั้งพืชและสัตว์ ได้แก่ เนื้อปลา พันธุไม้น้ำ เมล็ดข้าว ถั่ว เนื้อมะพร้าว ตัวอ่อนแมลง หนอน ฯลฯ นอกจากนั้นยังกินกันเอง โดยเฉพาะเวลาลอกคราบ กุ้งที่อ่อนแอกว่าจะตกเป็นเหยื่อของตัวที่แข็งแรงกว่า

การผสมพันธุ์และวางไข่

กุ้งก้ามกรามมีสัญชาติญาณในการวางไข่และหาอาหารเพื่อการเจริญเติบโต เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ และวางไข่จะอยู่ในช่วงฤดูฝน เช่น ในภาคกลางและภาคตะวันออก อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ในภาคใต้ระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ และโดยเฉพาะระยะที่มีไข่ชุกชุมที่สุด คือ เดือนธันวาคม-มกราคม ของทุกปี แม่น้ำ ลำคลอง ส่วนที่มีสภาพน้ำจืดไปยังบริเวณใกล้ปากแม่น้ำหรือปากทะเลสาบ ซึ่งเป็นบริเวณน้ำจืดและน้ำทะเลมาพบและผสมกัน เรียกว่า “น้ำกร่อย” บริเวณดังกล่าวนี้จึงเป็นบริเวณที่มีความเหมาะสม ตามธรรมชาติที่จะเป็นแหล่งวางไข่ ฟักไข่ และการเจริญเติบโตของลูกกุ้งก้ามกรามวัยอ่อน ทั้งนี้เพราะลูกกุ้งในวัยนี้มีความต้องการอาศัยและเลี้ยงตัวในบริเวณน้ำกร่อยที่มีความเค็มพอเหมาะและอุดมด้วยเกลือแร่ตามวัยของการเจริญเติบโตด้วย

กุ้งก้ามกรามสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ตลอดทั้งปี แต่ระยะที่กุ้งมีการผสมพันธุ์วางไข่ อย่างขนานใหญ่นั้น อยู่ในช่วงฤดูฝนดังได้กล่าวมาแล้ว กุ้งตัวเมียที่มีไข่พร้อมจะผสมพันธุ์ได้จะลอกคราบ ก่อนการผสมพันธุ์ทุกครั้ง ระหว่างที่ลอกคราบตลอดจนถอดคราบออก จะรอให้เปลือกใหม่แข็งตัวกินเวลา 6-12 ชั่วโมง กุ้งที่ลอกคราบมีความอ่อนแอไม่สามารถที่จะป้องกันตัวเองได้ จึงมักจะถูกทำร้ายและเป็นอาหารของตัวที่แข็งแรงกว่าอย่างไรก็ดี กุ้งเพศผู้ที่พร้อมจะทำการผสมพันธุ์ จะเป็นผู้ปกป้องตัวเมียซึ่งกำลังลอกคราบให้รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของกุ้งเพศเมียด้วยกันเอง เมื่อคราบแข็งตัวและกุ้งเพศเมียสามารถที่จะเคลื่อนไหวเป็นปกติแล้ว เพศผู้จะทำการผสมพันธุ์ตามสัญชาติญาณแห่งการสืบพันธุ์ในการสืบพันธุ์นั้นกุ้งตัวผู้จะจับกุ้งตัวเมียหงายขึ้นและดำเนินการผสมพันธุ์ ใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที หลังจากเพศเมียได้รับการผสมพันธุ์ในระยะหนึ่งก็จะวางไข่ โดยไข่จะไหลออกมาทางช่องเพศที่โคนขาเดิมคู่ที่ 3 มาติดไว้ที่บริเวณหน้าท้อง การวางไข่ดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลังจากการลอกคราบของแม่กุ้ง 20-24 ชั่วโมง ไข่บางส่วนที่ไม่ได้รับการผสม เชื้อตัวผู้จะมีสีทึบในระยะแรกและขาวฟ้าในระยะต่อมา ไข่นี้จะหลุดออกไปในระยะ 2-3 วัน ส่วนไข่ที่ผสมแล้วจะมีสีเหลืองอมแดงใส มีเส้นผ่าศูนย์กลาง-0.8 มม. ในระยะนี้ไข่ได้รับการดูแลจากแม่กุ้ง แม่กุ้งจะใช้ ขาว่ายน้ำกระพือให้น้ำเกิดการเคลื่อนไหว เพื่อให้ไข่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ พร้อมกันนั้นมันจะใช้ขาคู่หน้าทำความสะอาดไข่และเขี่ยไข่ที่เสียหรือไม่ได้รับการผสมออกไปด้วย แม่กุ้งฟักไข่จนกระทั่งออกเป็นตัวใช้เวลานาน 19-20 วัน ในนํ้าที่อุณหภูมิ 26-28 องศาเซลเซียส เมื่อไข่ฟักออกเป็นตัวแล้ว แม่กุ้งจะปล่อยให้ลูกกุ้งวัยอ่อนเลื่อนลอยไปตามนํ้าเป็นอิสระ เท่าที่ปรากฎแม่กุ้งตัวหนึ่งๆ อาจวางไข่ได้ 2-4 ครั้งในรอบปี ในกรณีที่แม่กุ้งไม่ได้รับการผสมพันธุ์จากเพศผู้หลังจากที่ได้ลอกคราบแล้ว การวางไข่ก็จะดำเนินไปเช่นเดียวกัน แต่ไข่ที่ไม่ได้รับการผสมนั้นจะเสียไปในที่สุด จากผลของการศึกษาพบว่าพ่อแม่พันธุ์กุ้งจะเริ่ม ผสมพันธุ์และวางไข่ได้เมื่อมีอายุประมาณ 6-7 เดือน ซึ่งเป็นกุ้งที่มีขนาด 9.8-11.3 ซม.

สำหรับความดกของไข่นั้นขึ้นอยู่กับขนาดของแม่กุ้ง กุ้งที่มีขนาด 12 ซม. จะมีไข่ประมาณ 1,500 ฟอง และแม่กุ้งที่มีขนาดใหญ่ยาว 27 ซม. มีไข่ประมาณ 200,000 ฟอง โดยเฉลี่ยแล้วกุ้งขนาดปานกลางขนาดความยาว 18-20 ซม. จะมีไข่จำนวน 70,000-100,000 ฟอง

แหล่งวางไข่กุ้งก้ามกรามที่เสื่อมโทรม และเกือบจะไม่เป็นแหล่งวางไข่ตามธรรมชาติที่เห็นได้ชัด คือ บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ และตามลำน้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบริเวณน้ำกร่อยขึ้นถึงนั้นได้เป็นบริเวณน้ำเสีย ซึ่งเกิดจากการปล่อยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และจากบ้านเรือนในเขตเทศบาลตามริมฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการเอง ดังนั้น จึงแทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากมีการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและจากบ้านเรือน ตลอดจนมีสารพิษจากการกำจัดศัตรูพืชลงในแหล่งน้ำที่ติดกับชายทะเลเมื่อใด ก็เป็นอันเชื่อได้เลยว่า ท้องที่ตามธรรมชาติแถบนั้นจะไม่มีกุ้งก้ามกรามให้บริโภคได้เลย

การเพาะพันธุ์

ในปัจจุบันการเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามในประเทศไทย ได้ก้าวหน้าไปไกลมาก เมื่อ 15-20 ปีที่แล้วมา ซึ่งเป็นระยะเวลาเริ่มต้นมีสถานีประมงจังหวัดสงขลา และสถานีประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสถานีประมงของรัฐเท่านั้นที่ผลิตพันธุ์กุ้งชนิดนี้ได้ ในระยะเริ่มแรกนั้นได้ใช้น้ำทะเลโดยตรงมาผสมกับน้ำจืด เพื่อใช้ในการเพาะพันธุ์ การเพาะแบบนี้ได้มีเอกชนในเขตจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และชานเมืองในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ทำการเพาะด้วย และสามารถทำรายได้พอสมควร เพราะขายได้ราคาดี และมีผู้เลี้ยงต้องการมาก จากนั้นทางสถานีประมงจังหวัดฉะเชิงเทราได้พัฒนานำเอาน้ำเกลือทะเลเข้มข้นจากน้ำเกลือ มาเจือจางลงแทนน้ำทะเลธรรมดา ทำให้ลดค่าใช้จ่ายจากการขนน้ำทะเลโดยตรงได้มาก จากผลของการพัฒนาดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญในการตั้งโรงเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามแพร่หลายไปในจังหวัดซึ่งห่างไกลจากทะเลได้ เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม อยุธยา และบางจังหวัด ในภาคอีสานและภาคเหนือ

จากการพัฒนาในทางวิชาการได้ก้าวหน้าเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์แบบใช้น้ำเกลือเข้มข้นจากชายทะเลนี้ จนสามารถผลิตพันธุ์กุ้งให้ราคาตํ่าจากเดิมร้อยละ 25-30 บาท มาเป็นร้อยละ 3-4 บาท ในแถบภาคกลาง ทำให้โรงเพาะฟักของเอกชนในภาคอื่นๆ เช่น ทางภาคอีสานต้องล้มเลิกไป เพราะปัญหาของการขนน้ำเกลือทะเลเข้มข้นทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงกว่า ดังนั้น ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในภาคอีสานและภาคเหนือ จึงนิยมซื้อพันธุ์กุ้งจากภาคกลางไปทำการเลี้ยง เพราะซื้อได้ด้วยราคาถูกกว่าที่ผลิตขึ้นเอง

ประมาณปี 2523 ได้มีการทดลองเอาน้ำเกลือสินเธาว์ซึ่งมีมากในภาคอีสานมาผสมกับหัวเชื้อน้ำเกลือ (ซึ่งเป็นผลผลิตจากการตกผลึกการทำนาเกลือสมุทร) และสารเคมีบางตัวปรากฎผลที่มีแนวโน้มว่าการเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามด้วยส่วนผสมดังกล่าวลดค่าใช้จ่ายลงไปมาก หากมีการพัฒนาจนมีผลดีเป็นที่ยอมรับ ก็จะทำให้การเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามในภาคอีสานและภาคอื่นๆ ซึ่งอยู่ห่างไกลทะเล ไม่มีอุปสรรคอีกต่อไป

ในการเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามนั้น จะต้องเตรียมส่วนประกอบในการเพาะให้พร้อม ดังต่อไปนี้

การเลือกสถานที่ตั้งโรงเพาะพันธุ์

การพิจารณาเลือกสถานที่ตั้งโรงเพาะฟักพันธุ์กุ้งก้ามกรามนั้น ควรจะเลือกใกล้แหล่งน้ำจืด และไม่ควรห่างจากแหล่งน้ำทะเลมากนัก เพราะว่าในการเพาะพันธุ์มีความจำเป็นจะต้องใช้ทั้งน้ำจืดและน้ำทะเลมาผสมกันเพื่อใช้ในการเพาะพันธุ์ นอกจากนั้น สถานที่ดังกล่าวจะต้องมีกระแสไฟฟ้าผ่าน เพราะ จะต้องใช้อุปกรณ์อย่างอื่น เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องอัดฟองอากาศ เป็นต้น

ในกรณีที่ไม่อาจจะหาน้ำทะเลดังกล่าว เพราะสถานที่เลี้ยงอยู่ห่างไกลจากทะเลก็จะต้องพิจารณาดูว่าการตั้งโรงเพาะขึ้นมานั้นจะต้องคุ้มกับค่าใช้จ่าย เมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อพันธุ์กุ้งมาเลี้ยงเอง

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะพันธุ์

บ่อเตรียมน้ำเพื่อการเพาะพันธุ์ ควรเป็นบ่อคอนกรีตขนาดความจุประมาณ 5-50 ม.3 มีทางระบายน้ำสะดวก ควรมีไม่น้อยกว่า 3 บ่อ เป็นบ่อเก็บน้ำทะเลหรือน้ำเกลือ 1 บ่อ บ่อน้ำจืด 1 บ่อ และบ่อน้ำทะเลผสม (น้ำกร่อย) 1 บ่อ บ่อดังกล่าวควรฆ่าเชื้อโรคและทำความสะอาดเสียก่อนนำมาใช้

การเตรียมน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำทะเลควรเป็นน้ำที่สะอาด หากเป็นน้ำที่ขุ่นควรให้ผ่านการตกตะกอนชั้นหนึ่งก่อน หลังจากนั้นก็ผ่านการฆ่าเชื้อโดยใช้สารเคมี เช่น

-คลอรีนหรือคลอลอกซ์ (Calcium hypochloride) ความเข้มข้น 2-20 ppm.

-สารขจัดคลอรีน ที่เรียกสารไฮโป หรือโซเดียมไทโอซัลเฟต (sodium thiosulfate) ความเข้มข้น 0.2-0.5 ppm.

เมื่อน้ำจืดและน้ำทะเลผ่านการฆ่าเชื้อและขจัดคลอรีนออกแล้วก็นำมาผสมกันให้เห็น เป็นน้ำกร่อย ซึ่งมีความเค็มอยู่ระหว่าง 11-17 ส่วนในพัน ความเป็นกรด-ด่าง 7.5-9 เพิ่มฟองอากาศในน้ำ ตลอดเวลา โดยใช้เครื่องเป่าลม

บ่อเพาะและบ่ออนุบาล เป็นบ่อคอนกรีตหรือไฟเบอร์กลาสขนาด 1-15 ม.3 ลึกประมาณ 10.5-1 เมตร จะเป็นบ่อที่มีลักษณะกลมหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็ได้ มีทางหรือท่อส่งน้ำและระบายน้ำให้พร้อม รูปร่างลักษณะและขนาดของบ่อควรพิจารณาถึงความสะดวกในการปฏิบัติงาน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก

สำหรับบ่อคอนกรีตที่สร้างใหม่ จะต้องป้องกันปฏิกิริยาสารเคมีจากซีเมนต์เสียก่อน โดยอาจแช่น้ำ และหมั่นถ่ายน้ำทิ้งบ่อยๆ ครั้ง ประมาณ 15-20 วัน หรือใช้สี่กันซึมบางชนิดทาทับบริเวณภายในบ่อ ก่อนนำบ่อไปใช้ในการเพาะพันธุ์กุ้ง

เครื่องอัดอากาศ ควรเลือกแบบ ขนาดกำลังของเครื่อง ตลอดจนคุณภาพให้พอเหมาะสมกับขนาดของกิจการ สำหรับคุณภาพและความทนทานของเครื่องยนต์ จำเป็นต้องคำนึงถึงให้มาก เพราะในการเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามนั้นมีความจำเป็นจะต้องใช้อัดอากาศ เพื่อเพิ่มฟองอากาศในบ่อเพาะพันธุ์ตลอด 24 ชั่วโมง และต่อเนื่องจนกระทั่งลูกกุ้งจะถูกนำไปปล่อยลงบ่อเลี้ยง เจ้าของโรงเพาะพันธุ์กุ้งหรือโรงเพาะฟักกุ้ง มักจะต้องมีเครื่องอัดอากาศสำรองไว้เสมอ เพื่อแก้ไขในกรณีเครื่องยนต์ขัดข้อง

เครื่องสูบน้ำ ควรเลือกแบบ ขนาด กำลังเครื่องยนต์ คุณภาพ และราคาให้เหมาะสมกับกิจการเช่นกัน

ปั๊มแบบใต้น้ำ (Submersible pump) ขนาดท่อเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว สำหรับใช้ถ่ายเทจากบ่อหนึ่งไปอีกบ่อหนึ่ง หรือกับอื่น ๆ

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ควรเลือกแบบ ขนาด กำลังเครื่องยนต์ และคุณภาพให้เหมาะสมกับกิจการ เครื่องกำเนิดไฟฟ้านี้เป็นเครื่องสำรองไว้ใช้ และจำเป็นมากในกรณีที่ไฟฟ้าดับ

อาหารและการเตรียม

อาหารสำหรับกุ้งวัยอ่อนที่จะต้องเตรียม มี 2 ชนิดด้วยกัน คือ

1. อาร์ทีเมีย การเพาะอาร์ทีเมียเพื่อใช้เป็นอาหารของลูกกุ้งก้ามกรามวัยอ่อนนี้ เพียงแต่นำไข่อาร์ทีเมียมาผ่านกรรมวิธีทำความสะอาด แล้วนำมาใส่ถังฟักที่มีความเค็มประมาณ 7-35 ppt. เหตุที่ต้องใช้ความเค็มแตกต่างกันมากเช่นนี้ เพราะอาร์ทีเมียที่ใช้เป็นอาหารของลูกกุ้งในปัจจุบันมีหลายสายพันธุ์ หากเป็นสายพันธุ์ทางสหรัฐและจีนแดง จะใช้ความเค็มระหว่าง 20-35 ppt. แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์จากแคนาดา แถบทะเลสาบแชบปลินแล้ว ใช้ความเค็มระหว่าง 7-15 ppt. เท่านั้น จากนั้นก็ให้ฟองอากาศค่อนข้างแรงตลอดเวลา 24-48 ชั่วโมง ก็ฟักออกเป็นตัว แล้วนำไปเป็นอาหารลูกกุ้งวัยอ่อนได้ แต่ก่อนนี้จะนำตัวอ่อน ของอาร์ทีเมียไปให้เป็นอาหารของลูกกุ้งวัยอ่อนประมาณ 3-6 ชั่วโมง ควรจะทำความสะอาดตัวอ่อนของอาร์ทีเมียเสียก่อน โดยใช้ด่างทับทิม 2-10 ppm. หรือฟอร์มาลิน 25-100 ppm. ลงในบ่อเพาะอาร์ทีเมียเพื่อฆ่าเชื้อโรคและพาราสิตต่างๆ แล้วแยกเปลือกอาร์ทีเมียที่ลอยขึ้นผิวน้ำทิ้ง โดยใช้ผ้าแพลงก์ตอน (ขนาด 200 ไมครอน) ซึ่งเย็บเป็นถุงสำหรับกรองอาร์ทีเมีย แล้วเอาไปให้เป็นอาหารลูกกุ้งต่อไป

อาหารผสมไข่ลวกสุก เตรียมโดยใช้ทั้งไข่แดงและไข่ขาวผสมเนื้อหอยบดผสมนมสด หรือนมถั่วเหลือง หรือนมผงสำหรับเด็กอ่อน แล้วนำมานึ่งหรือตุ๋น แล้วนำมายีผ่านตะแกรงลวดขนาดเล็ก ตามต้องการ แล้วนำไปเป็นอาหารของลูกกุ้งวัยอ่อนต่อไป หรือให้นำเอาอาหารที่ผ่านตะแกรงลวดไปตาก หรืออบให้แห้งแล้วเก็บ แล้วนำไปเลี้ยงลูกกุ้งในโอกาสต่อไป

แม่กุ้งที่มีไข่แก่

ไข่แม่กุ้งที่กำลังฟักจะติดอยู่บริเวณขาว่ายน้ำหน้าท้อง ไข่ที่กำลังจะฟักออกเป็นตัวจะมีสีน้ำตาลปนเทา ปริมาณไข่ของแม่กุ้งจะมากน้อยย่อมสัมพันธ์กับขนาดของแม่กุ้ง

วิธีเพาะพันธุ์

สูบน้ำกร่อยที่เตรียมไว้แล้วลงในบ่อ ให้น้ำในบ่อลึกประมาณ 20-30 ซม. เปิดฟองอากาศ ให้กับน้ำตลอดเวลา นำแม่กุ้งไข่แก่ลงบ่อในอัตราส่วน 3-4 ตัว/ม.2 ถ้าเป็นบ่อค่อนข้างใหญ่ ควรเอาแม่กุ้ง ใส่ลงในอวนซึ่งเย็บเป็นกระชังแขวนลอยอยู่ในบ่อเพาะ แล้วใช้แผ่นพลาสติกหรือแผ่นกระเบื้องปิดปากบ่อ เพื่อทำให้อุณหภูมิของน้ำในบ่อเพาะระหว่างกลางวันและกลางคืน ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ในทางปฏิบัติ แม้จะคัดแม่กุ้งที่มีสีของไข่ใกล้เคียงกันใส่ในบ่อเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นการยากที่จะให้ลูกกุ้งจากแม่หลายตัว ฟักออกจากไข่พร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ลูกกุ้งที่ฟักออกจากไข่ควรจะไม่มีอายุต่างกันเกิน 3 วัน เพื่อลูกกุ้งที่ฟักออกจะได้มีขนาดเริ่มต้นไม่แตกต่างกันมากนัก

เมื่อนำแม่กุ้งออกจากบ่อฟักแล้ว ควรเพิ่มน้ำกร่อยลงบ่อจนกระทั่งมีระดับลึกประมาณ 50 ซม.

การเจริญเติบโตของลูกกุ้ง ลูกกุ้งที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะมีลำตัวยาวประมาณ 0.8-1.0 มม. ลูกกุ้งจะหงายท้องว่ายน้ำหางชี้ขึ้นข้างบน หัวชี้ลงข้างล่าง ว่ายแขวนลอยอยู่กลางน้ำ เจริญเติบโตเรื่อยๆ หลังจากลอกคราบ ลูกกุ้งจะลอกคราบประมาณ 11-12 ครั้ง ก็จะคว่ำตัวว่ายน้ำ และลงเกาะกับพื้นบ่อ ช่วงนี้ลูกกุ้งจะมีลักษณะเหมือนพ่อ-แม่ทุกประการ

การอนุบาลลูกกุ้ง

การให้อาหารลูกกุ้งวัยอ่อน ในการให้อาหารนั้น เมื่อลูกกุ้งอายุได้ 2 วัน หรือย่างเข้าวันที่ 3 จะเริ่มให้ตัวอ่อนของอาร์ทีเมียเป็นอาหารทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อลูกกุ้งมีอายุ 5-7 วัน เราจะเริ่มเปลี่ยนชนิดของอาหารในเวลากลางคืน โดยจะค่อยๆ ลดปริมาณตัวอ่อนของอาร์ทิเมียเวลากลางวัน โดยใช้อาหารผสมสลับการให้ตัวอ่อนของอาร์ทีเมียในระยะแรก แล้วค่อยลดตัวอ่อนของอาร์ทีเมียซึ่งให้เฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวควรใช้เวลา 2-3 วัน ในการให้อาหารแต่ละครั้งอย่า

ให้มากเกินไป โดยปิดฟองอากาศชั่วคราวระหว่างการให้อาหารแก่ลูกกุ้ง เพื่อจะได้สังเกตว่าลูกกุ้งจับอาหารกันทั่วถึงแล้วหรือยัง ทั้งนี้เพื่อป้องกันน้ำเสียเนื่องจากให้อาหารมากเกินไปด้วย ส่วนกลางคืนยังคงให้ตัวอ่อนของอาร์ทีเมียเป็นอาหารเช่นเดิม

การใช้ไรแดงแทนตัวอ่อนของอาร์ทีเมีย เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่ ทำได้ ในกรณีที่ผู้เพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามที่ขาดแคลนไข่อาร์ทีเมีย เพราะจากประสบการณ์ในการเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามในระยะแรกนั้น คุณประสิทธิ์ เกษสัญชัย ซึ่งเป็นนักวิชาการของกรมประมง เคยรวบรวมไรน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเลี้ยงลูกอ่อนกุ้งก้ามกราม และบางครั้งไรน้ำที่หาได้จำนวนมากก็สามารถเก็บ ไว้ในตู้เย็น และแม้จะตายแล้ว ก็ยังนำมาเป็นอาหารลูกกุ้งได้ด้วย ในปัจจุบันการเพาะเลี้ยงไรแดงได้เจริญก้าวหน้าไปไกลพอสมควร จึงเห็นสมควรที่จะได้ลองนำเอาไรแดงมาใช้แทนตัวอ่อนของอาร์ทีเมียได้ในท้องที่ที่อาจหาไข่อาร์ทีเมียยากในจังหวัดห่างไกล เช่น ภาคอีสาน

การเปลี่ยนน้ำและทำความสะอาด เมื่อเริ่มให้อาหารสมทบก็จะมีอาหารที่เหลือตกค้างอยู่บ้างมากน้อยเป็นธรรมดา ดังนั้น จึงควรดูดตะกอนของเศษอาหารตกค้าง และของเหลือออกทุกวัน

น้ำและตะกอนที่ถูกดูดออกมาจะมีลูกกุ้งบางส่วนติดมาด้วย ควรจะได้รวบรวมไว้ในตะแกรงรองรับ เมื่อดูดตะกอนเสร็จก็นำเอาตะกอนและลูกกุ้งที่ติดมาใส่ลงในกะละมังที่มีน้ำอยู่ค่อยๆ คน ทิ้งไว้สักครู่พอตะกอนตกลงพื้นก็ให้แยกตะกอนทิ้ง ส่วนลูกกุ้งที่แขวนลอยอยู่ก็นำกลับลงไปใส่ไว้ในบ่อเดิม และลดน้ำในบ่อประมาณ 20-50% ทุกวันหรือเว้นวัน แล้วเติมน้ำกร่อยลงใหม่เท่าระดับเดิม

การย้ายลูกกุ้ง ในการเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกรามวัยอ่อนนั้น แม้ว่าเราจะได้เปลี่ยนน้ำ ดูดตะกอน ระมัดระวังไม่ให้มีสิ่งสกปรกสะสมอยู่แล้วก็ตาม แต่เมื่อเลี้ยงนานเข้า สภาพของน้ำในบ่อก็จะเสื่อมโทรมลง มีความสกปรกมากขึ้น และด้วยเหตุนี้เองก็จะเป็นสาเหตุให้ลูกกุ้งวัยอ่อนเกิดโรคได้

ดังนั้น การเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกรามวัยอ่อนจึงควรมีการย้ายลูกกุ้งจากบ่อเดิมไปบ่อใหม่ ซึ่งกรณีนี้จะต้องมีการเตรียมบ่อไว้ล่วงหน้า โดยทำความสะอาดและตากบ่อ ส่วนลูกกุ้งจากบ่อเดิมนั้นก่อนทำการย้ายสู่บ่อใหม่ ควรจะฆ่าเชื้อโรคก่อนย้าย โดยใช้ฟอร์มาลิน 30-100 ซีชี/ม.3

การย้ายลูกกุ้งจากบ่อเดิมไปใส่บ่อใหม่นั้น ควรทำ 5-10 วัน/ครั้ง

การคัดขนาดลูกกุ้ง

เนื่องจากลูกกุ้งที่ได้จากการเพาะครั้งเดียวกันไม่เจริญเติบโตเท่ากัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องคัดขนาดที่เท่ากัน หรือใกล้เคียงกันไปไว้ด้วยกัน การคัดขนาดลูกกุ้งควรเริ่มจากลูกกุ้งเริ่มคว่ำ กล่าวคือ อายุได้ประมาณ 15-20 วัน และจะคว่ำหมดเมื่ออายุประมาณ 1 เดือน ในการคัดก็ต้องมีการเตรียมบ่อคล้ายๆ กับการย้ายลูกกุ้งคือ ต้องเตรียมบ่อไว้ล่วงหน้า ในการดำเนินการคัดควรใช้สวิงหรือกระชอนรวบรวมลูกกุ้ง ซึ่งมีทั้งกุ้งคว่ำและกุ้งหงายปะปนกัน จากนั้นก็นำลูกกุ้งไปยังบ่อที่เตรียมไว้ โดยเอาสวิงหรือกระชอนดังกล่าว จุ่มลงไปในน้ำโดยไม่ให้ขอบสวิงจมน้ำ กุ้งที่คว่ำแล้วจะยังคงเกาะอยู่ที่สวิงหรือกระชอน ส่วนกุ้งที่ยังไม่คว่ำก็จะลอยอยู่กลางน้ำ จากนั้นกดสวิงส่วนหน้าให้จมลงใต้น้ำเล็กน้อย โดยสวิงหรือกระชอนอีกด้านหนึ่งยังคงพ้นนา แล้วดึงสวิงหรือกระชอนถอยหลัง ลูกกุ้งที่ยังไม่ควรก็จะลอยพ้นออกจากสวิง ส่วนลูกกุ้งที่คว่ำแล้วก็ยังคงเกาะอยู่ในสวิง ดังนั้นจึงสามารถคัดออกจากกัน และแยกไปเลี้ยงในบ่อที่เตรียมไว้ได้

ลูกกุ้งที่คว่ำแล้วควรนำไปลงในน้ำกร่อยซึ่งค่อยๆ ลดความเค็มลง จนกระทั่งสามารถเลี้ยงในน้ำจืดสนิทได้ โดยใช้เวลาประมาณ 12-24 ชั่วโมง

การป้องกันและรักษาโรคของลูกกุ้ง

มีสาเหตุอยู่หลายประการที่ทำให้ลูกกุ้งอ่อนแอ ตาย สูญหาย และเป็นโรคพยาธิ เช่น

1. คุณสมบัติของน้ำอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม เช่น

-มีของเน่าเสียอยู่ในน้ำทำให้เกิดแก๊ส เช่นคาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และแอมโมเนีย ซึ่งทำให้เป็นพิษทั้งโดยตรงและทางอ้อม

-ออกซิเจนต่ำทำให้ลูกกุ้งอ่อนแอ

-อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงต่างกันมาก เช่น หนาวจัด ร้อนจัด มีผลให้ลูกกุ้งอ่อนแอ

-ความเป็นกรดและด่าง ซึ่งปกติอยู่ระหว่าง 7.5-9.0

ในการป้องกันและแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว คือ

-ก่อนทำการเพาะลูกกุ้งทุกครั้ง ควรเตรียมวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมปราศจากเชื้อโรค โดยใช้สารเคมี และยาฆ่าเชื้อโรคบางชนิดใส่ลง หรือฉีดพ่นใส่วัสดุและอุปกรณ์ทิ้งไว้ประมาพ 3-7 วัน แล้วล้างทำความสะอาด ตากให้แห้งก่อนทำการอนุบาลลูกกุ้งทุกครั้ง

-น้ำที่ใช้ในการเพาะและอนุบาล ให้ผ่านการฆ่าเชื้อ กรองให้สะอาด ตลอดจนปรับความเป็นกรดและด่างให้อยู่ในระดับพอดี ส่วนการปรับค่าออกซิเจนให้สูงขึ้นนั้น ทำได้ด้วยการเพิ่มกำลังอัด อากาศลงไปให้เพียงพอ ส่วนอุณหภูมิที่ต่ำก็แก้ไขด้วยการเปิดให้แสงแดดสว่างถึง หรือคลุมด้วยกระเบื้องถ้าร้อนเกินไป

ความสกปรกของโรงเพาะฟักและอุปกรณ์จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคและพยาธิต่างๆ เรื่องนี้ก็ปฎิบัติเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว

ในกรณ์ที่ลูกกุ้งชอบกัดกินกันเองขณะลอกคราบนั้น อาจมาจากสาเหตุดังนี้

-ความหนาแน่นของลูกกุ้งมีมากเกินไป

-อาหารของลูกกุ้งอาจไม่พอ หรือลูกกุ้งกินอาหารไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะตัวที่อ่อนแอกว่า

ดังนั้น การป้องกันจึงควรแก้ไขทั้งสองข้อดังกล่าวนี้

แมลงน้ำบางชนิด เช่น แมลงกรรเชียง ตัวอ่อนแมลงปอ ฯลฯ กัดกินลูกกุ้ง แก้ไขโดย กรองน้ำและย้ายลูกกุ้งไปบ่อใหม่

การกำจัดพวกโรคและพาราสิต อันได้แก่

-พวกไฮโดรซัว (hydrozoa) เป็นพวกโรคที่ทำอันตรายลูกกุ้งด้วยวิธีแทงและจับกินเป็นอาหาร การกำจัดนั้นทำได้โดยใช้ฟอร์ มาลินใส่ลงไปในบ่อเพาะเลี้ยงลูกกุ้งประมาณ 30-100 ซีซี/ม3 ผสมกับออกซีเตตราไซคลิน หรือเตตราไซคลิน 5 ppm. ระยะ 2-3 ชั่วโมง แล้วช้อนย้ายลูกกุ้งลงบ่อใหม่ จะได้ผลดีกว่าวิธีอื่น

ผลที่ตามมาจากการกำจัดไฮโดรซัวนั้น ทำให้ซากของสัตว์ที่ตายเน่าเปื่อยทำให้น้ำในบ่อเสีย นอกจากนั้นโคโลนี (colony) ของไฮโดรซัวที่เข้าใจว่าตายแล้วนั้น เมื่อปล่อยไว้สัก 2-3 วัน หลังจากใส่ยาฆ่าแมลง จะสามารถงอกขึ้นมาใหม่ และเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำและทำซ้ำอีกดังกล่าวแล้ว

-พวกโปรโตซัว (protozoa) มีหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อลูกกุ้ง มีลักษณะเป็นปุยคล้ายสสำลีหรือเมือก เท่าที่พบมักจะเกาะตามผิวเปลือกตัวทางด้านที่มีระยางค์ขาว่ายน้ำ ขาเดิน แพนหางตลอดจนบริเวณเหงือก ส่วนทางด้านหลังนั้นมีน้อยมาก เท่าที่พบมีด้วยกัน 3 ชนิด คือ ซูโอแทมเนียม (Zoothamnium sp.) อีพิสทัยลิส (Epistylis sp.) และคาซีเซียม (Carchesium sp.)

ในการป้องกันนั้น ทำได้โดยทำความสะอาดอาร์ทีเมียซึ่งใช้เป็นอาหารลูกกุ้ง เพราะโปรโตซัวดังกล่าวจะติดมากับเปลือกไข่อาร์ทีเมีย โดยใช้สารเคมีกำจัดดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนั้น การย้ายลูกกุ้งวัยอ่อน 7-10 วัน/ครั้ง ก็เป็นการช่วยตัดวงจรของพวกไฮโดรซัวที่เกาะอยู่ข้างในบ่อ ให้หมดไปได้อีกด้วย

ในการกำจัดก็ใช้ฟอร์มาลินขนาดความเข้มข้น 30 ซีซี/ม.3 ทุกวันหรือวันเว้นวัน ปริมาณ 3-5 ครั้ง

-พวกแบคทีเรีย (bacteria) มีหลายชนิด เช่น แอโรโมนาส (Aeromonas sp.) ซูโนโมนาส (Pseudomonas sp.) วิบริโอ (Vibrio sp.) ฯลฯ มีอาการภายนอก เช่น ลำตัวขาวขุ่นหรือคล้ำ

หางและตัวเปื่อย หนวดขาด-กุด ฯลฯ สามารถรักษาได้แต่เนิ่นๆ เท่านั้น โดยยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซีเตตราซัยคลิน คลอแรมฟินิคอล ฯลฯ ใส่ลงไปในน้ำประมาณ 5 ppm. หรือใส่ลงไปในอาหารประมาณ 3 กรัม/กก.ติดต่อกัน 5-7 วัน

-เชื้อรา (Fungus) เชื้อราที่พบเกาะลูกกุ้งทำให้ลูกกุ้งมีลำตัวสีขาวซีดตามระยางค์ต่างๆ เช่น ขามีลักษณะคล้ายสำลี สามารถกำจัดด้วยการใช้สารเคมีบางชนิด เช่น ฟอร์มาลิน 25-35 ppm.

ดังนั้น หลักการทั่วๆ ไปในการป้องกันและรักษาที่จำเป็นและจะต้องเอาใจใส่ที่สุดก็คือ

-รักษาคุณสมบัติของน้ำและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงให้สะอาดอยู่เสมอ

-เมื่อพบลูกกุ้งมีอาการผิดปกติ ให้รีบค้นสาเหตุ ให้รีบแก้ไขรักษาโดยด่วน

-แยกอุปกรณ์ต่างๆ ระหว่างบ่อเพาะเลี้ยงลูกกุ้งที่มีอาการผิดปกติ และมีอาการปกติออกจากกันเสียโดยเด็ดขาด

-เปลี่ยนนํ้าและย้ายลูกกุ้ง

-ระหว่างทำการรักษาลูกกุ้งจะกินอาหารน้อยลง ควรลดหรืองดอาหารจำพวกอาหารเสริมชั่วคราว และกินเฉพาะอาร์ทีเมียเท่านั้น จนกว่าลูกกุ้งจะหายเป็นปกติ

การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในปัจจุบัน เลี้ยงได้ทั้งในบ่อ ในคอก ในร่องสวน และในนา ที่นิยมเลี้ยงกันเป็นการค้าส่วนใหญ่นั้น ได้แก่ การเลี้ยงในบ่อและในคอก และโดยที่วิธีการเลี้ยงทั้งในคอกและในบ่อมีข้อแตกต่างกัน จึงขอแยกการอธิบายถึงวิธีการเลี้ยงไว้ดังนี้

การเลี้ยงในบ่อ

การเลือกสถานที่สร้างปอเลี้ยงกุ้งก้ามกรามนั้น ควรอยู่ใกล้แหล่งนํ้าธรรมชาติ หรือคลองชลประทานที่มีนํ้าอุดมสมบูรณ์ตลอดปี สามารถชักน้ำเข้าและถ่ายเทน้ำ หรือระบายน้ำออกได้สะดวก จึงจะได้ผลดี

การสร้างบ่อ บ่อที่ใช้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามนั้น อาจแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ

-แบบบ่อปลาทั่วๆ ไป มีระบบน้ำเชิงลาดของปอ กว้างยาว และลึกทั่วๆ ไป สำหรับความลึกนั้น อาจลึกมากน้อยแล้วแต่ว่ามีระบบน้ำเข้า-ออก ตลอดจนคุณสมบัติของดินว่าอุ้มน้ำได้ดีเพียงใด ส่วนใหญ่จะลึกประมาณ 1-2 เมตร

-แบบบ่อที่ดัดแปลงจากที่นา ส่วนใหญ่ของบ่อแบบนี้จะมีขนาดใหญ่ประมาณ 2-5 ไร่ หรือมากกว่านั้น แบบบ่อที่กล่าวถึงนี้จะมีมากแถบจังหวัดสุพรรณบุรี-นครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามมากที่สุดของประเทศ สำหรับความลึกนั้นจะลึกประมาณ 1 เมตร

วิธีการเลี้ยง วิธีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามอาจแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ

-วิธีอนุบาลก่อนประมาณ 2 เดือน แล้วนำไปปล่อยลงบ่อเลี้ยง ซึ่งระยะการเลี้ยง ในบ่อเลี้ยงจะใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน จึงจะจับขาย บ่อที่ใช้อนุบาลเมื่อจับเอาลูกกุ้งออกหมดแล้ว ก็เตรียมบ่อเลี้ยงรุ่นต่อไปอีก

-วิธีอนุบาลและเลี้ยงในบ่อเดียวกัน วิธีนี้เริ่มจากเลี้ยงลูกกุ้งขนาดเล็ก หรือขนาดที่ใช้อนุบาลวิธีแรก จนกระทั่งมีอายุประมาณ 6 เดือน แล้วเริ่มคัดขนาดจับขายเรื่อยๆ ทุกๆ เดือน จนกระทั้งกุ้งหมด ซึ่งใช้เวลาในการจับประมาณ 4-6 ครั้ง แล้วเริ่มเตรียมบ่อและเลี้ยงใหม่

ในการสร้างบ่อทั้งสองแบบนั้น ในปัจจุบันนิยมใช้เครื่องมือจักรกลในการก่อสร้าง ส่วนระบบน้ำเข้า-ออกก็เป็นแบบเดียวกับบ่อปลาทั่วๆ ไปที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

การเตรียมบ่อ การเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามก็เช่นเดียวกับการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วไป

ถ้าเป็นบ่อใหม่ ส่วนใหญ่ดินในบ่อจะมีลักษณะเป็นกรด ส่วนการที่จะรู้-ว่าการเป็นกรดมากน้อยเท่าใดนั้น จะต้องมีการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างเสียก่อน โดยทั่วไปความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะ สมในการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม คือ 7.0-8.5 เช่นเดียวกับบ่อเลี้ยงปลาทั่วๆ ไป ในการแก้ไขความเป็นกรด-ด่างนั้น ให้ถือหลักเกณฑ์ในการใช้ปูนขาว

นอกจากปูนขาวแล้วยังมีผู้นิยมใช้ปูนมาร์ลแทน และกล่าวถงคุณภาพว่าดีกว่า เพราะการออกฤทธิ์แก้การเป็นกรดมีระยะยาวนานกว่า

ถ้าเป็นบ่อเก่าควรระบายน้ำออกให้หมด ลอก และสาดเลน เอาดินโคลนขึ้นมาตาก 3-7 วัน ในกรณที่บางตอนของบ่อไม่อาจจะระบายน้ำออกหมด จำเป็นต้องกำจัดศัตรูจำพวกปลาให้หมดโดยใช้โล่ติ๊น หรือหางไหลสด ในอัตรา 1 กก./น้ำ 100 ม.3

ในการเอาน้ำเข้าบ่อหรือระบายนํ้าออกนั้น ควรมีอวนไนลอนหรือเนื้ออวนเขียวกรองน้ำเข้ากันพวกปลาและศัตรูเข้าบ่อ และขณะเดียวกันก็ต้องกรองน้ำออกด้วยอวน เพื่อกันไม่ให้กุ้งออกจาก ท่อระบายน้ำเช่นกัน

การป้องกันศัตรูภายนอกมิให้เข้ามาในบ่อ ทำได้โดยใช้เฝือกหรืออวนไนลอนล้อมรอบคันบ่อ

การลำเลียงพันธุ์กุ้งลงบ่อ ในการลำเลียงลูกกุ้งลงบ่อเลี้ยงนั้น จัดลำเลียงโดยใช้ถุงพลาสติกอัดออกซิเจน โดยบรรจุลูกกุ้งถุงละ 500-1,000 ตัว การลำเลียงส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ที่สามารถปรับอุณหภูมิ ระหว่าง 24-26 องศาเซลเซียส หรือใช้รถยนต์ลำเลียงในเวลากลางคืน ซึ่งมีอุณหภูมิลดลงต่ำ ทำให้สามารถลำเลียงในระยะไกลได้ดี เมื่อลำเลียงถึงบ่อ ควรปรับอุณหภูมิของน้ำในถุงของลูกกุ้งและในบ่อให้ใกล้เคียงกันเสียก่อน จึงค่อยปล่อยลูกกุ้งออกจากถุงสู่บ่อเลี้ยงหรืออนุบาล

อัตราการปล่อย ดังที่ได้กล่าวในข้างต้นเกี่ยวกับการสร้างบ่อนั้น มี 2 แบบ คือ แบบที่ใช้อนุบาลลูกกุ้งกับแบบที่ใช้ทั้งอนุบาลและเลี้ยงจนโตได้ขนาดถึงขั้นส่งตลาด

แบบแรกคือ แบบที่ใช้อนุบาลก่อนแล้วค่อยย้ายลงบ่อเลี้ยงนั้น แบบนี้อัตราการปล่อยจึงแตกต่างกัน คือ

(1) การปล่อยเพื่ออนุบาลนั้น มีอัตราการปล่อยค่อนข้างหนาแน่น คือ 10-25 ตัว/ม.2 หรือประมาณไร่ละ 16,000-26,500 ตัว/ไร่ ทั้งนี้เพราะลูกกุ้งที่นำมาอนุบาลนี้มีขนาด 1-1.5 ซม.เท่านั้น เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ก็เริ่มคัดขนาดตั้งแต่ 4 ซม.ไปปล่อยลงบ่อเลี้ยง และคัดขนาดทำทุกๆ 15 วัน จนถึง 4-5 เดือน แล้วจับออกให้หมด แล้วตากบ่อเตรียมบ่อเพื่ออนุบาลรุ่นต่อไป       ส่วนการปล่อยลูกกุ้งขนาด 4 ซม.ขึ้นไป ปล่อยลงในบ่อเลี้ยงนั้น ควรปล่อยในอัตรา 3-5 ตัว/ม.2 หรือ 4,800-8,000 ตัว/ไร่

(2) การปล่อยเพื่อทั้งอนุบาล และเลี้ยงจนโตในคราวเดียวกัน แบบนี้เหมาะสำหรับผู้เลี้ยงที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลี้ยงมานานพอสมควร เพราะเป็นการเลี้ยงที่จะต้องเอาใจใส่ในระยะแรกที่ค่อนข้างสำคัญมาก กล่าวคือ เป็นการเลี้ยงในระยะอนุบาลนั่นเอง การปล่อยพันธุ์กุ้งเพื่อเลี้ยงแบบนี้มีอัตราค่อนข้างสูง คือ ประมาณ 20,000 ตัว/ไร่ หรือบ่อขนาด 5 ไร่ ปล่อย 10,000 ตัว การเลี้ยงแบบนี้จะระมัดระวังและเอาใจใส่ตอนเตรียมบ่อเพื่อเลี้ยง และในการเลี้ยงในช่วง 2-3 เดือนแรกอย่างมาก เพราะเป็นการเลี้ยงในช่วงอนุบาล

อาหารและการให้อาหาร กุ้งก้ามกรามกินอาหารได้แทบทุกชนิด ทั้งพืชและสัตว์ อาหารธรรมชาติของกุ้งก้ามกราม ได้แก่ แมลง ตัวอ่อนของแมลงในนํ้า ไรน้ำ ไส้เดือน ปลาเล็ก เนื้อปลา ไข่ปลา และไข่ของสัตว์น้ำ หอย และเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งกุ้งก้ามกรามด้วยกันเอง รากพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ เผือก มัน ข้าวเปลือก ปลายข้าว กากถั่ว มันสำปะหลัง (ทั้งดิบและสุก) ฯลฯ กุ้งก็สามารถกินได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว กุ้งก้ามกรามชอบอาหารประเภทเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่

กุ้งก้ามกรามใช้ขาเดินคู่ที่ 1 (ก้ามคีบเล็ก) และคู่ที่ 2 (ก้ามคีบใหญ่) คีบอาหารเข้าปากเพื่อกัดแทะ ดังนั้น อาหารของกุ้งก้ามกรามจึงควรเป็นชิ้นหรือเม็ดเพื่อสะดวกในการกัดกิน และให้มีสภาพคงทนในน้ำได้ในระยะนานพอสมควร อาหารของกุ้งก้ามกรามควรมีคุณค่าของโปรตีนไม่น้อยกว่า 25% หรือระหว่าง 25-35%

เวลาให้อาหารนั้นควรให้เวลาเย็น เพราะกุ้งกินอาหารเวลากลางคืน หรือถ้าให้เวลาเช้า ควรให้เพียงเล็กน้อย และควรให้เวลาเย็นอีกครั้งหนึ่ง

ปริมาณอาหารที่ให้แต่ละวันควรเป็น 3-5% ของน้ำหนักตัวกุ้ง รวมทั้งบ่อ และอาจคำนวณลำบากสำหรับผู้เลี้ยง จึงควรอาศัยข้อมูลเพื่อเป็นหลักในการให้อาหารตามตารางข้างล่างนี้

ตารางการให้อาหารกุ้งก้ามกรามในบ่อเลี้ยง ปริมาณการให้อาหารต่อกุ้ง 8,000 ตัว เนื้อที่ 1 ไร่ (อาหารแห้ง)


ที่มา : สถานประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา

สำหรับส่วนผสมของอาหารกุ้งก้ามกราม อาจเลือกใช้ส่วนผสมของสูตรใดสูตรหนึ่ง ตามสูตรข้างล่างนี้

ตารางแสดงสูตรอาหารกุ้งก้ามกรามของสถานีประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา และสถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ


หรืออาจจะใช้สูตรอาหารพื้นบ้าน ซึ่งใช้ปลายข้าวต้มสุกผสมปลาป่นและรำละเอียดในอัตราส่วน 1 : 1 : 1 แล้วนำมาบดอัดตากแห้งเก็บไว้ใช้เป็นเวลานานก็ได้

การถ่ายเทน้ำ การถ่ายเทน้ำให้คุณสมบัติของน้ำดีอยู่เสมอ จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของกุ้งดีตามไปด้วย แต่การถ่ายเทน้ำแต่ละครั้งก็สิ้นเปลืองโสหุ้ยตามไปด้วย โดยทั่วไปแล้วในเดือนที่ 1-2 อาจไม่ต้องเปลี่ยนน้ำเลย อย่างไรก็ตาม ควรจะสังเกตสีของน้ำไว้ ถ้าเขียวจัดควรถ่ายเทน้ำทันที การถ่ายน้ำและเอาน้ำใหม่เข้าควรเป็น 1/2 หรือ 1/3 ของน้ำในบ่อเลี้ยง พอถึงเดือนที่ 3 หรือหลังจากเดือนที่ 3 ควรถ่ายน้ำประมาณ 2 ครั้ง/เดือนเป็นอย่างน้อย การสังเกตดูสีของน้ำประกอบการพิจารณาว่าควรถ่ายน้ำ

นั้นยังมีความจำเป็นอย่างมาก การถ่ายเทน้ำหรือเปลี่ยนน้ำในช่วงฤดูแล้ง หรือเกษตรกรบางรายอาจขาดแคลนน้ำแต่มีบ่อเลี้ยงมาก จะหมุนเวียนน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งแล้วไปพักตามบ่อใดบ่อหนึ่ง แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้อีกเมื่อสภาพน้ำดีขึ้น

การตรวจดูการเจริญเติบโต เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงกุ้ง กุ้งก้ามกรามจะเจริญเติบโตตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป เพราะฉะนั้นในระยะนี้ควรมีการสุ่มตัวอย่าง เพื่อสังเกตปริมาณกุ้ง ที่เหลือหรือมีอยู่ในบ่อ ถ้าใช้ไฟฉายส่องดูจะเห็นกุ้งและกะปริมาณดู การงมหรือทอดแห หรือตีอวนบางส่วน ของบ่อเลี้ยงก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถคิดคำนวณปริมาณและน้ำหนักของกุ้งได้ การสุ่มแบบนี้ทำให้เราสามารถคำนวณปริมาณอาหารที่จะให้ต่อไปด้วย

การจับกุ้งขาย เมื่อเลี้ยงกุ้งได้ประมาณ 6-8 เดือน จะมีกุ้งบางส่วนโตขนาด 15 ตัว/กก. ควรตีอวนจับคัดขนาดดังกล่าวขาย ส่วนที่เหลือขนาดยังเล็กอยู่ก็ทำการเลี้ยงต่ออีก และในเดือนต่อไปก็จับคัดขนาดขายอีกแบบเดียวกัน หากเป็นบ่อขนาดใหญ่ก็อาจต้องจับ 4-6 ครั้งทุกๆ เดือน ครั้งสุดท้ายจะทำการจับและวิดจับหมดบ่อ แล้วตากบ่อเพื่อเตรียมการเลี้ยงชุดต่อไป ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น

ขนาดของกุ้งก้ามกรามที่ซื้อขายที่บ่อเลี้ยง (จังหวัดสุพรรณบุรี) เป็นกุ้ง 4 ขนาด

-ตัวเมีย ขนาดประมาณ   20 ตัว/กก. ราคา 60-75 บาท

ตัวผู้มี 3 ขนาด คือ – 10 ตัว/กก. ราคา 150-180 บาท

15 ตัว/กก. ราคา 120-140 บาท

20 ตัว/กก. ราคา 90-140 บาท

เห็นว่าน่าจะเป็นแนวในทางปฎิบัติในการคัดขนาดของกุ้งเพื่อการซื้อขายในที่อื่นๆ ได้

ผลผลิตของกุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงในบ่อแตกต่างกันมาก คือ ประมาณ 200-500 กก./ ไร่/ปี ทั้งนี้มีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ผลผลิตแตกต่างกันส่วนใหญ่ ได้แก่

-ความชำนาญของผู้เลี้ยง

-แหล่งที่ตั้งของบ่อซึ่งรวมทั้งความอุดมสมบูรณ์

-คุณภาพของอาหารที่ใช้เลี้ยง ฯลฯ

การเลี้ยงในคอก

เป็นการเลี้ยงอีกแบบหนึ่งซึ่งประสพผลสำเร็จในบางท้องที่ของทะเลสาบสงขลา ในการเลี้ยงจะต้องสร้างคอกในแหล่งน้ำตื้นของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ วิธีการเลี้ยงแบบนี้ใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายน้อยกว่า การสร้างบ่อมาก เช่น ไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนน้ำโดยการใช้เครื่องสูบน้ำในคอกสามารถถ่ายเทได้ตลอด เวลา วิธีเลี้ยงแบบนี้จึงประหยัดและให้ผลผลิตสูงกว่าการเลี้ยงในบ่อดิน ด้วยเห็นว่าการเลี้ยงด้วยวิธีนี้น่าจะได้นำไปเป็นแบบอย่างใช้ในแหล่งน้ำอื่นๆ ได้

ในการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในคอกนั้น ควรมีขั้นตอนดังนี้

การเลือกทำเลที่ตั้งสำหรับการสร้างคอก ในการพิจารณาเลือกทำเลนั้นนับว่าเป็นเรื่องสำคัญเบื้องต้น ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความต้องการตามธรรมชาติของกุ้ง อันจะช่วยให้สามารถประกอบธุรกิจการเลี้ยงได้ดีตลอดไปด้วย การพิจารณาควรยึดถือหลักใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

1. สภาพดิน ควรจะเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย มีชั้นพื้นโคลนที่ก้นทะเลบาง ไม่ควรจะหนากว่า 20 ซม.

2. คุณสมบัติของน้ำ ต้องดีตลอดทั้งปี สภาพของคุณสมบัติทางฟิสิกส์เคมี ดังนี้

ความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 7.0-8.5

อุณหภูมิ อยู่ระหว่าง 25-30°ซ.

ความกระด้างของน้ำ (Hardness) อยู่ระหว่าง 25-75 มก./ลิตร

ออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ (D O.) อยู่ระหว่าง 3.0-7.0 มก./ลิตร

ไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่พื้นก้นทะเล น้อยกว่า 0.1 มก./ลิตร

แอมโมเนีย น้อยกว่า 0.1 มก./ลิตร

แมงกานีส น้อยกว่า 0.1 มก./ลิตร

ความเค็ม อยู่ระหว่าง 0-7.0 ส่วนพันของน้ำ

3. มีความลึกของน้ำตํ่าสุด 1.0 เมตร

4. น้ำต้องไม่มีพวกสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลงและโลหะมีพิษอื่นๆ

5. บริเวณสร้างคอกต้องไม่เป็นสภาพที่รับน้ำเสียจากชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม

6. การไหลหมุนเวียนของกระแสน้ำดีพอประมาณ เพื่อให้ของเสียในคอกพอที่จะถูกกำจัดได้

7. ปลอดภัยจากศัตรูธรรมชาติ เช่น นก หนู ปลากินเนื้อ ฯลฯ

8. มีวัชพืชน้ำน้อย

9. การไปมาสะดวกกับแหล่งที่ตั้งคอก

10. ควรตั้งอยู่ในแหล่งที่ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย

การจัดหาพันธุ์กุ้ง การจัดหาพันธุ์กุ้งมาทำการเลี้ยงเป็นเรื่องของการเริ่มต้นในการเลี้ยงกุ้งในคอก พันธุ์กุ้งนั้นอาจหาได้มาจาก 2 ทาง คือ

-จากแหล่งเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามทั่วไป จะต้องนำมาอนุบาลก่อนปล่อยลงเลี้ยงในคอก

-จากแหล่งลูกกุ้งธรรมชาติ ซึ่งอาจหาได้ตามแหล่งต่างๆ ของชายฝั่งบริเวณน้ำจืด ซึ่งเคยพบเห็น เช่น แถบอำเภอสทิงพระ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา และเขตอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง กุ้งที่จับได้จากแหล่งธรรมชาติ ชาวบ้านจะเรียกว่า “กุ้งหัวหญ้า” มีขนาด 5-7 ซม. หือขนาดนิ้วก้อย หรือมวนบุหรี่ ซึ่งเป็นขนาดที่ปล่อยลงเลี้ยงในคอกได้โดยไม่ต้องนำมาอนุบาลอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อหาพันธุ์กุ้งได้แล้ว ก็ลำเลียงพันธุ์กุ้งก้ามกรามมาทำการอนุบาล วิธีการลำเลียงพันธึกุ้ง ก็ทำเช่นเดียวกับวิธีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

การอนุบาล เนื่องจากพันธุ์กุ้งก้ามกรามที่นำมาเลี้ยง ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์กุ้งขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “พึงคว่ำ” มีขนาด 1.5-2.0 ซม. มีความจำเป็นต้องนำเอามาอนุบาลเสียก่อนให้ได้ขนาด 4-7 ซม. จึงจะนำลงปล่อยเลี้ยงในคอก

วิธีอนุบาล

ในการอนุบาลนี้มีอยู่ 2 วิธีคือ อนุบาลในบ่อดิน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วนอีกวิธีหนึ่งนั้นคือการอนุบาลในกระชัง กระชังอนุบาลนี้ทำด้วยอวนมุ้งขนาด 2x4x2 เมตร ที่ต้องทำให้ลึกมากเพราะต้องป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกระชัง อันเนื่องจากการขึ้นลงของน้ำในรอบวัน และประกอบกับกระชังที่ใช้เลี้ยงโดยทั่วไปจะไม่ใช้ทุ่นลอย แต่จะใช้เสาไม้หลักเพื่อผูกกระชังแทน พันธุ์กุ้งที่ปล่อย/กระชัง ประมาณ 25,000 ตัว หรือ 300 ตัว/ม2

อาหารและการให้อาหาร

อาหารที่ใช้เลี้ยงลูกกุ้งนั้น มีทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งเป็นการง่ายที่ผู้เลี้ยงจะจัดหามาเอง เช่น พวกเนื้อปลาเป็ด ปลาราคาถูกตามท้องถิ่น เนื้อหอย เศษเนื้อติดกระดูกของวัวควาย ไส้เดือน หนอน แมลง และพืชผักแทบทุกชนิด แต่การที่ลูกกุ้งจะกินอาหารได้สะดวกและได้ดีนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของอาหาร ส่วนใหญ่มักจะใช้เนื้อสัตว์สับละเอียด หรืออาหารสำเร็จรูปซึ่งมีบรษัทเอกชนผลิตขึ้นจำหน่าย นอกจากนั้นยังสามารถใช้อาหารผสมเองซึ่งเป็นสูตรที่ใช้อนุบาลลูกกุ้งในบ่อดิน ตามที่ได้กล่าวมาแล้วก็ได้ ในการให้อาหารแก่ลูกกุ้งแต่ละวันนั้นควรจะให้อาหารประมาณ 5-10% ของน้าeหนักตัว เช่น ลูกกุ้งที่มีขนาด 1.5-2.0 :ม. หนักประมาณ 0.2 กรัม ใน 1 กระชัง ซึ่งมี 2,500 ตัว ควรให้อาหารจากการคำนวณ ดังต่อไปนี้

น้ำหนักของลูกกุ้งทั้งหมด 0.2 X 2,500     = 500 กรัม

ลูกกุ้ง 100 กรัม ให้อาหาร                                = 10 กรัม

ลูกกุ้ง 500 กรัม ให้อาหาร                                = 10×500/100

= 50 กรัม

จะต้องให้อาหารลูกกุ้งในกระชัง 50 กรัม/วัน/กระชัง

สูตรอาหารที่กล่าวถึงนี้เป็นรูปของอาหารแห้งหรืออาหารเม็ดสำเร็จรูป ถ้าเป็นอาหารเปียกควรเพิ่มปริมาณมากขึ้น ประมาณ 2-2.5 เท่า อย่างไรก็ตาม การให้อาหารจะต้องใช้ความสังเกต ว่าอาหารหมด อาหารเหลือของแต่ละวันมากน้อยเท่าใดเป็นหลักไปด้วย

ระยะเวลาของการอนุบาลในกระชังนั้นประมาณ 2-3 เดือน ลูกกุ้งก็จะเจริญเติบโต 4-7 ซม. หรือน้ำหนักประมาณ 2 กรัม ลูกกุ้งที่เจริญเติบโตขนาดนี้จะมีอยู่ประมาณ 1/4 ของทั้งหมดในระยะ เวลา 2 เดือนแรก ดังนั้น จำเป็นจะต้องคัดขนาดที่ต้องการลงไปในคอกทุกๆ 15 วัน จนกระทั่งหมดกระชัง ปริมาณลูกกุ้งที่รอดนั้นจะแตกต่างกัน หรือประมาณ 50-75% ของทั้งหมด หรืออยู่ที่ความชำนาญของผู้เลี้ยง ดังนั้น การที่จะให้ได้พันธุ์กุ้งลงปล่อยในคอกเลี้ยงให้เพียงพอ หรืออัตรา 7,000-10,000 ตัว/ไร่นั้น ผู้เลี้ยงจะต้องเตรียมอนุบาลลูกกุ้งไว้หลายๆ กระชัง

การดูแลรักษากระชังนั้น มีความจำเป็นมาก กระชังอนุบาลที่ทำด้วยอวนมุ้งนี้ ส่วนใหญ่จะบอบบาง ฉีกขาด และเสียหายง่าย จำเป็นจะต้องอยู่ในสภาพที่ดีเพื่อลดอัตราการตายของลูกกุ้งมากที่สุด มีหลายสาเหตุที่จำต้องระมัดระวัง คือ

-ตะกอนจากสารอินทรีย์ และการเจริญเติบโตของสาหร่ายเส้นในน้ำเกาะติด ตามตาอวน จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การถ่ายเทน้ำไม่สะดวกและเป็นผลต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง การ แก้ไขสิ่งเหล่านี้โดยทำความสะอาดเนื้ออวน เช่น ใช้แปรงถูหรือขยี้คล้ายซักผ้า เพื่อให้คราบตะกอนหรือสาหร่ายหลุดออกไป

-หมั่นตรวจดูเนื้ออวนกระชังซึ่งเป็นรูขาดชำรุด อันเกิดจากมีของแข็งมากระทบ ปลาปักเป้า ปู เข้ากัดทำลายกระชัง อันเนื่องจากการเหลือของอาหารที่ตกค้าง

-ถ้ากระชังอยู่ใกล้ฝั่งมากอาจมีพวกหนูเข้ากัดทำลายกระชัง เพื่อกินเศษอาหารเหลือ หรือลูกกุ้งได้

การอนุบาลลูกกุ้งในกระชังนี้ นอกจากจะอนุบาลเพื่อปล่อยเลี้ยงในคอก เราอาจนำไปดัดแปลงใช้อนุบาลก่อนปล่อยเลี้ยงในบ่อดินได้เช่นเดียวกัน

รูปร่างลักษณะของคอก คอกสำหรับเลี้ยงกุ้งก้ามกรามอาจมีรูปลักษณะได้หลายแบบ เช่น คอกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือคอกลักษณะเป็นวงกลม แต่ที่นิยมกันทั่วๆ ไป จะมีลักษณะเป็นวงกลม ขนาดของคอกจะมีขนาด 1/2 ไร่ 1ไร่ 2 ไร่ และ 3 ไร่ ค่าสร้างคอกขนาดใหญ่จะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าคอกขนาดเล็กหลายคอกในเนื้อที่เท่ากัน ดังจะขอเปรียบเทียบให้ดูปริมาณวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างคอกในเนื้อที่ต่างกัน ดังนี้

เนื้อที่คอก รัศมี-ม. ใช้อวนยาว ม. จำนวนเสาหลัก หมายเหตุ
1 ไร่ 22.5 145 58 ด้น เสาหลักเส้นผ่าศูนย์
2 ไร่ 31.9 210 84 ต้น กลาง 4-5 นิ้ว
3 ไร่ 39.0 250 100 ต้น ยาว 5 เมตร

วิธีสร้างคอก ใช้เสาหลัก 1 เสาเป็นจุดศูนย์กลาง จากนั้นใช้เชือกขึงเป็นรัศมีเดินวนรอบเสา ศูนย์เป็นวงกลม แล้วหาระยะระหว่างเสาหลักซึ่งห่างกันแต่ละเสา 2.5 เมตร เสาหลักจะต้องอยู่สูงเหนือระดับน้ำขึ้นสูงสุด และปักลึกลงดินประมาณ 1 เมตร เมื่อเสาหลักเรียบร้อย ก็ใช้ไม้ไผ่เป็นคร่าวบนระหว่างเสาหลักทั้งหมด แล้วเอาเนื้ออวนซึ่งทำด้วยอวนโพลีเบอร์ 12 ขนาดตา 2 ซม. ความสูงของคอกประมาณ 3.5-4 เมตร โดยใช้เนื้ออวน 2 ผืนต่อกันมายึดคร่าวบนและมัดติดกันให้แน่นหนา สำหรับเนื้ออวนส่วนล่างที่ติดอยู่กับพื้นคอก (พื้นดิน) สามารถทำได้ 2 วิธี คือ ฝังดินโดยขุดร่องรอบคอกแล้วเอาเนื้ออวนฝังลงไปในร่อง แล้วใช้ตะขอไม้กดยึดเนื้ออวนให้แน่น ตามรูปที่ 1 ส่วนอีกวิธีหนึ่งเอาอิฐหรือตุ้มน้ำหนักถ่วงตลอดแนวรอบคอก (บริเวณโคนเสาติดกับพื้นดินระยะระหว่างอิฐแต่ละก้อนประมาณ 1 คืบ) ส่วนเนื้ออวนที่เหลือใช้ตะขอยึดให้แน่นโดยให้จมมากที่สุด การทำช่วงล่างต้องทำให้ดีเพื่อป้องกันไม่ให้กุ้งหลบหนี เพื่อไม่ให้ปลา หรือศัตรูของกุ้งมุดลอดเข้าไปในคอกได้

การปล่อยลูกกุ้งลงในคอกเลี้ยง ก่อนทำการปล่อยกุ้งลงเลี้ยงในคอกนั้น ควรจะได้กำจัดพวกปลาที่มาอาศัยอยู่ในบริเวณคอกเสียก่อน การกำจัดจะกระทำได้โดยทอดแห ตีอวน และการใช้โล่ติ๊น คล้ายกับการกำจัดปลาในบ่อ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีพืชในนํ้าอยู่ในบริเวณคอกก็ควรจะเอาออกด้วย

ลูกกุ้งที่อนุบาลไว้จนได้ขนาด 4-7 ซม. นั้น เป็นขนาดที่เหมาะจะปล่อยลงเลี้ยงในคอกได้ ในอัตรา 5-7 ตัว/ม.2 หรือไร่ละประมาณ 7,000-10,000 ตัว กุ้งวัยนี้เมื่อถูกปล่อยลงคอกจะกระจายไปทั่วคอกทันที ภายในคอกอาจใช้พืชลอยน้ำเป็นแพเล็กๆ หรือพวกกิ่งไม้ใส่ไว้ในคอกหลายแห่ง พืชและกิ่งไม้เหล่านี้จะให้ประโยชน์ต่อกุ้งในด้านร่มเงา หลบหลีกศัตรูในระยะลอกคราบ ลดโอกาสกินกันเอง พืช และกิ่งไม้เหล่านี้ควรให้มีไม่เกิน 1ใน 10 ของเนื้อที่คอกทั้งหมด

การดูแลคอกเยงนับว่าสำคัญมาก ให้ระวังอย่าให้กิ่งไม้หรือแพพืชผัก และสิ่งของอื่นใดอันมากับกระแสนํ้าไปติดกับคอก ซึ่งอาจทำให้เสียหายหรือชำรุด การตรวจตราดูแลคอกรวมทั้งเนื้ออวนล้อมคอก ควรทำเป็นประจำ หากเห็นชำรุดจะต้องรีบซ่อมทันที ช่องระหว่างเสาของคอกและตาอวน ต้องคอยขัดถูพืช ตะกอน และสิ่งสกปรกออกเสมอ

อาหารและการให้อาหาร ในการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารมากถึง 30-35% ของการลงทุนทั้งหมด ดังนั้น ในการเลี้ยงจึงจำเป็นจะต้องพิจารณาในเรื่องค่าอาหารอย่างมาก เช่น วัตถุดิบที่จะใช้เป็นอาหาร ควรจะหาได้ในท้องถิ่นที่เลี้ยง รวมทั้งราคาก็ถูกด้วย จึงจะคุ้มกับค่าใช้จ่าย ในการเลี้ยง วัตถุดิบในท้องที่ๆ ควรเตรียมจัดหาไว้เป็นอาหาร ได้แก่

1. รำ ปลายข้าว มันเส้น ปลาเป็ด ปลาป่น หอย เศษเนื้อ ฯลฯ

2. อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารเม็ด

สำหรับรำ ปลายข้าว และมันเส้น เป็นอาหารจำพวกแป้งที่ราคาถูกและมีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่น ส่วนปลาเป็ด ปลาป่นนั้น เป็นพวกอาหารโปรตีนซึ่งอาจต้องซื้อมาจากที่อื่นในราคาค่อนข้างแพงแต่ก็จำเป็น ส่วนปู หอยนั้น คงจะหาได้และนำมาให้เป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น ในการประกอบอาหารอาจทำได้ทั้งแบบเปียกและแห้ง โดยเอาปลายข้าวหรือมันเส้นมาต้มก่อนแล้วผสมด้วยรำ ปลาป่น ปลาเป็ดที่สับละเอียด คลุกให้เข้ากันจนเป็นก้อนได้ จะนำไปให้โดยตรงหรือทำเป็นเส้น หรือเม็ดตากแห้งไว้ให้คราวต่อๆ ไปก็ได้

ส่วนอาหารสำเร็จรูปและอาหารเม็ดนั้น เราอาจนำเอามาประกอบเอง ซึ่งเป็นสูตรของสถานีประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา และสถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

นอกจากนั้นยังมีอาหารสำเร็จรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีหลายบริษัทได้นำออกขาย ซึ่งก่อนซื้อมาใช้ก็ควรพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือในคุณภาพเสียก่อน

ในการให้อาหารกุ้งมีวิธีคำนวณในการให้ ดังตัวอย่างในการให้อาหารผสมชนิดแห้ง ในรูปความสัมพันธ์กับความเจริญเติบโตและอัตรารอดตายของกุ้ง 10,000 ตัว ที่อนุบาลและเลี้ยงในคอก 1  ไร่ มีดังนี้

ตารางแสดงข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณอาหารที่ควรให้แก่ลูกกุ้งและกุ้งในวัยต่างๆ


การตรวจดูความเจริญเติบโต ควรสุ่มตัวอย่างประมาณเดือนละ 2 ครั้ง จนกว่าจะถึงขนาดที่ตลาดต้องการ การสุ่มตัวอย่างเพื่อจุดประสงค์ 2 ประการ

-เพื่อทราบขนาดโดยเฉพาะน้ำหนัก เพื่อการคำนวณปริมาณอาหารที่จะให้แต่ละวัน

-เพื่อทราบขนาดที่ควรจะซื้อขาย ตลอดจนปริมาณกุ้งที่มีอยู่ในคอก

การจับกุ้ง เมื่อดำเนินการเลี้ยงกุ้งในคอกได้ประมาณ 4-5 เดือน ก็สามารถที่จะเริ่มจับกุ้งงออกขายได้ การจับสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่สะดวกที่สุดคือ การใช้แหทอดเพราะใช้แรงงานน้อย นอกจากนั้นอาจใช้ลอบดักและคัดขนาดขายก็ได้ การจับและคัดขนาดใหญ่ออกขายมีความจำเป็นมาก เพราะกุ้งใหญมักจะรังแกกุ้งเล็ก และแถมยังกีดกันไม่ให้กุ้งเล็กเข้ามากินอาหารอีกด้วย เมื่อเอากุ้งใหญ่ออก นอกจากจะทำให้มีรายได้ดีแล้วยังเป็นการกำจัดศัตรู เช่น ปลาที่เล็ดลอดเข้ามาในคอกเพื่อแย่งอาหารในคอกอีกด้วย

การจับกุ้งออกขายในปริมาณมากมักจะใช้อวนจับ ในการจับมักจะเลือกเวลา เช่น จะไม่จับในระยะเวลาพระจันทร์เต็มดวง เพราะเป็นเวลาที่กุ้งลอกคราบ ซึ่งเป็นเวลากุ้งเปลือกอ่อนราคาไม่สูง จึงมักจะจับขายในระยะข้างแรม ในการจับจะใช้ทุ่นอวนผูกติดแน่นกับเชือกคร่าวบนและมีระยะห่างระยะทุ่นเท่าๆ กัน และอวนนี้จะผูกแน่นกับเสาไม้ตีอวนเป็นวงกลมลดพื้นที่คอกทีละน้อยไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกุ้งถูกล้อมจับด้วยความระมัดระวัง ขณะที่คร่าวล่างค่อยๆ กวาดไปบนพื้นคอกอย่างช้าๆ ปราศจากช่องว่างระหว่างอวนและพื้นก้นคอกที่ให้กุ้งหลบหนีได้ ถึงจะจับด้วยอวนตามวิธีนี้ ก็ไม่สามารถที่จะจับกุ้งออกทั้งหมดได้ด้วยการตีอวนครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง แต่ก็เป็นการลดปริมาณกุ้งในคอกได้มาก

การปล่อยกุ้งทดแทน ในทางปฏิบัติของการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในคอกนั้น เมื่อจับออกขายก็จะมีการปล่อยกุ้งที่อนุบาลได้ขนาดแล้วทดแทน และจะทำอยู่อย่างนี้ตลอดไปจนกว่าจะเห็นว่าพื้นของคอกเลี้ยงเริ่มจะสกปรก เพราะมีอาหารตกค้างหมักหมมอยู่ ก็จะทำการกวาดเลนหรือกวนเลนพื้นคอกให้ฟุ้งตอนมีระดับน้ำลดลง เพื่อให้เศษอาหารตลอดจนของเสียหมักหมม

ลอยออกไปกับกระแสน้ำ

ผลตอบแทนจากการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนและผลตอบแทนจากการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในบ่อดินของจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนการเลี้ยงในคอกนั้นมีข้อมูลของสถานีพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม จังหวัดสงขลา ซึ่งนำเอาข้อมูลจากการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในคอกในทะเลสาบสงขลา เขตอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ซึ่ง ร.ศ.กังวาล จันทรโชติ ช่วยสรุปข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางพิจารณาส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามดังต่อไปนี้

ตารางแสดงต้นทุนและผลตอบแทนการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในบ่อขนาด 1 ไร่ จังหวัดบุรีรัมย์ ปี 2528-2529

ตารางแสดงต้นทุนและผลตอบแทนการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในบ่อดินขนาด 1 ไร่ จังหวัดสุพรรณบุรีปี 2528-2530

ตารางแสดงต้นทุนและผลตอบแทนการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในคอกขนาด 1 ไร่ ในทะเลสาบสงขลา เขตอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ปี 2528

จากข้อมูลดังกล่าวแล้วทั้งการเลี้ยงในบ่อดินและในคอกนั้น ให้ผลผลิตที่แตกต่างกันมาก อย่างน้อยก็น่าจะได้พิจารณาถึงสาเหตุอันเป็นผลกระทบต่อผลผลิตมากน้อยแตกต่างกันนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขต่อไป เช่น เปอร์เซ็นต์รอดของกุ้ง คุณภาพและปริมาณของอาหาร ตลอดจนการดูแลรักษาต่างๆ ประ­กอบกันไปด้วย