ขั้นตอนการเพาะเห็ดแบบอุตสาหกรรม

ขั้นตอนในการเพาะเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรม แบ่งเป็นขั้นตอนที่

สำคัญได้ดังนี้

1. หมักวัสดุที่ใช้เพาะ

2. เลี้ยงเชื้อราและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อเห็ด

3. ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ แมลง

4. โรยเชื้อและดูแลรักษา

5. เก็บผลผลิต

การหมักวัสดุที่ใช้เพาะ

วัสดุที่ใช้เพาะ ที่นิยมใช้เพาะกันทั่วไปคือ ต้นถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ขี้ฝ้าย ไส้นุ่น ผักตบชวา ต้นกล้วย ได้ผลรองลงมาได้แก่ ฟาง ต้นข้าวโพด หญ้า ชานอ้อย ฯลฯ เป็นต้น

ขั้นตอนในการหมัก มี 2 ขั้นตอนคือ

1. การหมักแบบอับอากาศ

2. การหมักแบบใช้อากาศ

การหมักแบบอับอากาศ ระยะนี้มีจุลินทรีย์จำพวกแบคทีเรียซึ่งมีอยู่ ทั่วไปทุกแห่งซึ่งมากับปุ๋ย นํ้าและอากาศ ช่วยย่อยอาหารต่าง ๆ ที่อยู่ในรูปที่เห็ดฟาง ไม่สามารถนำไปใช้ได้ให้แตกสลายออกมา เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงต่อไปให้อยู่ในรูปที่ดอกเห็ดเอาไปใช้ได้ จุลินทรีย์จำพวกนี้จะย่อยอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีสภาวะที่เหมาะสม คือ

1. ต้องทำให้กองปุ๋ยอับอากาศ ไม่ให้มีอากาศถ่ายเทได้ คือทำกองปุ๋ย หมักให้ค่อนข้างแน่น

2. ความชื้นสูง

3. ความร้อนสูง

4. มีฤทธิ์เป็นกลาง และมีอาหารเพียงพอ

กิจกรรมของแบคทีเรียในระยะนี้จะย่อยอาหาร ได้แก่ธาตุไนโตรเจนซึ่ง เห็ดต้องการมาก จะถูกแบคทีเรียย่อยออกมาให้อยู่ในรูปของเกลือ หรือแก๊สแอมโมเนีย ในระยะนี้จะมีกลิ่นเหม็นมาก และอาหารที่ย่อยออกเป็นเกลือหรือแก๊สแอมโมเนียนั้นเห็ดฟางยังไม่สามารถเอาไปใช้ได้ จะต้องถูกเปลี่ยนให้เป็นโปรตีนโดยเชื้อราเสียก่อน

การหมักแบบใช้อากาศ ระยะนี้จะมีจุลินทรีย์อีกจำพวกหนึ่งซึ่งทำงานต่อ เนื่องจากกิจกรรมของแบคทีเรีย โดยการเปลี่ยนอาหารที่แบคทีเรียย่อยออกมาให้อยู่ในรูปที่เห็ดฟางนำมาใช้ได้ จุลินทรีย์พวกนี้ส่วนมากได้แก่ เชื้อรา ยีสต์ และแอคโนมัยสิท จุลินทรีย์เหล่านี้จะย่อยอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีสภาวะที่เหมาะสม คือ

1.  ต้องมีอากาศ (ออกซิเจน) อย่างเพียงพอ ฉะนั้น ระยะนี้จะกลับปุ๋ย และตีปุ๋ยให้ร่วนซุย แล้วนำมาวางบนชั้นแบบหลวม เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

2. ต้องการความชื้นไม่สูงมากเหมือนพวกแรก

3. ต้องการความร้อนสูง

4. มีฤทธิ์เป็นกลาง

5. ควรมีอาหารอย่างอื่นกระตุ้น เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น รำละเอียดหรือใบกระถินป่น เพราะหากไม่ช่วยกระตุ้นจะเสียเวลาในการหมักนานซึ่งอาหารบางอย่างจะถูกจุลินทรีย์นำไปใช้สร้างสปอร์หรืออวัยวะสืบพันธุ์ เห็ดไม่สามารถนำไปใช้ได้ ทำให้สูญเสียอาหารโดยเปล่าประโยชน์

กิจกรรมของจุลินทรีย์พวกนี้ จะช่วยย่อยอาหารต่อเนื่องจากพวกแรก เช่น ย่อยเกลือหรือแก๊สแอมโมเนียให้เป็นโปรตีนในร่างกายของเชื้อรา ถ้าฆ่าเชื้อราให้ตาย  เห็ดก็จะกินโปรตีนจากในตัวของเชื้อรา ยีสต์ หรือแอคติโนมัยสิทโดยตรง และนอกจากนี้พวกเซลลูโลสก็จะถูกย่อยสลายให้มีขนาดเล็กลง จนเป็นนํ้าตาลซึ่งอยู่ในรูปที่เห็ดฟางเอาไปใช้ได้

เพื่อให้เข้าใจง่าย ขอยกตัวอย่างการหมักวัสดุที่ใช้เพาะได้ผล โดยละเอียด ได้แก่ การใช้ต้นถั่ว ขี้ฝ้าย ไส้นุ่น ผักตบชวา หรือต้นอ้อย สำหรับการเพาะที่ใช้ฟางอย่างเดียวจะได้ผลผลิตไม่ดีนัก เพราะฟางมีอาหารน้อยและสลายตัวช้า แต่ก็นิยมใช้ฟางปูรองพื้นเสียก่อน ซึ่งจะหมักหรือไม่หมักก็ได้ หากหมักผลผลิตจะสูงกว่า ในการหมักจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8-12 วัน หรือหมักจนกระทั่งฟางนิ่ม

การหมักฟาง ใช้ตอซังหรือปลายฟางก็ได้ แช่น้ำก่อน 1 วัน ก่อนที่จะ นำไปใส่ไม้แบบให้เติมปุ๋ยยูเรีย หรือปุยแอมโมเนียมซัลเฟต ประมาณร้อยละ 1 -1.5 โดยน้ำหนักของฟางแห้ง (ฟางแห้ง 100 กก. เติมปุ๋ย 1-1.5 กก.) แล้วนำ ฟางมาอัดในไม้แบบที่ได้กล่าวมาแล้ว ขึ้นเหยียบให้แน่น เมื่อฟางเต็มไม้แบบให้ยกไม้ขึ้นพร้อมทั้งใส่ฟางและเหยียบไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสูงประมาณ 1 -1.5 เมตร จึงถอดไม้แบบออก การกองอาจกองในร่มหรือกลางแจ้งก็ได้ ทิ้งไว้เฉย ๆ 3-4 วัน จึงทำการกลับกอง โดยกระจายกองฟางออก เอาส่วนที่เคยอยู่ข้างนอกกลับเข้าข้างในและ เอาส่วนที่อยู่ข้างในออกมาข้างนอก นำฟางเข้าใส่ไม้แบบอีกครั้ง ระยะนี้ถ้าฟางแห้งเกินไป สังเกตได้จากนำฟางมาบิดดูหากมีนํ้าหยดบ้าง แสดงว่าความชื้นอยู่ในเกณฑ์พอดี แต่ถ้าหากไม่มีนํ้าหยดแสดงว่าแห้งไปให้รดน้ำบ้าง แล้วหมักทิ้งไว้ 3-4 วัน เช่นกันเมื่อครบกำหนดแล้ว ทำการกลับกองปุ๋ยใหม่พร้อมทั้งเติมปุ๋ยดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟต ประมาณร้อยละ 1-2 ของน้ำหนักวัสดุแห้ง (สามารถใช้ปุ๋ยสูตร 16- 20-0 หรือ 20-20-0 แทนปุ๋ยยูเรีย และดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟตได้ โดยทำการเติมในวันแรกแทนปุ๋ยยูเรียเลย เติมประมาณร้อยละ 1 – 2 ของน้ำหนักวัสดุแห้ง จากนั้นก็ไม่ต้องเติมอะไรอีก) ตรวจสอบความชื้นเช่นเดิม จากนั้นนำมากองสุมเป็นกองสามเหลี่ยมธรรมดาสูงประมาณ 80-100 เซ็นติเมตร หมักต่ออีก 2-3 วัน ก็สามารถนำไปใช้รองพื้นได้

การหมักต้นถั่ว จะใช้ต้นถั่วอะไรก็ได้ ตากให้แห้งเสียก่อนใช้ได้ทั้งราก ลำต้นและใบ หากตีละเอียดได้ยิ่งดี นำมาแช่น้ำก่อน 1 วัน แล้วจึงใส่ปุ๋ยยูเรียหรือ ปุ๋ยนาประมาณร้อยละ 0.5 ของน้ำหนักวัสดุแห้ง (โรงเรือนขนาด 4×6 สูง 2.5 ม.ใช้ต้นถั่วแห้งประมาณ 160-200 กก. ฉะนั้น ควรเติมปุ๋ยประมาณ 1-1.5กก.) นำต้นถั่วมาอัดลงในไม้แบบให้แน่น สูงประมาณ 1 -1.5 ม. หมักทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วกลับกอง โดยอัดลงในไม้แบบอีกครั้ง เอาส่วนที่เคยอยู่ข้างในออกมาข้างนอก และเอาส่วนที่อยู่ข้างนอกเข้าข้างใน ตรวจดูความชื้นด้วยการเอาต้นถั่วที่ถูกหมักมาบีบดู ถ้ามีนํ้าหยด แสดงว่ามีความชื้นเพียงพอ แต่หากไม่มีน้ำหยด แสดงว่าแห้งไปให้รดนํ้าด้วย ถ้าใส่ปุ๋ยยูเรียในครั้งแรกควรใส่ปุ๋ยดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟตประมาณร้อยละ 1 ของวัสดุแห้งในการกลับกองครั้งนี้ (ถ้าใส่ปุ๋ยนาก็ไม่ต้องเติมปุ๋ยดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟต) หมักต่ออีก 2 วัน ก็สามารถนำไปใช้เพาะได้

การหมักขี้ฝ้ายหรือไส้นุ่น เป็นที่นิยมใช้เพาะกันมากทั้งในและต่างประเทศขี้ฝ้ายคือเศษขี้ฝุ่นผงหรือของเสียทั้งหมดจากโรงงานอุตสาหกรรมปั่นฝ้าย ไส้นุ่น คือทุกส่วนของผลนุ่นที่ดึงเอาเส้นใยออกหมดแล้ว ซึ่งประกอบด้วยเปลือก ก้าน แกน รวมทั่งเมล็ดด้วย วัสดุทั้งสองเป็นวัสดุที่ย่อยง่ายสลายเร็ว มีอาหารที่เห็ดนำไปใช้ได้เลยอยู่มาก และสะดวกในการปฏิบัติการ ดังนั้น ในการหมักแทบไม่จำเป็นต้องเติมปุ๋ยเคมีเลยก็ได้

การหมัก ให้เอาขี้ฝ้ายหรือไส้นุ่นที่จะใช้แช่นํ้าและเหยียบให้เละ (ควรทำ ถังสำหรับแช่ไม่ควรตักน้ำรด เพราะจะชะล้างอาหารของเห็ดออกไป) หากมีการเติมปุ๋ยยูเรียหรือปุ๋ยน้ำประมาณร้อยละ 0.5-1 โดยนํ้าหนักของวัสดุแห้งได้ยิ่งดี แต่จากการทดลอง ถ้าเติมมูลไก่หรือมูลของสัตว์บกแห้งประมาณร้อยละ 2-3 โดยน้ำหนักของวัสดุแห้ง จะได้ผลผลิตสูงมาก จากนั้นนำมาอัดลงในไม้แบบให้แน่นสูงประมาณ 1- 1.5 ม. หมักทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน ก็นำไปใช้ได้เลย หรือจะทำการหมักเป็นกองสามเหลี่ยม สูงประมาณ 1 ม. ต่ออีก 1-2 วัน ได้ยิ่งดี เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยอาหารส่วนที่อยู่รอบข้างกองบ้าง

การหมักผักตบชวาหรือต้นกล้วย ใช้ได้ทุกส่วน แต่ต้องตากให้แห้งและสับให้ละเอียดเสียก่อน เมื่อจะนำไปใช้ให้นำไปชุบนํ้าให้โชก แล้วนำมากองเป็นรูปสามเหลี่ยมสูงประมาณ 1 เมตร หมักทิ้งไว้ 1 วัน ก็นำไปใช้ได้

จากการทดลองพบว่าไส้นุ่น ผักตบชวา ต้นกล้วยแห้งและสับละเอียดแล้ว มีอาหารอยู่ในรูปที่เห็ดฟางนำไปใช้ได้เลยจำนวนมาก ดังนั้น หากใช้วัสดุดังกล่าวเพาะอาจไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการหมักก็ได้ สามารถนำไปใช้ได้เลย แต่ต้องมีฟางหมักรองพื้นเสียก่อน สำหรับฟางหมักนั้นหมักเช่นเดียวกับฟางหมักที่ได้กล่าวมาแล้ว กล่าวคือจะต้องทำการหมักประมาณ 8-12 วันเสียก่อน ในการหมักฟางควรเติมมูลสัตว์ เช่น มูลไก่ มูลม้า มูลวัว หรือมูลควายแห้งอย่างใดอย่างหนึ่งประมาณร้อยละ 5-7 และดินร่วนปนทรายร้อยละ 10-15 โดยนํ้าหนักของฟางแห้งใส่เข้าไปด้วยในการหมักฟางครั้งแรก จะทำให้ได้ผลผลิตสูงมากขึ้น  การเพาะด้วยวิธีนี้ หลังจากหมักฟางได้ที่แล้วต้องเติมรำละเอียดและปูนขาว นำขึ้นชั้นเลี้ยงเชื้อรา แล้วอบฆ่าเชื้อเสียก่อน ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดในตอนต่อไป จากนั้นจึงเอาไส้นุ่น ผักตบชวาหรือต้นกล้วยชุบนํ้าปูทับผิวหน้าให้หนาประมาณ 2 -3 เซ็นติเมตร หรือโรงเรือนขนาด 4×6 ม. สูง 2.5 ม. ใช้ประมาณ 6 กระสอบ แล้วทำการโรยเชื้อเห็ด

การนำปุ๋ยหมักวางชั้น ปุ๋ยหมักทุกชนิดหลังจากหมักแบบอับอากาศแล้วจะต้องทำการหมักแบบมีอากาศต่อไปอีก เมื่อต้องการให้เชื้อราเปลี่ยนแปลงอาหารให้อยู่ในรูปที่เห็ดนำไปใช้ได้ การหมักแบบมีอากาศทำได้โดยการตีปุ๋ยหมักด้วยเครื่องตีหรือใช้มือฉีกปุ๋ยให้ร่วนซุย อย่าให้จับกันเป็นก้อน เติมรำละเอียดร้อยละ 3-5 ปูนขาว ร้อยละ 0.5 โดยน้ำหนักแห้งของวัสดุที่ใช้ (เช่นปุ๋ยหมักที่ทำจากฟางแห้ง 100 กก. เติมรำละเอียด 5 กก. เติมปูนขาว 0.5 กก. เป็นต้น) รำจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดเชื้อราซึ่งเป็นอาหารเห็ดอย่างรวดเร็ว

ใช้ฟางหมักปูบนชั้นให้หนาประมาณ 6-10 เซ็นติเมตรก่อน (ถ้าใช้ไส้นุ่น ผักตบชวา ต้นกล้วยที่ไม่ได้ผ่านการหมักเพาะ ควรปูฟางหนาประมาณ 10-15 เซ็นติเมตร) จากนั้นจึงใช้วัสดุหมักที่ย่อยง่ายสลายเร็วปูทับให้หนาประมาณ 3-5 เซ็นติเมตร โดยวางกระจายแบบหลวม ๆ อย่ากดปุ๋ยเป็นอันขาด

การเลี้ยงเชื้อรา

หลังจากนำปุ๋ยเข้าโรงเรือนแล้ว ให้รดน้ำบนปุ๋ยพอเปียกแต่อย่าโชก ซึ่ง อาจใช้บัวรดนํ้ารดผ่านเร็ว ๆ ก็พอระยะนี้จะเป็นการเปลี่ยนกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่ทำงานโดยไม่ใช้อากาศเปลี่ยนเป็นจุลินทรีย์พวกที่ใช้อากาศซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อรา แอคติโนมัยสิท ซึ่งจะเปลี่ยนธาตุอาหารที่เห็ดเอาไปใช้ไม่ได้ ให้อยู่ในรูปที่เห็ดสามารถเอาไปใช้ได้ การเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ภายในห้อง อากาศ ความชื้นและอาหาร อุณหภูมิจะต้องสูงประมาณ 40-50 องศาเซลเซียส ดังนั้น หลังจากรดนํ้าแล้วปิดประตูโรงเรือนไว้อย่างน้อย 36-38 ชั่วโมง ความร้อนจะค่อย ๆ เกิดขึ้นเองภายในโรงเรือนอันเนื่องจากจุลินทรีย์ย่อยอาหาร และปล่อยพลังงานออกมาในรูปความร้อน แต่ถ้าให้ดีหลังจากปิดประตูแล้ว ควรอบไอนํ้าให้ได้อุณหภูมิประมาณ 45 องศาเซลเซียสเสียก่อน แล้วจึงทิ้งไว้ 36 – 48 ชม. จะทำให้เกิดเชื้อราได้เร็วยิ่งขึ้น การคาดคะเนผลผลิตอาจทำได้จากการดูเชื้อราที่เกิดขึ้นหลังจาก 36-48 ชม. ถ้าเชื้อรามากเท่าไหร่ ก็จะได้ผลผลิตสูงมากยิ่งขึ้น

การอบฆ่าเชื้อรา

เมื่อทำการเลี้ยงเชื้อราครบตามกำหนดแล้ว จะต้องทำการอบฆ่าเชื้อราด้วยไอน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 63-67 องศาเซลเซียส(อย่าให้สูงหรือต่ำกว่านี้) อบนาน 2 ช.ม. เมื่อครบเวลาแล้วให้เปิดประตูหน้าต่างออก เพื่อระบายความร้อนอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งอุณหภูมิภายในโรงเรือนลดลงเหลือ 35-36 องศาเซลเซียส จึงทำการโรยเชื้อ การอบฆ่าเชื้ออาจจะอบให้ได้อุณหภูมิ 65-68 องศาเซลเซียส นาน 2-3 ชม. แล้วปล่อยให้เย็นเองโดยไม่ต้องเปิดประตูหน้าต่างก็ได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการอบฆ่าเชื้ออีกวิธีหนึ่งคือ อบที่อุณหภูมิ 54-58 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง แล้วเปิดประตูหน้าต่างเพื่อลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง จากนั้นทำการอบต่อให้อุณหภูมิสูง 62 -65 องศาเซลเซียส อีก 1-2 ชั่วโมง แล้วทิ้งให้อุณหภูมิลดลงเองเหลือ 35-38 องศาเซลเซียส จึงจะทำการโรยเชื้อเห็ด

การโรยเชื้อเห็ด

เชื้อเห็ดที่ใช้โรยทำจากปุ๋ยหมักหรือเมล็ดธัญพืชก็ได้ แต่ต้องเป็นเส้นใยที่ เพิ่งเจริญเต็มภาชนะบรรจุใหม่ ๆ เส้นใยหยาบ ๆ เห็นได้ชัด เป็นสีขาว กลิ่นหอม ไม่ฟู ขยี้เชื้อเห็ดให้ละเอียดแล้วโรยให้ทั่วผิวหน้า ใช้เชื้อเห็ด 1-2 ถุง (3 ขีด) ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร

การดูแลรักษาหลังจากโรยเชื้อ

เมื่อทำการโรยเชื้อเห็ดฟางเสร็จแล้วให้รีบปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ 3 วัน ในระยะนี้พยายามควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 34-38 องศาเซลเซียส อย่าให้ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส ถ้าต่ำกว่านั้น (มักพบในฤดูหนาว) ให้อบไอน้ำ ระยะนี้เส้นใย เห็ดจะเจริญเติบโตแทนเชื้อรา ลักษณะของเส้นใยในระยะนี้จะมีสีขาว ฟูประมาณ 2-  3 วัน เส้นใยของเชื้อเห็ดจะเจริญชอนไชเต็มปุ๋ย ที่สำคัญรองลงมาจากอุณหภูมิ คืออากาศ ระยะนี้ควรเปิดให้อากาศเข้าไปอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง ๆ ละ 5 นาที ซึ่งอาจจะทำได้ โดยการเปิดพัดลมดูดอากาศเข้า พร้อมทั้งทำให้อากาศหมุนเวียน หากไม่มีพัดลมให้ใช้วิธีเปิดช่องระบายอากาศก็ได้

เมื่อเส้นใยเห็ดเดินเต็มปุ๋ยหมักแล้ว เส้นใยจะยุบตัวลง ซึ่งเป็นระยะสะสม อาหารเพื่อนำไปใช้ในการสร้างดอก จะอยู่ในระหว่างวันที่ 4-5 นับตั้งแต่โรยเชื้อเห็ด ระยะนี้ให้ลดอุณหภูมิลงเหลือประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส ด้วยการเปิดช่องระบายอากาศ (ไม่ควรใช้พัดลม) แล้วรดน้ำข้างโรงเรือนเพื่อทำการลดอุณหภูมิลง เส้นใยเห็ดจะยุบตัวลงและเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีนํ้าตาลอ่อน พอเส้นใยเห็ดยุบ ให้ตรวจดูความชื้นบนผิวของปุ๋ยหมัก หากเห็นว่าแห้งให้ใช้เครื่องพ่นฝอย (สเปรย์) รดนํ้าพร้อมทั้งเติมปุ๋ยยูเรียลงไปด้วย อัตราส่วนน้ำ 1 ปีบ เติมยูเรียประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ ดีเกลือครึ่งช้อนชา และปุ๋ยดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟต 1 ช้อนชารดผ่านผิวหน้าเร็ว ๆ

หลังจากเส้นใยทรุดตัวลงประมาณ 2 วัน คือวันที่ 5 หรือ 6 ให้เปิดแสง สว่างหรือแง้มประตูให้แสงสว่างเข้า และพยายามอย่าให้อากาศภายในโรงเรือนเคลื่อนไหว เพราะต้องการให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ผิวหน้าปุ๋ยมาก ๆ จะทำให้เส้นใยรวมตัวกันเพื่อสร้างดอกเร็วยิ่งขึ้น เส้นใยจำนวนมากจะรวมตัวกันเพื่อสร้างดอก ควรเปิดแสงไว้จนกระทั่งเส้นใยเห็ดรวมตัวกันเป็นดอกมากพอสมควรแล้วจึงงดให้แสง เพราะถ้าเปิดแสงต่อจะทำให้เกิดดอกเห็ดมากเกินไปและดอกเห็ดจะมีสีดำ หลังจากได้ดอกเห็ดเพียงพอแล้ว ควรทำอากาศให้หมุนเวียนบ่อย ๆ พร้อมดึงดูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไปด้วยวันละ 5-6 ครั้ง ๆ ละ 5 นาที ควบคุมอย่าให้อุณหภูมิสูงเกิน 32 องศาเซลเซียส ดอกเห็ดจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าหากผิวหน้าแห้งให้รดน้ำโดยใช้ เครื่องพ่นฝอย พ่นน้ำพร้อมยูเรีย แต่ควรใส่ยูเรียมากกว่าเดิมอีก 1 เท่า การพ่นอย่าให้ละอองนํ้าจับกันเบนหยดน้ำ

ถ้าต้องการให้ดอกเห็ดโต น้ำหนักดี และดอกขาวให้ทำการอบไอนํ้าใน เวลากลางคืนช่วงที่อุณหภูมิบรรยากาศตํ่าที่สุดประมาณ 2.00-4.00 น. ให้ได้อุณหภูมิสูงประมาณ 32 – 34 องศาเซลเซียส ก็จะได้ดอกเห็ดตรงตามต้องการ ทั้งนี้เพราะระยะเวลาดังกล่าวอุณหภูมิมักตํ่าเกินไปทำให้เห็ดหยุดการเจริญเติบโต

การเก็บดอกเห็ด

ดอกเห็ดที่โตเต็มที่จะมีลักษณะเต่งตึง ปลอกหุ้มขยายตัวเต็มที่ ระยะนี้ควรเก็บได้แล้ว ไม่ควรทิ้งไว้ให้บาน เพราะจะช้ำง่าย และราคาจะถูก หลังจากเก็บดอกเห็ดแล้วให้ใช้มีดตัดโคนดอกที่มีเศษปุ๋ยติดออกมาด้วย เก็บไว้ที่เย็น ๆ ในห้องปรับอากาศได้ยิ่งดี เพราะถ้าเก็บในที่ร้อนอบอ้าวจะทำให้ดอกเห็ดบานเร็วขึ้น

การเพาะครั้งหนึ่ง ผลผลิตที่ได้ไม่ควรให้ต่ำกว่า 60 กก. ต่อการเพาะ 1 ครั้ง

ในการทดลองเพิ่มผลผลิต ปรากฏว่าหลังจากเก็บผลผลิตหมดแล้วให้เก็บ เศษเห็ดที่เหลือออกให้หมด แล้วใช้ปุ๋ยหมักที่หมักแบบอับอากาศผสมรำละเอียดและปูนขาว ผสมกับดินร่วนปนทรายประมาณร้อยละ 20 โดยน้ำหนัก เพิ่มลงไปอีกครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ใช้ครั้งแรก ปูทับใหม่อีก เลี้ยงเชื้อรา 1-2 วัน แล้วจึงทำการอบไอนํ้าฆ่าเชื้อ ตลอดจนดูแลรักษาเหมือนเดิม จะทำให้ได้ผลผลิตอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งปริมาณของผลผลิตจะเท่ากับผลผลิตครั้งแรก หรือลดลงไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น