ประโยชน์ของมังคุด

มังคุด
ชื่อภาษาอังกฤษ mangosteen
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia mangostana Linn.
ชื่ออื่นๆ มังกุสตาน manggustan(มลายู) มังกีส(อินโดนีเซีย) มิงกุทธี(พม่า) มังกุส(สิงหล)
มังคุดมีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะซุนดาและหมู่เกาะโมลุกะ เมื่อราวศตวรรษที่ 24 ได้มีการแพร่กระจายไปสู่หมู่เกาะอินดีสตะวันตก กัวเตมาลา ฮอนดูรัส ปานามา เอกวาดอร์ และฮาวาย
มังคุดจัดเป็นพันธุ์ไม้เขตร้อนชนิดหนึ่ง ในพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ สมัยรัชกาลที่ 1 ก็ได้มีการกล่าวถึงมังคุด ชื่อวังที่เคยตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลศิริราชก็มีชื่อว่า “วังสวนมังคุด” ราชทูตจากศรีลังกาที่เข้ามาของพระสงฆ์ไทยก็ได้กล่าวไว้ในจดหมายเหตุว่า ผลไม้ชนิดหนึ่งที่นำออกมารับรองคณะทูตก็คือ มังคุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในประเทศไทยก็มีการปลูกมังคุดกันมาช้านานแล้ว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มังคุดเป็นไม้ยืนต้น มีลำต้นสูงประมาณ 10-12 เมตร ใบเป็นลักษณะใบเดี่ยว เนื้อใบหนาและเหนียว บริเวณหลังใบจะมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบจะมีสีที่อ่อนกว่า ทุกส่วนของต้นมังคุดจะมียางสีเหลือง ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศหรือแยกเพศ ออกเป็นคู่หรือเดี่ยวๆ บริเวณซอกใบปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงมีลักษณะสีเขียวอมเหลืองติดอยู่จนกลายเป็นผล กลีบดอกเป็นสีแดงมีลักษณะฉ่ำน้ำ ลักษณะผลสด รูปร่างค่อนข้างกลม เมื่อยังเป็นผลอ่อนอยู่เปลือกด้านนอกจะค่อนข้างแข็งมีสีเขียว และจะกลายเป็นสีม่วงแดงเมื่อแก่เต็มที่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 4-6 เซนติเมตร เนื้อในผลมีลักษณะฉ่ำน้ำสีขาว ขนาดผลที่โตและมีอายุผลนานมักพบมีเมล็ดอยู่ในเนื้อผลนั้น เนื้อผลด้านในจะมีจำนวนกลีบเท่ากลับกลีบดอกด้านล่างเปลือก
ส่วนของเนื้อผลมังคุดพัฒนามาจากเปลือกหุ้มเมล็ด มีสีขาว กลิ่นหอม ส่วนแถบสีเข้มล่างสุดของผลพัฒนามาจากปลายยอดเกสรตัวเมีย จำนวนจะเท่ากับเมล็ดภายในผล การเพาะเมล็ดมังคุดจะต้องให้ได้รับความชื้นอยู่ตลอดจึงจะงอกออกมาได้ เมื่อเมล็ดออกมาจากผลก็จะงอกได้ทันทีแต่เมื่อแห้งลงก็จะตายทันทีเช่นกัน

มังคุดมีอยู่เพียงพันธุ์เดียว คือพันธุ์พื้นเมือง แต่อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไปได้ถ้าปลูกในบริเวณที่ต่างกัน เช่นมักพบว่ามังคุดที่ปลูกในภาคกลางมักจะมีผลเล็ก เปลือกบาง ขั้วยาว แต่ในทางภาคใต้จะพบว่ามีผลที่ใหญ่ เปลือกหนา และขั้วผลสั้น
ประโยชน์ของมังคุด

มังคุดได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีของผลไม้” เพราะเป็นผลไม้ของเอเชียที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื้อมังคุดสามารถนำมาประกอบอาหารทั้งคาวหวานได้ไม่ว่าจะเป็น แกง ยำ ลอยแก้ว แยม กวน แช่อิ่ม แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะนิยมรับประทานผลสุกกัน เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัย ช่วยบำรุงผิวพรรณ สามารถป้องกันอาการไข้ต่ำๆ ได้ ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ให้ความกระปรี้กระเปร่าเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวไม่ให้มีการเติบโต มีฤทธิ์ต้านสิวอักเสบ ช่วยลดความเครียดและป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าได้ด้วย

หากต้องการเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดีและอารมณ์ดีอยู่เสมอก็ควรรับประทานมังคุดเป็นประจำ ในเนื้อมังคุดยังมีเส้นกากใย วิตามินและเกลือแร่อยู่สูง เช่น กรดอินทรีย์ น้ำตาล แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก ซึ่งจะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยป้องกันการเกิดเนื้องอก มีคุณสมบัติในการลดและควบคุมระดับน้ำตาลจึงสามารถป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้อีกด้วย

ในเปลือกของมังคุดมีสารแทนนิน แซนโทน และแมงโกสติน ซึ่งเป็นสารที่มีรสฝาด ช่วยในการสมานแผลให้หายเร็ว ลดอาการอักเสบ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง ในตำรับยาแผนโบราณจะใช้เปลือกมังคุดเป็นยาสมุนไพร โดยนำเปลือกมังคุดที่ตากแห้งต้มกับน้ำ ใช้แก้อาการท้องเสีย หรือนำมาย่างไฟแล้วฝนกับน้ำปูนใส ใช้รักษาแผลเปื่อย น้ำกัดเท้า ในประเทศมาเลเซีย ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประมีการใช้เปลือกผลมังคุดแห้งเพื่อรักษาแผลเปิด ส่วนในด้านการเกษตรเปลือกมังคุดก็มักถูกนำไปใช้ในการหมักปุ๋ย เนื่องจากมีสารป้องกันเชื้อราที่เหมาะสม

น้ำมังคุดจะทำให้เกิดการหลั่งสาร Interleukin I และ Tumor Necrosis Factor เมื่อบริโภคเข้าไป จะทำให้ร่างกายเกิดการปรับสมดุลของระดับภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการหลั่งสารฮีสตามีน ลดอาการแพ้ภูมิตนเองในผู้ป่วยโรค SLE ช่วยลดระดับการอักเสบในผู้ป่วยเบาหวาน ตับเสื่อม ไตวาย ความดันโลหิตสูง ข้อเข่าอักเสบ ไทรอยด์เป็นพิษ พาร์กินสัน และความผิดปกติของสมอง

มังคุดมีพลังงานและแคลอรี่อยู่น้อยแม้จะมีรสชาติหวานก็ตาม จึงไม่ทำให้อ้วน แต่ในทางตรงกันข้ามมังคุดจะช่วยในการลดความอ้วนเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากมีเส้นใยสูง ทำให้การขับถ่ายสะดวก ไม่ทำให้ท้องอืด ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ได้เป็นอย่างดี

สารสกัดจากเปลือกด้านในของมังคุดคือ สารแซนโทน(Xanthones) ออกฤทธิ์ในการสมานแผล ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ รักษาเซลล์มะเร็ง ฆ่าเชื้อโรคทางเดินระบบหายใจที่ร้ายแรง สามารถใช้ยับยั้งเชื้อ HIV บางตัวได้

การดูแลสุขภาพในปัจจุบันมีวิธีการที่หลากหลาย มีวิธีหนึ่งที่นิยมกันก็คือการเอามังคุดมาต้มหรือนึ่งเพื่อให้ได้รับสารที่อยู่ในเปลือกมังคุดอย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีผิวพรรณที่ดี และสามารถป้องกันโรคได้สารพัด ซึ่งการวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ก็เป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้เองเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาสุขภาพ

น้ำหมักจากเปลือกมังคุดมีประโยชน์หรือไม่
หลายคนมีความเชื่อเรื่องคุณประโยชน์ในเปลือกมังคุด เพราะมีสารแซนโทนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงนิยมรับประทานน้ำหมักจากเปลือกมังคุดกัน แม้แต่ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ก็ยังสกัดสารนี้ไปผสมอยู่ ผู้บริโภคไม่ควรหลงเชื่อการโฆษณาที่เกินความจริง เพราะยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่แน่ชัด แม้ว่าสารในมังคุดจะช่วยป้องกันและรักษาอาการต่างๆ ได้มากมายก็ตาม

ส่วนในเมล็ดมังคุดนั้นมีกรดที่ชื่อว่า ไลโนเลอิก อยู่ ซึ่งเป็นกรดที่ร่างกายต้องการและสร้างขึ้นเองไม่ได้ หากรับประทานมังคุดแล้วเคี้ยวเมล็ดกลืนไปด้วยก็จะได้รับประโยชน์จากกรดนี้ ไม่มีอันตราย แต่อาจมีรสฝาดเท่านั้น ซึ่งในบางประเทศก็นิยมนำเมล็ดมังคุดมาต้ม หรือคั่วกินกันเป็นของว่าง
แม้ว่ามังคุดจะมีประโยชน์และสรรพคุณมากมายแต่ก็ยังขาดข้อมูลในการสนับสนุนว่ามังคุดจะสามารถรักษาอาการต่างๆ ได้จริง เพราะพบว่าในบางคนมีอาการที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น เช่น อาการบวมแดงหรือผื่นคันของผิวหนัง ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ลำไส้แปรปรวน ถ่ายเหลว ท้องเสีย เป็นต้น

นอกจากนี้ หากร่างกายได้รับสารแทนนินมากเกินไปอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้เกิดพิษต่อตับ ไต เกิดเป็นมะเร็งร่องแก้ม มะเร็งทางเดินอาหารส่วนบน ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง
ดังนั้นจึงควรรับประทานในปริมาณที่พอดี รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เลือกรับประทานผลไม้ที่มีอยู่หลากหลาย ไม่ควรรับประทานชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไปจนกลายเป็นโทษ