การเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ทางเกษตร

เราปลูกพืชก็เพื่อหวังผล  ดังนั้นเมื่อถึงเวลาอันสมควรเราก็ต้องทำการเก็บเกี่ยวพืชผลที่เราปลูก  เนื่องจากพืชพรรณที่ปลูกมีมากมายหลายชนิด  ดังนั้นเวลาที่จะเก็บเกี่ยวจึงแตกต่างกันไปตามชนิดของพืชและวัตถุประสงค์ของผู้บริโภค เช่น

ชนิดของพืชที่ปลูก ลักษณะและช่วงเวลาที่ควรเก็บเกี่ยว
ผักคะน้า 45-50 วัน หลังจากเพาะเมล็ด หรือขณะที่ดอกยังไม่บาน
ผักคะน้า(ฉีดยาดีลดริน) ควรเก็บหลังจากฉีดยาอย่างน้อย 15 วัน
กะหล่ำปลี 60-90 วัน นับจากวันย้ายปลูก ลักษณะหัวแน่นใส เคาะดู จะมีเสียงแน่นและหนัก
กะหล่ำปม 40-60 วันหลังจากย้ายปลูก ปมโตเต็มที่ สีเขียวอ่อน ยังไม่แตกและซีด
แตงกวา 30-45 วัน นับจากปลูก ผลยังอ่อนและมีหนามอยู่
ถั่วลันเตา 45-60 วัน ขณะที่ฝักยังอ่อนเมล็ดไม่แก่
ถั่วฝักยาว 50-60 วัน หลังจากปลูกขณะที่ฝักยังไม่แก่
ผักบุ้งจีน 25-35 วัน ขณะที่ต้นยังอ่อนอยู่ ยาวไม่เกิน 1 ฟุต
หอมแบ่ง 50 วัน หลังจากปลูก ขณะที่ต้นเขียวสดอ่อน หัวยังไม่พอง
ผักกาดหอม 40-50 วันหลังจากเพาะเมล็ด ขณะยังอ่อนและไม่ออกดอก
ผักกาดเขียวปลี 60 วัน จากเพาะเมล็ด ขณะที่ก้านใบอวบอ้วนยังไม่มีดอก
ผักกาดขาวปลี 55-70 วันหลังจากเพาะเมล็ด ขณะที่ดอกยังไม่บาน และกำลังห่อปลีแน่นขาว
ผักกาดเขียว-ขาวกว้างตุ้ง 35-45 วันจากวันปลูก ลำต้นอวบ ดอกยังไม่บาน
บวบเหลี่ยม 50-60 วันหลังปลูก ขณะที่ผลยังอ่อนอยู่เมล็ดยังไม่แข็ง
กะหล่ำดอก 60-90 วันนับจากวันย้ายปลูก หัวมีสีครีมอ่อน แน่นและเรียบ
ผักกาดหัว 50-70 วันหลังปลูก หัวยังไม่ฟ่าม ต้นยังไม่ออกดอก
มะเขือเทศ 60-80 วันนับจากย้ายปลูก ขณะที่ผลกำลังแก่เรื่อๆ
กระเทียม 100-120 วันนับจากวันปลูก ขณะที่ต้นและใบแห้ง
แตงโม 80-120 วันหลังจากปลูก เก็บขณะที่มือแห้ง
ข้าวจ้าว กข.1 130 วัน
ข้าวจ้าว กข.3 128 วัน
ข้าวจ้าว กข.7 125 วัน
ข้าวปิ่นแก้ว 56 29 ธันวาคม
ข้าวพวงไร่ 2 6 กุมภาพันธ์
ข้าวนางพญา 132 16 กุมภาพันธ์
ข้าวเผือกน้ำ 43 22 กุมภาพันธ์
ข้าวโพดหวาน 55-65 วัน ขณะที่ยังฝักอ่อนอยู่
ข้าวโพดทำอาหารหมัก เมื่อฝักเริ่มเป็นน้ำนม ความชื้นของต้นประมาณ 65-70%
ธัญญพืชอื่น ๆ ควรเก็บเมื่อ 6-7 วัน ก่อนสุกเต็มที่หรือเมื่อมีความชื้น 14-15%
ถั่วเขียว ถั่วลิสง เมื่อฝักแก่เต็มที่ ต้นเริ่มแห้ง

หลักของการเก็บเกี่ยวธัญญพืช

เมล็ดธัญญพืชจะหยุดการเจริญเติบโต  เมื่อเข้าระยะที่สร้างแป้งได้เต็มเมล็ด และเมล็ดมีลักษณะแน่นแข็ง  ในขณะนี้เมล็ดจะมีความชื้นประมาณ 40% หรือน้อยกว่า สำหรับข้าว เกษตรกรควรเก็บเกี่ยวเมื่อข้าวสุกหรือเมื่อ 80% ของเมล็ดในรวงมีสีน้ำตาล (สีฟาง) และความชื้นของเมล็ดข้าวอยู่ระหว่าง 25-27% นอกจากนี้เกษตรกรก็ควรไขน้ำออกให้พื้นดินแห้ง ก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 10 วัน เพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว และการใช้เครื่องมือ

การเก็บเกี่ยวธัญญพืชก่อนกำหนด มีผลเสียหายหลายประการ เช่น ผลผลิตลดลง อาจเกิดโรคราสนิม เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ คุณค่าทางอาหารก็ต่ำลงด้วย แต่การเก็บเกี่ยวที่ช้าเกินไปก็มีข้อเสียหลายประการเช่น เมล็ดข้าวร่วงหล่น ต้นข้าวหักล้ม ข้าวงอกในนา คุณภาพข้าวต่ำลง นก หนู เข้ามากิน ทำให้คุณภาพและปริมาณลดลง การเก็บเกี่ยวข้าวปัจจุบันนี้ทำกันหลายวิธี เช่น การใช้แกระ เพื่อเก็บข้าวทีละรวงแล้วมัดเป็นเลียง ๆ การเก็บเกี่ยวด้วยเคียวซึ่งนิยมมากในภาคกลางและภาคอื่น ๆ ส่วนภาคใต้ยังไม่แพร่หลาย  การเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักรมักเป็นงานของหน่วยราชการ  แลสถานีทดลองข้าวต่าง ๆ วิธี่นี้ยังไม่เหมาะแก่สภาพของชาวนาไทยทั่ว ๆ ไป

ข้าวที่เก็บมาแล้ว  จะต้องรีบทำให้แห้งหรือนวดและตากให้ข้าวเปลือกมีความชื้นประมาณ 13-14% ก่อนที่จะเก็บเข้ายุ้งฉางต่อไป การนวดข้าวในเมืองไทย อาจใช้แรงคน (เท้าถีบหรือฟาดด้วยมือ) ใช้แรงสัตว์ (ให้ควายนวด) หรือใช้แรงเครื่องจักร (เครื่องนวดข้าวแบบต่าง ๆ) ข้าวหรือธัญญพืชอื่นๆ ที่ยังไม่แห้งสนิทควรจะต้องทำให้แห้งเสียก่อนโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น

1.  ใช้แสงแดด  ซึ่งเป็นวิธีการประหยัดที่สุด

2. ใช้ลมธรรมดา  โดยใช้พัดลมเป่าผ่านเมล็ดประมาณ 1-4 อาทิตย์

3.  ใช้ลมร้อน  วิธีนี้สะดวกและรวดเร็ว แต่เป็นวิธีที่สิ้นเปลือง เพราะต้องใช้ตะเกียง(เตา) และพัดลมเพื่อส่งความร้อนเข้าไปอบเมล็ด อุณหภูมิที่ใช้อบเมล็ด ควรอยู่ระหว่าง 43°ซ. (สำหรับเมล็ดพันธุ์) 55°ซ. (สำหรับเมล็ดที่ทำแป้ง) และ 82°ซ. (สำหรับเมล็ดที่จะเป็นอาหารสัตว์)

ข้าวหรือข้าวโพดก็ดี ก่อนที่จะเก็บขึ้นฉาง ควรผึ่งแดดให้แห้งสนิท (ความชื้น 13-14% ) ควรทำความสะอาดและคัดข้าวเมล็ดลีบไปให้หมด อย่าให้มีกรวด หิน ทราย ปะปนอยู่ ยุ้งฉางหรือโรงเก็บจะต้องมีฐานรอง ระบายอากาศได้ดี โรงเก็บต้องสะอาด อย่าให้ข้าวหรือข้าวโพดถูกน้ำและฝน อย่าให้มีรา และแมลงปะปน เพราะราและแมลง จะทำให้เมล็ดร้อนขึ้นเนื่องจากการคายคาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำและความร้อนออกมา ถ้าเมล็ดถูกรารบกวนจะทำให้มีสารพิษเกิดขึ้นชื่อ อะฟลาท๊อกซิน(Aflatoxin) สารพิษชนิดนี้เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์อย่างมาก นอกจากนั้นต้องป้องกันอย่าให้เมล็ดมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว หรือเกิดกลิ่นไหม้เพราะเมล็ดมีความร้อนภายใน การรักษาโรงเก็บให้สะอาดเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ถ้าจำเป็นจะต้องล้างพื้น ฉีดพ่นฝาผนัง ก็ขอแนะนำให้ใช้ มาลาไธออนหรือลินเดน ขนาด 2% หรือ ยาเมธท๊อกซิคลอ 2.5% ฉีดพ่นตามพื้น ฝาผนัง ซอกมุมให้ทั่วก่อนเก็บเมล็ดข้าว แต่ถ้าถูกแมลงรบกวน (เช่น ด้วงมอด ฯลฯ)เราสามารถแก้ไขได้ 2 วิธีคือ การอบความร้อนที่ 54-60°ซ. นาน 30 นาที แมลงจะตายหมด หรือจะใช้ยารมเช่นใช้ เมทธิล โบรไมด์ หรือ คาร์บอนเตตร้าคลอไรด์ หรือส่วนผสมของคาร์บอนเตตร้าคลอไรด์ และคาร์บอนไดซัลไฟด์ (80:20%) ก็ได้  แต่ต้องมีผ้าพลาสติคหุ้มให้มิดชิดแล้วจึงทำการรมยาดังกล่าว