มะเขือหยกภูพาน มะเขือใหญ่ยักษ์สายพันธุ์ลาว

มะเขือหยกภูพาน เป็นมะเขือเปราะที่มีขนาดใหญ่มากเป็นพิเศษ หากเทียบกับขนาดมะเขือเปราะโดยทั่วไป จึงทำให้ถูกเรียกว่า มะเขือใหญ่ หรือ มะเขือยักษ์ สำหรับที่มาของสายพันธุ์มะเขือหยกภูพานนี้ มาจากประเทศลาว โดยเมื่อประมาณปี 2548 เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิต จังหวัดสกลนคร ได้ทดลองนำเข้ามาเพาะปลูกในประเทศไทย และประสบความสำเร็จในการเพาะต้นมะเขือชนิดนี้เป็นอย่างดี

มะเขือหยกภูพาน เป็นพืชที่ชอบอากาศค่อนข้างหนาว เกษตรกรจึงนิยมปลูกกันในช่วงเดือนพฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวผลของมะเขืออย่างเต็มที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ผลของมะเขือเปราะหยกภูพาน โดยเฉลี่ยจะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 0.5 – 2 กิโลกรัม ให้คุณค่าทางอาหารสูง เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี ธาตุเหล็กและแคลเซียม สามารถนำไปทำอาหารรับประทานได้หลายอย่าง แต่ที่นิยมกันมาก คือ นำไปจิ้มน้ำพริก และนำไปแกง – เมนูที่แนะนำกันมาอีกอย่างหนึ่ง คือ ชุปแป้งทอด (ฝานเป็นชิ้นเล็กๆแล้วชุปแป้งทอด อย่างไปทอดทั้งลูกละ 555)

ด้วยขนาดที่ใหญ่จนเป็นที่ประหลาดใจเมื่อเทียบกับมะเขือเปราะทั่วไปที่พบเห็นในท้องตลาด ทำให้มีหลายคนสงสัยว่า มะเขือหยกภูพานเป็นพืชตัดต่อพันธุกรรม GMOs หรือไม่? เรื่องนี้ได้มีการนำไปทดสอบกันแล้ว ผลปรากฏว่ามะเขือใหญ่หยกภูพาน ไม่ใช่พืช GMOs อย่างแน่นอน

วิธีการปลูกมะเขือหยกภูพาน

1. เพาะเมล็ดในถาดเพาะ จนกระทั่งมะเขือแทงยอดขึ้นมาจากดินให้เริ่มนับเป็นวันที่ 1 เมื่อได้ระยะเวลาประมาณ 20-30 วัน ให้ย้ายมะเขือที่เพาะลงแปลงปลูก

2. ให้ขุดหลุมสำหรับปลูกมะเขือแต่ละต้นลึกประมาณ 20 เซ็นติเมตร นำดินคลุกกับปุ๋ยรองก้นหลุมไว้ จากนั้นจึงนำมะเขือลงปลูก

3. รดน้ำในช่วงเช้า และเย็น ของทุกวัน เนื่องจากมะเขือเปราะเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่อย่ารดให้เยอะจนเกินไปในแต่ละครั้ง เพราะจะเป็นสาเหตุให้รากของต้นมะเขือหยกภูพานเน่าได้

4. เมื่อครบ 15 วันที่นำลงแปลงปลูก ให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ที่บริเวณโคนต้น สักประมาณ 1 กำมือ

5. ประมาณ 45 วันหลังจากนำลงแปลงปลูก มะเขือหยกภูพานจะเริ่มออกช่อดอก และเมื่อถึง 60 วัน ผลมะเขือก็จะเริ่มโตขึ้นประมาณ 1 คืบ

6. เมื่อครบ 90 วัน ผลมะเขือหยกภูพานที่ปลูก ก็จะโตเต็มที่ สามารถเก็บไปรับประทาน หรือ จำหน่ายได้ ตามต้องการ

ปล. ที่ประเทศลาวเรียกมะเขือชนิดนี้ว่า มะเขือใหญ่ ส่วนชื่อไทยที่เรียกว่าหยกภูพานนั้น เพราะมีสีเขียวเหมือนหยก และเริ่มนำมาเพาะพันธุ์ครั้งแรกในประเทศไทย ที่ จ.สกลนคร จึงนำเอาชื่อ เขาภูพาน ในจังหวัดสกลนคร มารวมเข้าด้วยกัน