หญ้าแซ่ม้าฤทธิ์ทางยา


ชื่อ
จีนเรียก    ถิแบปี ฮวงแก้เช่า เล่งแง่เช่า Verbena officinalis L.

ลักษณะ
ชอบขึ้นในทุ่งใกล้ป่า ริมทาง ที่ว่างในบ้าน เป็นพืชล้มลุกขึ้นอยู่หลายปี ลำต้นเป็นเหลี่ยมเรียวเล็กขึ้นสูงประมาณ 2-3 ฟุต มีขนแข็งรอบต้น ใบคู่ รูปกลมบ้าง เป็นแฉกบ้าง ยาวประมาณ 1-2 นิ้ว ปลายแหลม ขอบใบไม่เป็นระเบียบ เอ็นหลังใบเด่น ก้านดอกบ้างก็ออกจากโคนใบ ดอกออกเป็นรวง ยาว 8-9 นิ้ว ไม่มีก้านดอกเพราะดอกเกิดจากก้านใบโดยตรง ดอกเป็นกลีบแยก สีนํ้าเงินบ้าง สีม่วงบ้าง ออกลูกเป็นเมล็ด

รส
ขมนิดๆ ธาตุเย็น ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
สามารถละลายเลือดที่ห้อจับในร่างกาย แก้บวม ขับปัสสาวะ ใช้ภายนอกแก้บวม ฆ่าตัวเชื้อโรค ฤทธิ์เข้าถึงตับ

รักษา
ฟกช้ำดำเขียว ห้อเลือด แก้ปวดบวม ตับอักเสบ ตาเจ็บตาบวม เจ็บคอ ผู้หญิงระดูไม่มาตามปกติ แก้อักเสบในหู เด็กเป็นตาลขโมย ผิวหนังเกิดตุ่มคัน

ตำราชาวบ้าน
1. ถูกตีฟกช้ำดำเขียว – หญ้าแซ่ม้า 1 ตำลึง ตำแหลกตุ๋นเหล้ารับประทาน ส่วนกากใช้พอกที่เจ็บ
2. ลูกอัณฑะเจ็บปวดบวม – หญ้าแซ่ม้าและโทงเทง  อย่างละ 1 ตำลึง ต้มใส่กวยแชะหรือใช้หญ้าแซ่ม้า ตำแหลก พอกก็ได้
3. ตับอักเสบ – หญ้าแซ่ม้า หญ้าดีหมี  นั่งยี่เช่า อย่างละครึ่งตำลึง ต้มกับผักโหมลาย 1 ตำลึง และพระจันทร์ครึ่งซีก 3 เฉียน รับประทาน
4. ตาเจ็บบวมตาแดง – หญ้าแซ่ม้า ครึ่งตำลึงต้มกับไข่ไก่ ใส่นํ้าตาลแดง รับประทาน
5. เจ็บคอ – หญ้าแซ่ม้า 1 ตำลึง ต้มกับน้ำตาลแดง
6. ปวดในหู(หูอักเสบ)-หญ้าแซ่ม้า ตำแหลกเอาน้ำหยอดหู
7. ผู้หญิงระดูไม่มา – หญ้าแซ่ม้า เอิยะบ๋อเช่า  อย่างละ 2 ตำลึง ตำแหลกเอาน้ำผสมเหล้ารับประทาน หรือเอารากหญ้าแซ่ม้า 1 ตำลึง ต้มรับประทาน
8. เด็กเป็นตาลขโมย-หญ้าแซ่ม้า 3 เฉียน ต้มเนื้อสันหมู รับประทาน
9. เด็กผิวหนังเป็นผื่นคันเพราะธาตุนํ้ามาก-หญ้าแซ่ม้า กะเม็งตัวผู้
ต้มน้ำอาบ

ปริมาณใช้
สดใช้ไม่เกิน 1 ตำลึง แห้งไม่เกินครึ่งตำลึง

ข้อควรรู้
ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอแรงน้อย ไม่ควรรับประทาน หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช