การเพาะเลี้ยงอาหารธรรมชาติของสัตว์น้ำ

อาหารธรรมชาติที่ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ใช้เป็นอาหารนั้น อาหารธรรมชาติขนาดเล็กจะมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการใช้เป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเฉพาะในระยะที่สัตว์น้ำวัยอ่อนนั้นอยู่ในขั้นที่ถุงไข่เพิ่งจะยุบ ทั้งนี้อาหารธรรมชาติขนาดเล็กนี้จะมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนพอกับความต้องการของสัตว์น้ำวัยอ่อน ในการที่จะพัฒนารูปร่างให้เป็นแบบเดียวกับพ่อแม่ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติในบ่อดินหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่จะขึ้นอยู่กับปริมาณแร่ธาตุชนิดต่างๆ และแสงอาทิตย์ประกอบด้วยกัน ในปัจจุบันนี้เราสามารถเพาะเลี้ยงอาหารธรรมชาติทั้งชนิดที่เป็นพืชและสัตว์ได้ในสถานที่ต่างๆ กันได้ในปริมาณมาก และทันตามความต้องการ เพื่อชิ่ในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน

การเพาะเลี้ยงไรแดง

ไรแดง เป็นอาหารธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยเฉพาะสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่นิยมเลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น ปลาดุกอุย ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาบู่ ลูกกุ้งก้ามกราม ฯลฯ ไรแดงมีบทบาทสำคัญในการใช้เป็นอาหารธรรมชาติที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนดังกล่าวให้มีอัตรารอดและเจริญเติบโตสูง ในปัจจุบันไรแดงที่เกิดขึ้นตามแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งชุมชนต่างๆ ซึ่งเคยมีมากมายได้มีปริมาณลดลง จงได้มีการหาวิธีการเพาะเลี้ยงไรแดงโดยวิธีต่างๆ เพื่อให้ได้ไรแดงเพียงพอกับความต้องการของฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งกำลังเป็นการเลี้ยงแบบที่กลายเป็นอาชีพที่สำคัญอย่างหนึ่งในปัจจุบัน

ชีววิทยาที่น่ารู้บางประการของไรแดง

ไรแดงเป็นสัตว์น้ำจำพวกไม่มีกระดูกสันหลังหรือที่เรียกกันว่า พวก Crustacean มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Moina macrocopa (Straus) มีขนาด 0.4-1.8 มม. ตัวมีสีแดงเรื่อๆ ถ้าอยู่รวบกันจำนวนมากจะเห็นเป็นสีแดงชัดเจน ไรแดงเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ ลำตัวอ้วนเกือบกลม มีขนาดเฉลี่ย 1.25 มม. ส่วนเพศผู้ตัวเล็กและค่อนข้างยาวกว่า มีขนาดเฉลี่ย 0.6 มม. ตัวอ่อนที่ออกมาจากถุงไข่ หรือช่องฟักไข่ (brood chamber) ของแม่ใหม่ๆ มีขนาด 0.5 มม. ลักษณะทั่วๆ ไป ส่วนหัวกว้าง มีตารวมขนาดใหญ่ มีแอ่งที่ซอกคอ (Cervival sinus) หนวดคู่แรกมีขนาดใหญ่สั้นไม่แบ่งเป็นปล้อง ตรง ปลายมีขนเล็กๆ 5-6 เส้น ตรงเกือบกึ่งกลางหนวดมีขนรับความรู้สึก (sense hair) 1 เส้น หนวดคู่ที่ 3 มีขนาดใหญ่ ตรงปลายแบ่งเป็น 2 แขนง แต่ละแขนงมี 3 ปล้อง ขนาดเท่าๆ กัน ส่วนฝาด้านท้องมีหนามเล็กๆ ที่ post abdomen มีหนามเรียงกันเป็นแถว 9 อัน อันแรกที่อยู่ใกล้ฐานของ post abdom spine มีขนาดใหญ่ ปลายแยกออกเป็น 2 แฉก เรียก bident ไรแดงเพศผู้ ขาคู่แรกมีลักษณะงอเป็นตะขอ (hook) ส่วนหนวดคู่แรกมีขนาดเล็กและยาวกว่าเพศเมีย ตรงปลายที่มีขนเล็กๆ จะมีตะขอเล็กๆ อยู่ประมาณ 4-5 ตัว

ไรแดงมีการสืบพันธุ์อยู่ 2 แบบ คือ แบบไม่อาศัยเพศ (parthenogenesis) เกือบตลอดปี ฉะนั้น ตัวเมียที่มีการสืบพันธุ์แบบนี้ (ดูภาพประกอบ) จึงมีชื่อเฉพาะว่า parthenogenesis famale ซึ่งผลิตไข่ชนิดพิเศษ หรือ parthenogenesis egg ไข่ชนิดนี้สามารถเจริญเป็นตัวอ่อนโดยไม่ต้องอาศัยเชื้อตัวผู้เพื่อการผสมพันธุ์ จำนวนไข่ไม่แน่นอน คือมีจำนวน 5-30 ฟอง โดยเฉลี่ยมีจำนวน 15 ฟอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม และความสมบูรณ์ของตัวแม่ ไข่ชนิดนี้เมื่อถูกผลิตขึ้นมาจะเคลื่อนเข้าสู่ช่องฟักไข่ ซึ่งเป็นช่องว่างตรงส่วนหลังระหว่างเปลือกหุ้มลำตัว ช่องพักไข่นี้สามารถปิดและเปิดได้โดยอาศัยเส้นขน 2 เส้น บนส่วนท้ายของลำตัว เรียกว่า post abdominal setae ไข่จะเจริญอยู่ในช่องฟักไข่ นับแต่ฟักเป็นตัวอ่อนที่มีรูปร่างคล้ายตัวเต็มวัย จนกระทั่งถูกปล่อยออกจากตัวแม่ ดังนั้น ไรแดงจึงมีระยะวัยอ่อนซึ่งได้อาหารจากแม่โดยผ่านทางรก (placenta) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของช่องฟักไข่ แม่จะปล่อยลูกอ่อนออกสู่ภายนอก โดยการขยับของส่วนหลังของลำตัวมาทางข้างล่าง โดยทั่วไปไข่ชุดใหม่จะเคลื่อนเข้าสู่ช่องฟักไข่ทันทีที่ตัวอ่อนชุดแรกถูกปล่อยออกจากตัวแม่ ขบวนการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศจะดำเนินเรื่อยไป จนกระทั่งเกิดสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมขึ้น เช่น ประชากรเกิดขึ้นหนาแน่น การขาดแคลนอาหาร สภาวะอากาศไม่เหมาะสม การเกิดของเสียปริมาณมากในน้ำ เป็นต้น ปัจจัยดังกล่าวจะมีอิทธิพลทำให้ไรแดงเปลี่ยนวิธีการสืบพันธุ์เป็นอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า การสืบพันธุ์แบบมีเพศ (sexual famale) ในช่วงเวลานี้จะมีไรแดงตัวผู้และไรแดงตัวเมียที่สืบพันธุ์แบบมีเพศ (sexual famale) หรือ (ephippial famale) ขึ้นในประชากรไรแดง ไรแดงที่มีการสืบพันธุ์แบบมีเพศโดยเฉพาะเพศเมีย เมื่อเจริญวัยเต็มที่จะผลิตไข่ชนิดที่เรียกว่า sexual egg ขึ้นจำนวน 2 ฟอง (รังไข่ละ 1 ฟอง) มีลักษณะทึบแสง ซึ่งจะต้องผสมกับเชื้อตัวผู้ จึงจะเจริญเป็นตัวอ่อนได้ ในเวลาเดียวที่ sexual egg ถูกผลิตขึ้นมานั้น จะมีการสร้างเปลือกหุ้มไข่ (ephippial shell) โดยผนังไข่มีลักษณะคล้ายอานม้า ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะเคลื่อนเข้าสู่ช่องฟักไข่ และเปลือกหุ้มไข่ที่สร้างขึ้นล่วงหน้าแล้ว จะปิดรวงไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว เมื่อไรแดงตัวแม่ลอกคราบครั้งต่อไป ephippium egg (ไข่ + เปลือกหุ้ม) จะถูกปล่อยออกจากตัวแม่และจมสู่พื้น เปลือกหุ้มไข่ (ephippium shell) ของไรแดงได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างพิเศษ คือมีเปลือกหนาและมีลวดลายรูปหกเหลี่ยม จึงมีความสามารถทนทานต่อภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตได้อย่างดี ต่อเมื่อสภาวะแวดล้อมกลับสู่สภาวะปกติไข่ดังกล่าวจะเจริญเป็น parthenogenesises อีกครั้งหนึ่ง

เปรียบเทียบลักษณะของไรแดง Moina macrocopa (Straus)

1. ไรแดงซึ่งสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ (Sexual famale)

2. ไรแดงซึ่งสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ (Parthenogenetic famale)

ส่วน sexual egg ที่ไม่ได้รับการผสมจะสลายตัวไปโดยไม่ต้องเคลอนเข้าสู่ช่องฟักไข่ และเปลือกหุ้มไข่ที่ถูกสร้างขึ้นก็จะสลายตัวไปโดยอัตโนมัติด้วย ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า ในช่วงสั้นๆ ของแต่ละปีประชากรของไรแดงจะประกอบด้วยไรแดง 4 ประเภท ได้แก่ ตัวเมียสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ ตัวผู้ตัวเมียสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศซึ่งไข่ยังไม่ได้รับการผสมพันธุ์ และตัวเมียที่สืบพันธุ์ โดยอาศัยเพศซึ่งไข่ได้รับการผสมพันธุ์แล้ว(ดูภาพประกอบ)

ไรแดงจะมีช่วงการดำรงชีวิตอยู่นานระหว่าง 96-156 ชั่วโมง และเมื่อสภาวะแวดล้อมเหมาะสมสามารถขยายพันธุ์ได้ถึง 5 รุ่น โดยแต่ละรุ่นจะให้ลูกเฉลี่ย 15 ตัว ดังได้กล่าวไว้ตอนต้น

ส่วนประกอบในตัวไรแดงนอกจากน้ำซึ่งมีอยู่ 94% แล้ว ถ้าเอาน้ำหนักแห้งของไรแดงมาหาองค์ประกอบอาหารจะพบว่า มีโปรตีนประมาณ 74.0956% คาร์โบไฮเดรตประมาณ 12.2525% ไขมันประมาณ 10.1863% และเถ้าประมาณ 3.4656%

อุปนิสัยในการกินอาหาร จากการตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ของไรแดง พบว่า ไรแดงพวกแบคทีเรียซึ่งมีทั้งแบบแท่ง (bacillus) และแบบกลม (coccus) พวกแพลงก์ตอนสัตว์ ได้แก่ protozoal นอกจากนั้นก็มีพวกแพลงก์ตอนพืช เช่น Euglena และ Chlorella sp.

นํ้าที่พบไรแดงเกิดขึ้นอย่างหนาแน่นตามธรรมชาติโดยทั่วไป จะมีสีเหลืองปนน้ำตาลเหมือนน้ำชา ส่วนคุณสมบัติทางด้านเคมีพบว่ามีปริมาณออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำค่อนข้างต่ำ คือ 1.36-2.45 มก./ลิตร มี pH อยู่ระหว่าง 7.2-7.8 ฟอสเฟต 3-8 มก./-ลิตร แอมโมเนีย 1-29 มก./ลิตร ซิลิกอน 8-19 มก./ลิตร และแคลเซียม 70-150 มก./ลิตร อุณหภูมิที่พอเหมาะในการเลี้ยงไรแดง 26-31∘C

มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงไรแดง คือสามารถทำให้ไรแดงเพิ่มปริมาณได้มากเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยหลังจากเมื่อปริมาณเพิ่มมากที่สุดแล้วจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปเกือบหมดในระยะเวลาประมาณ 10 วัน ทั้งนี้เนื่องมาจากขาดปริมาณธาตุอาหารหรือสิ่งแวดล้อมชนิดใดชนิดหนึ่งที่จำเป็นในการเจริญเติบโต หรืออาจเนื่องจากการสะสมของเสียที่ปล่อยออกมา ทำให้เกิดเป็นพิษต่อตัวไรแดงเองก็ได้ เพราะหลังจากไรแดงเพิ่มปริมาณมากที่สุดแล้วมันค่อยๆ ลดจำนวนลง ซึ่งในขณะนี้ไรแดงจะสร้าง ephippium eggมองเห็นเป็นสีขาวอยู่ภายในตัวไรแดง จากที่ได้รู้ถึงธรรมชาติอย่างนี้ นักวิชาการของเรา จึงถือเอาจุดนี้เป็นจุดสำคัญในการเพาะพันธุ์ไรแดงแบบต่อเนื่องและแบบไม่ต่อเนื่องขึ้น โดยใช้หลักการในการลดน้ำเก่าในบ่อเพื่อระบายของเสียออก แล้วเพิ่มน้ำใหม่และปุ๋ยลงไป ขณะเดียวกันก็เพิ่มน้ำเขียวและธาตุอาหารหลักของน้ำเขียวลงไป

ที่มา : คู่มือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดย อำพล พงศ์สุวรรณ, อารีย์ สิทธิมังค์