เห็ดเมืองหนาวเพาะได้ง่ายในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ

มีเห็ดเมืองหนาวหลายตัวที่สามารถเพาะได้ง่าย ในสภาพแวดล้อมในธรรมชาติหรือในโรงเรือนแบบเปิด ลงทุนไม่สูงมากนัก เกษตรกรหรือใครที่สนใจจะทดลองเพาะไว้บริโภคเองในครัวเรือน หรือเพาะเป็นอาชีพเสริมก็มีความน่าสนใจไม่น้อย เช่น เห็ดหอม เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดปุยฝ้าย เห็ดยานากิ

เห็ดโคนญี่ปุ่นหรือเห็ดยานากิ

เห็ดยานากิหรือเห็ดโคนญี่ปุ่นเป็นเห็ดเมืองหนาว ที่ขึ้นอยู่ตามซากทับถมของใบไม้ชอบขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ ในอเมริกาหรือยุโรปตอนใต้นิยมเพาะบนตอไม้เพื่อช่วยย่อยสลายตอไม้ในการทำสวนป่า

เห็ดยานากิจะมีดอกสีน้ำตาลไปจนสีน้ำตาลเข้มขึ้นอยู่กับอุณหภูมิการเพาะที่ก้านดอกจะยาวมีเนื้อแน่น รสชาติอร่อยคล้ายเห็ดโคน ประกอบอาหารได้หลายอย่าง ทั้งผัด แกง หรือต้ม ให้คุณค่าทางอาหารสูงเช่นเดียวกับเห็ดอื่น ๆ

ในเมืองไทยเอง ก็ยังเป็นที่ต้องการของท้องตลาด แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ปัจจุบันตามฟาร์มเห็ดต่าง ๆ เริ่มมีการเพาะเห็ดยานากิกันมากขึ้น ราคาขายส่งอยู่ที่ประมาณ 150 บาท ขายปลีก 200-300 บาท เป็นเห็ดที่เพาะง่าย แต่ต้องมีความระมัดระวังในการเก็บเกี่ยวและขนส่งพอสมควร เพราะเห็ดยานากิ มีหมวกเปราะบางและหลุดได้ง่าย

วิธีการเพาะ

เห็ดยานากิสามารถเพาะได้ดี ทั้งแบบถุงพลาสติก หรือท่อนไม้ ส่วนผสมของวัสดุเพาะเช่นเดียวกับเห็ดเมืองหนาวอื่น ๆ

ใช้เวลาในการบ่มก้อนเชื้อเห็ดที่โรงบ่มเห็ด นานประมาณ 1 เดือน เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส และเห็ดยานากิสามารถออกดอกและเจริญเติบโตได้ที่ อุณหภูมิ 10-30 องศาเซลเซียส แต่ถ้าจะให้ดีควรอยู่ที่ 18-25 องศาเซลเซียส เป็นเห็ดที่ย่อยสลายวัสดุได้ช้า ก้อนเห็ดอยู่ได้นานเป็นปี สามารถเก็บดอกเห็ดได้หลายรุ่น แต่คุณสำเภา  ภัทรเกษวิทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดเมืองหนาว ไม่แนะนำให้เก็บก้อนเห็ดไว้นานเพราะผลผลิตรุ่นหลัง ๆจะน้อย ควรกระตุ้นให้เกิดดอกด้วยการลดอุณหภูมิให้ต่ำอย่างทันทีทันใด จะช่วยให้ดอกออกมากขึ้น เก็บแค่สองรุ่นถึงสามรุ่นก็พอแล้ว ผลผลิตต่อก้อนจะอยู่ที่ประมาณ 100-200 กรัม

การเก็บดอกเห็ดยานากิควรเก็บทั้งกอ ตัดแต่งโคนแล้วบรรจุให้เต็มกล่อง ป้องกันไม่ให้เห็ดดิ้นได้ เป็นการป้องกันการกระแทกหมวกเห็ดหลุด และเก็บไว้ในที่เย็น

เห็ดปุยฝ้ายหรือเห็ดหัวลิง

เห็ดปุยฝ้ายหรือเห็ดหัวลิงเป็นเห็ดเมืองหนาวที่เกิดตามตอไม้แห้งหรือกิ่งไม้ที่ทับถมตามพื้น พบมากในอเมริกาเหนือ ยุโรป จีน และญี่ปุ่น เมืองไทยพบที่ดอยอินทนนท์

เป็นเห็ดที่รูปร่างแปลกคล้ายกับจาวมะพร้าว สีขาว มีขนอ่อนขึ้นรอบ ๆ ดอกเป็นเห็ดที่โครงสร้างเหมือนฟองน้ำเนื้อฟูไม่แน่น นำไปทำอาหารประเภทน้ำเหมาะที่สุด เช่น ซุป เห็ดน้ำแดง เห็ดปุยฝ้ายถือว่าเป็นเห็ดสมุนไพรที่มีคุณค่าทางยาสูง ช่วยเพิ่มความจำในผู้สูงอายุ ช่วยบรรเทาแผลในกระเพาะอาหาร และยับยั้งการเจริญเติบโตของโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ในต่างประเทศมีการนำไปอบให้แห้ง แล้วบดเป็นผงบรรจุแคปซูลจำหน่าย หรือทำเป็นชาชงสมุนไพร

ในเมืองไทยเองยังมีการเพาะไม่มาก มีการจำหน่ายเฉพาะที่ ราคาขายส่งอยู่ที่ 80-100 บาท

วิธีการเพาะ

เห็ดปุยฝ้ายเพาะได้ง่าย ทั้งแบบขี้เลื่อยในถุงพลาสติก หรือท่อนไม้ หรือเศษพืชอื่น ๆ

ส่วนผสมของวัสดุเพาะเช่นเดียวกับเห็ดเมืองหนาวอื่น ๆ แต่ไม่ควรอัดก้อนเห็ดแน่นเกินไป ควรให้ความโปร่งบ้างจะช่วยให้เชื้อเดินเร็วขึ้น

ใช้เวลาในการบ่มก้อนเชื้อเห็ดที่โรงบ่มเห็ดนานประมาณ 1 เดือน เชื้อเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส และเห็ดปุยฝ้ายสามารถออกดอกและเจริญเติบโตได้ที่อุณหภูมิ 18-25 องศาเซลเซียส สามารถเก็บดอกเห็ดได้ประมาณ 3 รุ่น ก็จะนำก้อนเชื้อไปทำอย่างอื่น ผลผลิตต่อก้อนจะอยู่ที่ประมาณ 200 กรัม

การเก็บดอกเห็ดปุยฝ้าย ควรเก็บเมื่อดอกแก่เต็มที่ โดยขนอ่อนของเห็ดจะมีความยาวประมาณ 1 ซม. เก็บเสร็จแล้วต้องตัดแต่งโคนที่เหลือในถุงให้หมด ป้องกันไม่ให้เน่าเสียในถุง

เห็ดนางรมดอยหรือเห็ดนางรมพันธุ์หนาว

เห็ดนางรมดอย จะเป็นเห็ดที่คล้ายกับเห็ดนางรมพันธุ์ร้อน แต่เจริญเติบโตได้ดีในที่อุณหภูมิต่ำ เป็นเห็ดเจริญเติบโตได้ดีในวัสดุหลายชนิดที่เหลือทิ้งทางการเกษตร

เห็ดนางรมดอย จะมีดอกสีเทาเข้ม มีเนื้อแน่นน้ำหนักดี นำไปประกอบอาหารเนื้อเห็ดยังคงรูปร่างได้ดี รสชาติอร่อยกว่าเห็ดนางรมพันธุ์ร้อน ประกอบอาหารได้หลายอย่าง ทั้งผัด แกง หรือต้ม ให้คุณค่าทางอาหารสูงเช่นเดียวกับเห็ดอื่น ๆ

ในเมืองไทยเองมีเพาะกันมากทางภาคเหนือที่เป็นดอยสูง ราคาขายส่งอยู่ที่ประมาณกก.ละ 100 บาท

วิธีการเพาะ

เห็ดนางรมดอย เป็นเห็ดที่ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง ในพื้นที่การคมนาคมไม่สะดวกเพาะไว้รับประทานในครัวเรือน หรือขายในชุมชน หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพราะสามารถเจริญเติบโตได้ดี ในวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ท่อนไม้ เศษไม้ ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด ฟางข้าว ขี้เลื่อย หรือเศษพืชที่ไม่เน่าเปื่อยง่าย สามารถนำมาเพาะได้หมด นำเศษพืชมาตัดให้สั้นหรือสับให้ละเอียด นำไปหมักน้ำให้ชุ่ม ผสมกับอาหารเสริมที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น รำข้าว น้ำตาล หรือข้าวโพดบด แล้วนำไปบรรจุถุงพลาสติกเพาะเช่นเดียวกับเห็ดอื่น ๆ

ใช้เวลาในการบ่มก้อนเชื้อเห็ดที่โรงบ่มเห็ดนานประมาณ 1 เดือน เจริญเติบโตได้เต็มถุง และนำมาเปิดดอกให้มีคุณภาพดีที่ อุณหภูมิ 10-15 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่าก็เกิดดอกเช่นกัน แต่คุณภาพดอกจะด้อยลง บนดอยสูงสามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี

ขอขอบคุณ  นายสำเภา  ภัทรเกษวิทย์ รักษาการผู้อำนวยการหลังการเก็บเกี่ยว และฝ่ายประชาสัมพันธ์สถาบันวิจัยวิทยาและเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ข้อมูล  สำเภา  ภัทรเกษวิทย์ “เห็ดเมืองหนาว” กองประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.)