โรคเน่าดำของถั่วเขียวผิวดำ

โรคเน่าดำของถั่วเขียวผิวดำ(Charcoal rot of black gram)

กัญจนา  พุทธสมัย  ปรีชา  สุรินทร์

กองโรคพืชและจุลชีววิทยา  กรมวิชาการเกษตร เกษตรกลาง บางเขน กรุงเทพฯ

ถั่วเขียวผิวดำ (Black gram : Vigna mungo)

เป็นพืชที่ปลูกตามหลังพืชหลักอื่น ๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง และข้าวฟ่าง แหล่งที่ปลูกมากได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์และจังหวัดในภาคกลาง เช่น ชัยนาท ลพบุรี เป็นต้น ผลผลิตที่ได้ร้อยละ ๘๐ ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศปีละ ๖๐๐-๑,๐๐๐ ล้านบาท ประเทศที่นำเข้ามากได้แก่ญี่ปุ่นและอินเดีย คิดเป็นร้อยละ ๔๖ และ ๓๒ ของปริมาณที่ส่งออก ถั่วเขียวผิวดำเป็นสินค้าทางการเกษตรที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากประเทศไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยนำไปเพาะเป็นถั่วงอก

เมื่อ ๔-๕ ปี ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นได้ร้องเรียนว่า เมื่อนำถั่วเขียวผิวดำไปเพาะเป็นถั่วงอกแล้ว มีเชื้อราติดไปด้วย ซึ่งทำให้รากและลำต้นถั่วงอกเป็นสีดำไม่น่ารับประทาน โดยที่ถั่วเขียวผิวดำจากประเทศพม่าไม่พบเชื้อรา (Macrophomina phaseolina)

นี้เลย

สาเหตุการเกิดเชื้อรานี้เนื่องจากในช่วง ๔-๕ ปี ที่ผ่านมานี้ได้มีปัญหาเกี่ยวกับดิน ฟ้า อากาศ โดยเกิดฝนตกชุกในช่วงเพาะปลูกและแห้งแล้งในหน้าเก็บเกี่ยว ทำให้เชื้อราเจริญได้ดีและติดไปกับเมล็ด นอกจากนี้พันธุ์ถั่วเขียวผิวดำที่ใช้ปลูกกันทั่วไปเป็นพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเลื้อยไปกับดินทำให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เพราะว่าเม็ดขยายพันธุ์(สเคอโรเทีย)ของเชื้อราจะอาศัยอยู่ในดิน และเชื้อรายังมีพืชอาศัยมากถึง ๔๐๐ ชนิด เช่น ถั่วเหลือง ละหุ่ง ฝ้าย ปอ งา คำฝอย ทานตะวัน ข้าวโพด ข้าวฟ่าง แตงโม และถั่วลิสง เป็นต้น

เชื้อราชนิดนี้ สามารถอยู่ในดินและติดไปกับเมล็ดทำให้เกิดโรคเน่าดำกับถั่วเหลือง โดยสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของพืช ทำความเสียหายรุนแรงในแถบที่มีอากาศอบอุ่นและในเขตร้อนซึ่งมีสภาพแห้งแล้งหรือพืชขาดน้ำ พบมากกับถั่วเหลืองในเขตชลประทานเมื่อใกล้จะแก่ เคยมีผู้พบว่าถ้าขาดน้ำในระยะเวลา ๑๘ วัน สามารถทำให้เกิดการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๘.๖ ถึง ๖๓.๙ และทำความสูญเสียให้กับถั่วเหลืองถึงร้อยละ ๗๗ แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะทำความเสียหายประมาณร้อยละ ๑๐-๑๕ บางครั้งเชื้อรานี้สามารถอยู่ในเมล็ดได้โดยไม่แสดงอาการผิดปกติเลย ส่วนมากมักพบเชื้อรานี้อยู่ในส่วนของเปลือกเมล็ด อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต คือ ๒๘-๓๕ องศาเซลเซียส เส้นใยของเชื้อราจะอยู่ในดินทรายได้นานกว่าดินเหนียวหรือร่วนปนทราย โรคเน่าดำนี้เกิดมากในดินที่ติดแน่นไม่ค่อยมีการไถพรวน

ลักษณะอาการของโรค

เชื้อรานี้สามารถเข้าทำลายถั่วได้ทุกระยะเวลาการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะกล้าออกดอกและต้นแก่

ถั่วเขียวผิวดำที่เป็นโรคใบจะมีสีเหลืองซีด ใบเล็กกว่าปกติ ใบเหลืองจะเริ่มจากใบล่างลามขึ้นมาข้างบน ต่อมาใบจะเหลืองซีด เหี่ยวและแห้งกรอบเป็นสีน้ำตาล โดยที่ก้านใบที่มีสีน้ำตาลนี้จะแห้งคาต้นอยู่ ถั่วเขียวยืนต้นตายเห็นได้ชัด เมื่อถอนต้นดูจะพบว่าบริเวณรากมีเม็ดขยายพันธุ์(สเคอโรเทีย) ลักษณะคล้ายผลถ่านขนาดเล็กสีดำเห็นได้ด้วยตาเปล่าเกาะติดกับส่วนเปลือกของรากกระจายเต็มไปหมด

อาการของโรคจะกระจายทั่ว ๆ ไปเป็นกลุ่มปะปนกับต้นปกติที่ใบยังเขียวสดอยู่ ถ้าเป็นกับต้นอ่อนจะทำให้ยอดอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง ต้นอ่อนจะตายถ้าสภาพอากาศร้อนและแห้ง แต่ถ้าเกิดมีความชื้นและอากาศเย็นจะแสดงอาการช้าลง แต่จะกลับแสดงความรุนแรงของโรคใหม่ เมื่ออากาศร้อนและแล้งอีก ถ้าเข้าทำลายที่รากจะแสดงอาการในระดับของต้นที่พ้นจากดินขึ้นมาโดยมีรอยแผลเป็นสีน้ำตาลเข็มจนถึงดำ บางครั้งเนื่อเยื่อบริเวณหุ้มรากและโคนต้นจะเปื่อยยุ่ย สามารถลอกออกได้ง่าย ทั้งนี้ เพราะว่าเชื้อราจะทำลายจากปลายรากฝอยขึ้นสู่ระบบรากที่เหนือขึ้นมา

การป้องกันกำจัด

๑.  เมล็ดพันธุ์  ควรใช้พันธุ์อู่ทอง ๒ ซึ่งทางราชการแนะนำให้ใช้แทนพันธุ์พื้นเมือง ในกรณีที่ใช้พันธุ์พื้นเมืองก็ควรเลือกเมล็ดที่มีขนาดโตสม่ำเสมอไม่มีรอยแตกย่นเป็นเมล็ดที่ไม่เก็บไว้นานเกินไป ถ้าเป็นไปได้คลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วยเบนเลท ๕๐ เปอร์เซ็นต์ หรือทอปซินเอม หรือพรอนโต ๔๐ จำนวน ๒, ๑.๕ และ ๒.๕ กรัมต่อเมล็ดถั่วเขียว ๑ กิโลกรัม

๒.  ปรับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้มากขึ้นหรือใช้อินทรีย์วัตถุจะทำให้การเกิดโรคลดลง

๓.  ควรปลูกเป็นแถวเป็นแนว และมีการกำจัดแมลงและวัชพืช

๔.  ปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับพืชอื่น ๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด ไม่ควรปลูกถั่วติดต่อกันตลอด

๕.  การเก็บเกี่ยวและการตาก ไม่ควรปล่อยให้ต้นถั่วแก่อยู่ในไร่จนเกินไป จะทำให้ฝักแห้งและแตก เมล็ดหล่นเสียหายมากตอนเกี่ยว และถ้าแห้งมากไปเชื้อราที่อยู่ตามกิ่งก้านจะติดไปกับเมล็ดอีกตอนนวดในการตากไม่ควรตากบนพื้นดิน เพราะเชื้อราซึ่งอยู่ในดินจะติดไปกับฝักได้ ไม่ควรสุมเป็นกอง เกลี่ยให้แดดส่อง ได้ถึงทุกส่วน หรือถ้าเป็นไปได้ควรมัดแขวนตามบนราวไม้ จะช่วยป้องกันเชื้อราได้ดี

๖.  การนวด ควรรีบทำทันทีเมื่อถั่วแห้งดีแล้ว การนำถั่วจากไร่มากองเป็นกองโตในลานนวดเป็นเวลานานไม่ควรทำ เพราะการกองสุมกันมาก ๆ จะทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ตอนกลางกอง ควรใช้เครื่องนวดเฉพาะถั่วเขียว ไม่ควรใช้เครื่องนวดข้าว เพราะจะให้เมล็ดแตกเสียหายมาก

๗.  การฝัด ถ้าไม่ใช้เครื่องนวด ควรจะต้องฝัดให้สะอาด ๆ ให้เศษซากพืชและดินออกให้หมด

๘.  การเก็บถั่วหลังจากฝัดแล้วลงในกระสอบ ควรรีบนำไปขาย ถ้าไม่พร้อม เวลาเก็บไม่ควรสุมกันมาก และเก็บในที่มิดชิดไม่โดนฝนหรือความชื้น เพราะจะทำให้เมล็ดเสียหาย