ประเภทของสาหร่าย

สาหร่าย
สาหร่ายเป็นพืชชั้นตํ่าที่มีคลอโรฟิลล์ แต่ไม่มีส่วนที่เป็นราก ลำต้น และใบที่แท้จริง มีตั้งแต่ขนาดเล็กมาก ประกอบด้วยเซลล์เพียงเซลล์เดียวซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ไปจนถึงขนาดใหญ่ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมาก อาจเป็นเส้นสาย (FILAMENT) หรือมีลักษณะคล้ายพืชชั้นสูงโดยมีส่วนที่คล้ายราก ลำต้น และใบ รวมเรียกว่า ทัลลัส (THALLUS) อย่างไรก็ตาม สาหร่ายก็สามารถเจริญเติบโตได้ใน ลักษณะเดียวกับพืช เนื่องจากมีเม็ดคลอโรฟิลล์ซึ่งทำให้สามารถสังเคราะห์แสงได้ และจะเจริญเติบโตได้ดีในสถานที่ที่มีแสงแดดจัด ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในนํ้าสูง แร่ธาตุอาหารพอเพียง ประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายสูงมากเมื่อเทียบกับพืชทั่วไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ในแต่ละปีประเทศไทยต้องนำเข้าสาหร่ายทะเลและผลิตภัณฑ์เพื่อบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมปีละเกือบร้อยล้านบาท ซึ่งจากการศึกษาและทดลองพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้บางประเภทสกัดได้จากสาหร่ายพันธุ์ต่างๆ ที่สามารถเจริญเติบโตและเพาะเลี้ยงได้ในประเทศไทย ดังนั้น หากว่ามีการพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อการผลิตทดแทนการนำเข้า ก็จะช่วยลดดุลการค้าได้บ้าง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างรายได้ในอาชีพ ใหม่แก่เกษตรกรภายในประเทศด้วย
ประเภทของสาหร่าย
ประเภทของสาหร่ายที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว (BLUE-GREEN ALGAE) สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวนี้เป็นสาหร่ายที่พบมากที่สุด มีอยู่ทั่วไปทั้งในนํ้าและบนบก ต้านทานภูมิอากาศได้ดี ดังนั้นจึงพบสาหร่ายสีนํ้าเงินแกมเขียวเจริญเติบโตได้ดีทั้งในบ่อนํ้าพุร้อน หรือแถบขั้วโลก คุณสมบัติพิเศษที่สามารถจะช่วยต้านทานต่อภาวะผิดปกติได้อย่างดีก็คือ สารที่มีลักษณะเป็นเมือกคล้ายวุ้นที่หุ้มอยู่ภายนอกเซลล์ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับโครงสร้าอย่างง่ายๆ ภายในเซลล์ด้วย สาหร่ายชนิดนี้นอกจากสามารถนำมาตากแห้งเพื่อใช้เป็นอาหารบริโภค ซึ่งนับว่าเป็นอาหารยอดนิยมในหมู่ชาวเอเชียตะวันออก คือ ญี่ปุ่น เกาหลี และสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้สาหร่ายประเภทนี้นิยมนำมาทำเป็นสาหร่ายอัดเม็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์คลอเรลลาและสไปรูลิน่าหรือเกลียวทอง
2. สาหร่ายสีเขียว (GREEN ALGAE) ปริมาณสาหร่ายสีเขียวมีมากพอๆ กับสาหร่ายสีนํ้าเงินแกมเขียว เจริญเติบโตได้ดีทั้งในนํ้าจืดและนํ้าเค็ม แต่จะไม่มีความต้านทานต่อสภาพแวดล้อมที่ผิดปกติได้เช่นสาหร่ายสีนํ้าเงินแกมเขียว รูปร่างและขนาดของสีเขียวต่างกันตามชนิด บางชนิดที่ขึ้นในนํ้าทะเลและมีสารพวกหินปูนมาเกาะ ทำให้มีลักษณะเป็นแผ่นแข็งสีขาว บางชนิดมีลักษณะเป็นเส้นเกาะลอยเป็นแพตามบ่อหรือตามชายฝั่งที่มีนํ้าใส ซึ่งชนิดนี้ชาวบ้านแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่าเทา สามารถนำมาประกอบอาหารบริโภคได้ สาหร่ายสีเขียวนํ้าจืดที่รู้จักกันดีอีกอย่างหนึ่ง คือ สาหร่ายไฟ พบมากตามท้องนาที่มีน้ำขัง อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศสาหร่ายสีเขียวที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ
1. CHLORELLA ได้แก่ C. PYRENOIDOSA, C. ELLIPSOIDEA และ C. SOROK-NIANA ซึ่งประเทศที่กำลังทำการค้นคว้าวิจัยถึงประโยชน์ คือ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
2. SCENEDESMUS ได้แก่ S. ACUTUS กำลังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลองในประเทศเยอรมันตะวันตก อินเดีย เปรู และไทย และ S. OBLIQUS ก็กำลังอยู่ในระหว่างความสนใจค้นคว้าทดลองของนักวิทยาศาสตร์ไนประเทศเชโกสโลวะเกีย
3. สาหร่ายสีน้ำตาล (BROWN ALGAE) สาหร่ายสีนํ้าตาลเป็นสาหร่ายที่พบในทะเลเขตหนาว เช่น ตามชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก และทะเลในเขตอบอุ่น เช่น ในอ่าวไทย สาหร่ายชนิดนี้นอกจากจะมีสีสวยงามแล้ว ส่วนมากจะมีขนาดใหญ่ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่ทำหน้าที่คล้ายราก ลำต้น และใบ ชนิดที่มีขนาดใหญ่มากๆ มีความยาวถึง 200 ฟุต พบตามชายฝั่งแถบตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา มีชนิดต่างกันถึง 80 ชนิด ทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นพิษ สาหร่ายสีนํ้าตาลมีชื่อเรืยกอีกชื่อหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เข้าใจของคนทั่วไปว่า “SEAWEED”
สาหร่ายสีนํ้าตาลส่วนมากเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์และมีความสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ประโยชน์ที่ได้รับอาจจะได้รับโดยการนำมาปรุงเป็นอาหารโดยตรง เช่น LAMINARIA SP. นิยมกันแพร่หลายในญี่ปุ่น จนกระทั่งมีการเพาะปลูกสาหร่ายชนิดนี้เพื่อเป็นสินค้า SARGASSUM SP. พบมากในอ่าวไทย ประชาชนในภาคใต้นิยมใช้เป็นอาหาร นอกจากใช้เป็นอาหารแล้ว สาหร่ายสีน้ำตาลยังมีประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมด้วย กล่าวคือ ใช้สกัดโพแทสเซียมและไอโอดีน เนื่องจากสาหร่ายสีนํ้าตาลเป็นพืชที่มีธาตุโพแทสเซียมและไอโอดีนเป็นจำนวนมาก ประโยชน์อีกประการหนึ่ง คือ การสกัดสารแอลจิน (ALGIN) ซึ่งเป็นสิ่งที่เซลล์สร้างขึ้นมาเคลือบผิวนอกไว้ โดยจะสร้างมากที่สุดในระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี ประโยชน์ของสารแอลจินก็คือ สามารถทำให้นํ้าคงสภาพเป็นของเหลวเมื่อมีอุณหภูมิตํ่าดังนั้นปริมาณครึ่งหนึ่งของแอลจินที่ผลิตได้ในสหรัฐอเมริกานำไปใช้ในอุตสาหกรรมการทำไอศกรีม เครื่องดื่มบางชนิด และขนมหวาน ส่วนเกลือแอลจิเนตหรือโซเดียมแอลจิเนตซึ่งมีคุณสมบัติละลายนํ้าได้ดี นำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอต่างๆ อย่างไรก็ตาม สาหร่ายสีน้ำตาลที่พบในอ่าวไทยมีปริมาณแอลจินตํ่ามาก
4. สาหร่ายสีแดง (RED ALGAE) เป็นสาหร่ายที่มีสีสันสวยงามมาก อาจจะมีสีแดงจัด สีม่วงอมแดง หรือสีน้ำเงินปนแดง ซึ่งใกล้เคียงกับพวกสาหร่ายสีนํ้าเงินแกมเขียว การเปลี่ยนแปลงของสีขึ้นอยู่กับระดับของความตื้นลึกของน้ำที่สาหร่ายขึ้นอยู่ ถ้าเป็นพวกที่อยู่ตามผิวนํ้าจะมีสีค่อนไปทางนํ้าเงิน ยิ่งอยู่ในระดับนํ้าลึกลงไปสีจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงมากขึ้นตามลำดับ สาหร่ายสีแดงนี้ขึ้นอยู่ได้ทั้งในนํ้าจืดและนํ้าทะเล-ในนํ้าจืด ชอบขึ้นตามลำธารที่น้ำค่อนข้างเย็นจัด ส่วนพวกที่อยู่ในนํ้าทะเลเจริญเติบโตได้ดีทั้งในเขตหนาวและเขตอบอุ่น ลักษณะรูปร่างของสาหร่ายสีแดงมีทั้งขนาดเล็กมากๆ ไปจนถึงขนาดใหญ่เช่นเดียวกับสาหร่ายสีนํ้าตาล แต่สาหร่ายสีแดงจะบอบบางกว่า เป็นสาหร่ายที่มีคุณประโยชน์เช่นเดียวกัน คือ สามารถนำไปใช้เป็นอาหารได้ เช่น PORPHYRA SP. พบมาก ตามชายฝั่งทะเลของสาธารณรัฐประชาชนจีนและญี่ปุ่น ส่วนในไทยมีมากตามชายฝั่งทะเล เช่น สงขลา เมื่อนำเอาสาหร่ายชนิดนี้มาตากแห้งและอัดเป็นแผ่นแล้ว นำไปจำหน่ายเป็นสินค้าในท้องตลาด สาหร่ายชนิดนี้เป็นที่รู้จักทั่วๆ ไปในชื่อ “จีฉ่าย”
สาหร่ายสีแดงมีสารเคลือบอยู่รอบนอกของผนังเซลล์ เรียกว่า คาแลคจินิน (CARRHAGEENIN) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณประโยชน์ใช้ในการทำวุ้น สำหรับใช้เลี้ยงแบคทีเรียในห้องปฏิบัติการ อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง การทำขนมหวาน ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง สาหร่ายสีแดงที่ให้คาแลคจีนินมาก ได้แก่ GELIDIUM SP., EUCHEUMA SP. และ GRACILARIA SP. สำหรับประเทศไทยพบสาหร่ายสีแดงชนิด GRACILARIASP มากที่สุดบริเวณเกาะยอ โดยจะมีจำนวนมากที่สุดระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคมของทุกปี
ถ้าจะพิจารณาถึงชนิดของสาหร่ายที่ผลิตได้ของโลกตั้งแต่ปี 2524-2530 ปรากฏว่าสาหร่ายที่ผลิตได้ประมาณร้อยละ 60-70 เป็นสาหร่ายสีน้ำตาล และรองลงมา คือสาหร่ายสีแดง ส่วนที่เหลือเป็นสาหร่ายสีเขียวและสีนํ้าเงินแกมเขียว สิ่งที่น่าสังเกต ก็คือ ปริมาณการผลิตสาหร่ายในแต่ละปีไม่แน่นอน เนื่องจากเป็นสาหร่ายที่เก็บได้จากธรรมชาติ (สาหร่ายที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไม่มีการเก็บรวบรวมสถิติไว้) และตั้งแต่ ปี 2529 เป็นต้นมาผลผลิตสาหร่ายมีแนวโน้มลดลง สำหรับประเทศผู้ผลิตสาหร่ายราย สำคัญของโลก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ นอร์เว ชิลี และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม สาหร่ายจะมีปริมาณมากเพียง 3 ประเทศหลัก คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
สำหรับในประเทศไทย ศักยภาพการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทางชายฝั่งทะเลอันดามัน หรือฝั่งทะเลด้านตะวันตกแล้ว การเพาะเลี้ยงในระดับการค้าทำได้ยาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงค่าของความเป็นกรดเป็นด่างภายหลังลมมรสุมและคลื่นลมสงบทำให้การหมุนเวียนของอากาศน้อย การเพาะเลี้ยงสาหร่ายทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกหรือฝังอ่าวไทยจะทำได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสาหร่ายทะเล ทั้งในสภาพธรรมชาติ และศักยภาพในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในประเทศไทยทั้งสาหร่ายนํ้าจืดและสาหร่ายทะเล ซึ่งจากสถิติการผลิตสาหร่ายทะเลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในตลาดโลกมักจะถูกเก็บเกี่ยวมาจากท้องทะเลในประเทศแถบหนาวเป็นส่วนใหญ่ โดยมีปริมาณและความสมบูรณ์ของแหล่งที่เก็บเกี่ยวเป็นไปตามธรรมชาติ ดังนั้น แหล่งธรรมชาติของสาหร่ายทะเลในเขตร้อนและประเทศที่กำลังพัฒนายังคงอุดมสมบูรณ์และมีศักยภาพเชิงเศรษฐกิจสูง การขยายการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลโดยการทำฟาร์มจึงเหมาะสมอย่างยิ่งในแถบเขตร้อนซึ่งสาหร่ายสามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าประเทศในแถบหนาว
การรวบรวมและการสำรวจสภาพธรรมชาติของสาหร่ายทะเลในประเทศไทย ในปัจจุบันมีเพิยงงานวิจัยรวบรวมสภาพธรรมชาติที่สาหร่ายให้วุ้นที่เจริญเติบโตได้เร็วตามพื้นที่ชายฝั่งในเขตจังหวัดต่างๆ ของไทย ดังนี้

1. บริเวณชายฝั่งทะเลแถบจังหวัดสตูล ตรัง และกระบี่ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีลำคลอง น้ำกร่อยเปิดออกสู่ทะเลอันดามัน ตามลำคลองเหล่านี้มีอุตสาหกรรมเลี้ยงปลากระชังอยู่จำนวนมาก ซึ่งกระชังเลี้ยงปลาทำด้วยตาข่ายเชือกไนล่อนขนาดประมาณ 4x5x2 เมตร สาหร่ายให้วุ้นที่เกิดจากแหล่งธรรมชาติในบริเวณเหล่านั้นมาเกาะบนตาข่ายเชือกในระยะ ที่ตํ่ากว่าผิวนํ้าประมาณ 1-2 ฟุต เคยมีการทดลองเก็บข้อมูลด้านการเก็บเกี่ยวสาหร่ายที่มาเกาะติดกระชังปลาในเขตจังหวัดตรัง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน 2531 พบว่าสามารถเก็บสาหร่ายได้เฉลี่ยประมาณกระชังละ 1 กิโลกรัม (นํ้าหนักแห้ง) ทุกเดือนเป็น เวลา 8-10 เดือนในแต่ละปี วุ้นที่ผลิตได้จากสาหร่ายในจังหวัดตรังนี้ มีค่าความแข็งเฉลี่ย ประมาณ 900 กรัมต่อตารางเซนติเมตร ซึ่งจัดได้ว่าเป็นวุ้นเกรดพิเศษ
2. บริเวณป่าชายเลนในเขตจังหวัดพังงา เคยมีคณะวิจัยสำรวจรวบรวมตัวอย่างสาหร่ายให้วุ้นในแถบป่าชายเลนบริเวณทุ่งละออ อำเภอตะกั่วป่า ซึ่งเป็นแหล่งสาหร่ายให้วุ้นที่เกิดตามธรรมชาติในบริเวณกว้าง สาหร่ายให้วุ้นบริเวณนี้มักจะกระจายเกาะอยู่กับรากต้นโกงกางตามบริเวณป่าชายเลน ถือได้ว่าบริเวณเหล่านี้มีศักยภาพตามธรรมชาติ ที่สามารถพัฒนาขยายการเพาะเลี้ยงได้โดยมีการลงทุนสร้างแหล่งกักเก็บ แล้วแบ่งเขตหมุนเวียนการเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม บริเวณป่าชายเลนจังหวัดพังงานี้ยังต้องการการสำรวจศึกษาเก็บข้อมูลอีกมากมาย แต่ก็ถือได้ว่าบริเวณแถบนี้เป็นบริเวณที่มีศักยภาพสูง สามารถพัฒนาสู่ระดับอุตสาหกรรมได้หากมีการลงทุนและการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม
3. บริเวณชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ในทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งธรรมชาติแหล่งใหญ่สำหรับสาหร่ายให้วุ้น แถบนี้มีการเก็บเกี่ยวสาหร่ายให้วุ้นเป็นสินค้าท้องถิ่นมานานแล้ว ปัจจุบันมีการเลี้ยงปลาและกุ้งในกระชังในทะเลสาบสงขลาจำนวนมาก ยิ่งทำให้สาหร่ายให้วุ้นในบริเวณนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ชาวประมงแถบนี้สามารถทำรายได้เสริมโดยการเก็บสาหร่ายให้วุ้นมาตากแห้งแล้วรวบรวมไว้มากๆ แล้วขาย ซึ่งราคาจะสูงในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงระยะถือบวชของชาวอิสลาม ซึ่งมักจะนิยมบริโภคสาหร่ายให้วุ้น สาหร่ายในทะเลสาบสงขลานี้จะเจริญเติบโตได้เกือบตลอดปี ยกเว้นในช่วงฝนตกและนํ้าจืดลงมาก การเจริญเติบโตมักจะหยุดชะงักไปชั่วคราว ปัจจุบันได้มีการทดลองเพาะเลี้ยงปลาในกระชังเพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการขยายการผลิตร่วมกับการเลี้ยงปลาในกระชัง
4. ในบริเวณชายฝั่งของจังหวัดปัตตานี ชาวประมงแถบชายฝั่งดำเนินการเก็บสาหร่ายให้วุ้นที่เกิดตามธรรมชาติจำนวนมากมาย โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมของทุกปี การเก็บสาหร่ายแล้วนำมาตากแห้งบนตะแกรงไม้ไผ่แล้วรวบรวมไว้ขายทำรายได้ให้แก่ชาวประมงแถบนี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ในบางหมู่บ้านได้มีการขุดบ่อตื้นๆ ตามแถบป่าชายเลนเพื่อให้นํ้าทะเลไหลผ่านเข้าออกได้ตามนํ้าขึ้นนํ้าลง แล้วนำสาหร่ายให้วุ้นจากธรรมชาติมาเก็บกักเลี้ยงขยายปริมาณ และเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกระยะ 2-3 เดือน โดยได้สาหร่ายที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 5-6 เท่าตัว นับเป็นแหล่งรายได้เสริมที่น่าสนใจและสามารถพัฒนาเป็นการเพาะเลี้ยงขนาดใหญ่ได้
5. แถบฝั่งทะเลตะวันออกบริเวณจังหวัดตราด ระยอง และจันทบุรี แถบนี้เคยเป็นแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของสาหร่ายให้วุ้นในอดีต แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงไปมาก เนื่องจากมีการทำเหมืองพลอยและการจับปลาแบบใช้อวนดุน กวาดทำลายพืชและสัตว์นํ้าทุกชนิด ดังนั้น หากจะมีการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เพื่ออุตสาหกรรมจะต้องทำร่วมไปกับการเลี้ยงกุ้งและการเลี้ยงปลาในบ่อ
อย่างไรก็ตาม สำหรับสาหร่ายที่จะนำมาใช้บริโภคทั้งในลักษณะบริโภคโดยตรงและเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสาหร่ายอัดเม็ดนั้นยังไม่ได้มีการสำรวจกันอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายแล้ว ข้อมูลของแหล่งที่จะใช้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงที่มีศักยภาพนี้เป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุด เพราะนับเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะใช้ในการตัดสินใจ
ที่มา:ส่วนวิจัยเกษตรกรรม ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกสิกรไทย