มะเขือเทศ:การปลูกผักสวนครัวแบบแขวน

สวนครัวแขวน

สุนทร  ปุณโณทก

ทุกวันนี้เราควักเราล้วงเอาวิชาธรรมจริยาว่าด้วยการเจียมตน ประหยัด มัธยัสถ์ ฯลฯ  เก็บหอมรอมริบมาใช้จนหมดสิ้นก็แล้ว  สถานภาพในครอบครัวก็ยังไม่กระเตื้องดีขึ้น  ต้องนำวิธีทุนอัฐประหยัดเงินมาใช้ ต้องหาวิธีเพิ่มพูนรายได้ช่วยเหลือจุนเจือมาประพฤติปฏิบัติ ฉบับนี้ขอแนะนำการทำสวนหลังบ้านต้านของแพง สักอย่างหนึ่งคือ การทำสวนครัวแขวน “ปลูกกินเองสิ้นปัญหาสารยาพิษ”

“ทำไม่ต้องปลูกผักแขวนล่ะ?” แม่บ้านวัยกลางคนผู้หนึ่งถามด้วยความสงสัย

“ที่ทางเดี๋ยวนี้คับแคบ  อีกทั้งหาเวลาว่างกันยาก ก็จับใส่กระถางหรือกะละมังปลูกแขวน มันเสียเลย  ห้อยหรือแขวนก็ได้ ตรงไหนก็ได้ ให้โดนแดดสักครึ่งวัน  ต่อไปนี้เรามุ่งประหยัด มากประโยชน์ โทษไม่มี เพราะเราปลูกของเราเอง  ควบคุมการใช้ยาฆ่าแมลงได้”

“เอ! ผักอะไรบ้างที่ปลูกแบบแขวนได้  แล้วผลผลิตจะเพียงพอไว้ใช้สอยหรือคะ”

“ได้แทบทั้งนั้นเป็นต้นว่า ต้นหอม ผักชี โหระพา กระเพรา สะระแหน่ แมงลัก พริกต่าง ๆ ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกาด ผักกาดหอม กุยช่าย ฯลฯ”

มะเขือเทศ (Lycopersicon esculentum, Mill.)

มะเขือเทศมีถิ่นกำเนิดในประเทศเปรูและเมกซิโก เข้ามาสู่เมืองไทยเมื่อ 30 กว่าปีมานี้เอง เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก  รองจากมันฝรั่งและมันเทศ

มะเขือเทศอยู่ในวงศ์ SOLANACEAE วงศ์เดียวกันกับมันฝรั่ง มะเขือ และพริกต่าง ๆ

ปัจจุบันได้มีการนำมะเขือเทศมาใช้ปรุงอาหารได้อย่างกว้างขวาง เช่น ซุป สลัด ซอส ทำน้ำมะเขือเทศเช่น น้ำผลไม้อื่น ๆ  แม้กระทั่งนำมาเชื่อมเป็นขนมหวาน จนเกิดโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง และสิ่งแปรรูปจากมะเขือเทศ

ชาวเหนือเรียก มะเขือส้ม

ผลให้วิตามินเอ. และซี.สูง และธาตุอาหารต่าง ๆ ผลสดมีรสเปรี้ยวและเย็นเล็กน้อยช่วยให้เจริญอาหาร เป็นยาระบาย มีผลลดระดับไขมัน(โคเลสเตอรอล)ในเลือดและตับ  ช่วยกระตุ้นและบำรุงกระเพาะอาหาร ไต และลำไส้ ช่วยขับพิษ และสิ่งคั่งค้างต่าง ๆ ในร่างกาย

ราก ลำต้น และใบแก่ ต้มน้ำกินแก้ปวดฟัน ใบมะเขือเทศชงน้ำร้อน  ใช้พ่นป้องกันแมลงศัตรูพืชได้

การปลูก

มะเขือเทศปลูกได้ในแปลง เช่น ผักชนิดอื่น แต่ต้องมีหลักราวสำหรับผูกยึดลำต้นและกิ่งก้านด้วยเชือก  มิให้ลำต้นทอดเลื้อยไปตามดิน  หรือมิฉะนั้นก็ปลูกลงกระถาง 12 นิ้ว  ปักหลักผูกด้วยเชือกยึดลำต้นไว้

อีกวิธีหนึ่งซึ่งอาจจะใหม่สำหรับบุคคลทั่วไปนั่นคือปลูกแบบแขวน

ดินที่ใช้ปลูก

ควรเป็นดินที่รวนซุยระบายน้ำได้ดี ดินมีสภาพเป็นกรดเล็กน้อย (P.H.6.0-6.8) และมีอินทรีย์วัตถุประมาณ 1.5%

ดินผสมที่เหมาะในการปลูกมะเขือเทศเป็นไม้แขวน ดิน 1 ส่วน ทราย 1 ส่วน เปลือกถั่วป่นหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน

ฟ้าอากาศ

มะเขือเทศจะเจริญเติบโตได้ดี เมื่อมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 15-25 องศาเซลเซียส  อุณหภูมิและความเข้มของแสงจะมีผลอย่างยิ่งต่อการติดผลและองค์ประกอบของธาตุอาหาร  ในผสมมะเขือเทศกล่าวคือ ถ้าอุณหภูมิสูงเกินไป การติดผลจะต่ำ และถ้าความเข้มของแสงสูง จะมีผลทำให้ผลมีวิตามินซีสูงตามไปด้วย

โดยทั่วไปมะเขือเทศต้องการอุณหภูมิต่ำและความเข้มของแสงค่อนข้างสูง  ซึ่งเวลาดังกล่าวเช่นนี้จะตรงกับช่วงฤดูหนาวของเมืองไทย(ตุลาคม-มกราคม) มะเขือเทศจะเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี

พันธุ์มะเขือเทศ

เราอาจแบ่งมะเขือเทศออกเป็น 2 ประเภท ตามการใช้ประโยชน์ คือ

–        มะเขือเทศกินผลสด (มะเขือเทศกินเนื้อ)

–        มะเขือเทศที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารประเภทต่าง ๆ

ในฤดูหนาวเหมาะที่จะปลูกมะเขือเทศพันธุ์กินผลสด

ส่วนฤดูอื่น ๆ ควรปลูกมะเขือเทศชนิดส่งโรงงาน เช่น พันธุ์สีดา และพันธุ์ป่า(มะเขือส้ม) ซึ่งมีผลเล็ก เนื้อน้อย

มะเขือเทศส้ม พันธุ์นี้ได้มาจากเชียงใหม่เหมาะที่จะปลูกแบบแขวนได้ตลอดปี  ดูแลรักษาง่าย โรคแมลงรบกวนน้อย  ให้ผลเล็กแต่ทว่าดก

ปลูกใส่กระถางแขวนสัก 1-2 กระถาง ไว้ระเบียงบ้าน ผลที่สุกแดงจะสร้างบรรยากาศให้สวยสะดุดตา เป็นทั้งไม้ประดับและอาหารได้ไม่เลว

“ไม่รวยก็สวยได้…ว่างั้นเถอะ”

เลือกเอาผลสุกมาผ่า แคะเอาเมล็ด ล้างน้ำให้เหมือนที่หุ้มเมล็ดออกให้หมด  แล้วเกลี่ยวางบนกระดาษโรเนียว  หรือกระดาษหนังสือพิมพ์  พอน้ำแห้งเมล็ดจะเกาะติดกระดาไว้แน่น  ผึ่งลมจนเมล็ดแห้ง  ก็นำไปเพาะในถ่านแกลบผสมทราย หรือดินร่วน

กลบเมล็ดด้วยดินร่วน  หนาไม่เกินครึ่งเซนติเมตร ประมาณ 4-7 วันเมล็ดจะเริ่มงอก

เมื่อต้นกล้าอายุ 14 วัน (มีใบจริง 2 ใบ) ก็ย้ายปลูกได้

วิธีหนึ่งที่ร่นเวลาเพาะเมล็ด นั่นคือตัดยอดยาวประมาณคืบหนึ่ง  จะตัดชำในถ่านแกลบทราย หรือน้ำก็ได้ ชั่วเวลา 7 วันเท่านั้น  รากจะออกมามากมาย แยกไปปลูก ได้ทันที

การให้ปุ๋ย

ใส่ปุ๋ยคอกตอนเตรียมดิน ส่วนปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ให้ภายหลังตามระยะที่มะเขือเทศต้องการ

ปุ๋ยเสริม

ถ้าเป็นดินเหนียว  ควรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนและพอตัสเซี่ยมเท่า ๆ กัน แต่ให้ฟอสฟอรัสสูงกว่า เช่น 15-30-15, 12-24-12 เป็นต้น

ถ้าเป็นดินทราย  ควรให้ปุ๋ยสูตรที่มีพอตัสเซี่ยมสูง  แต่ไม่มากกว่าฟอสฟอรัส เช่น 10-12-15 เป็นต้น

ถ้าเป็นดินทราย  ซึ่งเป็นดินที่ไม่ค่อยมีพอตัสเซี่ยม  จึงควรให้พอตัสเซี่ยมสูงกว่าตัวอื่น ๆ เช่น 12-12-17 หรือ 15-20-20 เป็นต้น

โดยปฏิบัติเพียง 4-5 กระถาง รดด้วยน้ำซาวข้าว น้ำคาวปลา น้ำล้างเนื้อ ก็เป็นการเพียงพอ

การให้น้ำ

มะเขือเทศต้องการดินชุ่มชื้น  แต่ไม่ชอบดินแฉะ  ควรให้ทีละน้อยแต่บ่อย ๆ จะได้ผลดี

ประโยชน์ใช้สอย

ก.  รับประทานผลสุกจิ้มเกลือ

ข.  ใช้ผลสุก 5-6 ผล ผัดข้าว

ค.  นำผลสุกมาต้ม แล้วนำมาคลุกกับน้ำพริกกะปิใส่ระกำ ผสมกับปูม้าหรือปูทะเลต้มแกะเนื้อ

ง.  ใส่ในต้มซุปเนื้อ

จ.  ผ่าซีก 5-6 ผล ต่อยใส่ไข่ 2 ฟอง คนให้เข้ากันแล้วเจียว

ฉ.  ตำน้ำพริกอ่อง

ช.  รวบรวมผลสุกต้ม  ใช้ตะแกรงตากแดดให้เหี่ยว เชื่อมน้ำตาล เป็นขนมหวาน

ซ.  คั้นน้ำแยกเมล็ดและเปลือกออก กรองเอาแต่เนื้อและน้ำเหยาะเกลือเล็กน้อย บรรจุขวดแช่เย็นดื่ม

หามะเขือเทศพันธุ์ป่า(มะเขือส้ม) ไม่ได้ มะเขือเทศสีดาที่วางขายตามตลาดก็ใช้ได้  ผลใหญ่ได้เนื้อได้หนังดี มากกว่าเสียอีก