โรคใบจุดและใบไหม้

(Alternaria diseases)
โรคใบจุดและใบไหม้ที่เกิดจากรา Alternaria นี้พบเป็นกับพืชต่างๆ หลายชนิดทั่วไป โดยเฉพาะ พืชผักและไม้ดอกไม้ประดับ เช่น มันฝรั่ง ถั่ว ผักกาด คะน้า กระหล่ำต่างๆ บานชื่น เบญจมาศ เป็นต้น และไม้ผลบางชนิด เช่น ส้ม มะนาว ฯลฯ โรคทำความเสียหายให้ตั้งแต่ระยะกล้า ใบ กิ่งก้าน ลำต้น และผล
อาการโรค ใบจุดมีสีนํ้าตาลเข้มถึงดำ แผลจะขยายใหญ่ขึ้น ปกติเห็นวงเข้มซ้อนอยู่ในแผลเป็นชิ้นคล้ายเป้ายิงปืน โรคจะเกิดที่ใบล่างก่อน แล้วลามสู่ใบยอด ใบที่เป็นโรคเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และร่วงได้ เมื่ออากาศแห้งหรือร้อนจัด แผลที่ลำต้นของกล้าพืช อาจเกิดอาการ canker และจะขยายใหญ่รอบก้าน แผลมีขนาดไม่แน่นอน มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม.ขึ้นไป และลึกประมาณ 5-6 มม.
ผลที่เป็นโรค มักถูกเชื้อเข้าทำลายเมื่อผลใกล้แก่แล้วพืชบางชนิด เชื้ออาจเข้าทำลายที่ปลายกิ่งก้าน และช่อดอก แผลเป็นจุดนํ้าตาลหรือดำ หรืออาจจุดเล็กๆ ชุ่มนํ้า เห็นขอบชัดเจนและอาจขยายใหญ่เกือบทั่วผลได้
เชื้อสาเหตุโรค: Alternaria sp.
เชื้อมีเส้นใยสีดำ การเจริญในเนื้อเยื่อที่เป็นโรคโดยเชื้อจะสร้าง conidiophores ตั้งตรง ขนาดสั้น ไม่แตกกิ่ง มี conidia เกิดเดี่ยวที่ปลาย หรือเกิดต่อกันเป็นลูกโซ่ Conidia มีขนาดใหญ่ ดำ ลักษณะยาว หรือคล้ายลูกแพร์ ที่มีผนังกั้นทั้งด้านขวางและด้านยาว Conidia หลุดได้ง่าย และปลิวไปตามลม พบในอากาศ และปะปนกับฝุ่นผงทั่วไป จึงมักไปปะปนในอาหารที่เลี้ยงเชื้ออื่นๆ ในห้องปฏิบัติการ
เชื้อมีหลายชนิดที่เป็น saprophyte เจริญเฉพาะบนเนื้อเยื่อพืชที่ตายแล้ว และบนเนื้อเยื่อที่แก่มาก เช่น ใบแก่ กลีบดอก ผลแก่ เป็นต้น จึงทำให็วินิจฉัยโรคที่เกิดจากเชื้อนี้ลำบากในการตัดสินใจว่า Alternaria sp. ที่พบนี้เป็นสาเหตุของโรค หรือเป็น saprophyte
วงจรของโรค
เชื้ออยู่ข้ามฤดูในเศษทรากพืชในรูปของเส้นใย อยู่ในเมล็ดในรูปของเส้นใยหรือสเปอร์ เชื้อที่ติดไปกับเมล็ดจะเข้าทำลายพืชในระยะต้นกล้า ทำให้เกิดโคนเน่าระดับดิน ลำต้นเป็นแผล และเน่า สปอร์ของเชื้อเกิดได้มากมายหากมีความชื้นสูง เช่น ฝนตก  นํ้าค้างตกมาก เชื้อสามารถเข้าทำลายโดยแทงผ่านผิวพืช หรือทางแผล แล้วไปเจริญภายในเป็นเส้นใย สร้าง conidia ใหม่ ปลิวไปตามลม หรือกระเด็นไปตามฝน ติดเครื่องมือทางการเกษตร ฯลฯ แพร่ระบาดต่อไป
การควบคุมโรค
1. ใช้พันธุ์ต้านทานโรค
2. ใช้เมล็ดที่ปราศจากเชื้อปลูก
3. คลุกเมล็ด และฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันโรค เช่น chlorothalonil, maneb, captafol เป็นต้น การฉีดพ่นเริ่มจากต้นกล้า หรือย้ายกล้าปลูกแล้ว ฉีดพ่นซํ้าทุก 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเสียหายของโรค และจำนวนฝนตก
4. ปลูกพืชหมุนเวียน
5. กำจัดเศษทรากพืชที่เป็นโรค โดยการเผา
6. กำจัดวัชพืชที่เป็นพืชอาศัย เพื่อลดปริมาณของ inoculum
โรคใบจุด ไหม้ และเน่าของพืช (Botrytis diseases)
โรคนี้พบมากที่สุดในท้องถิ่นที่มีการปลูกผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผล และพืชไร่บางชนิด โดยเฉพาะที่ปลูกในเรือนกระจก โรคจะแสดงอาการที่ ดอก ผล ลำต้น ใบ หัว ราก
อาการโรค
โรคมีอาการไหม้ที่ดอก ผลเน่า โคนเน่าระดับดิน อาการ canker หรือเน่าที่ลำต้น ใบจุด หัวและรากเน่า ในสภาพที่อากาศชื้น เชื้อราจะสร้างสปอร์เห็นเป็นชั้นสีเทาบนเนื้อเยื่อพืชที่เป็นโรค พืชที่ได้รับความเสียหายมาก ได้แก่ สตรอเบอรี่ ผักต่างๆ เช่น ถั่ว กระหล่ำปลี แครอท แตงกวา ผักกาด มะเขือ พริก มะเขือเทศ ฯลฯ ไม้ดอกไม้ประดับได้แก่ ซ่อนกลิ่น ฝรั่ง เบญจมาศ ตลอดจนผักและผลไม้ที่อยู่ระหว่างการขนส่ง สู่ตลาด
เชื้อสาเหตุโรค: Botrytis sp.
เชื้อมีเส้นใยสีเทา สร้าง conidiophores ยาวและแตกกิ่งก้าน เซลที่ปลายกลมมน ให้กำเนิด conidia รูปไข่ เกาะเป็นกลุ่ม Conidia มีเซลเดียว ไม่มีสีหรือสีเทา เชื้อสร้าง conidia อย่างมากมายในสภาพที่มีอากาศชื้น ปลิวไปตามลม บางครั้งเชื้ออาจสร้างเม็ด sclerotia ที่รูปร่างไม่แน่นอน แข็ง สีดำ บางชนิดพบขยายพันธุ์แบบใช้เพศโดยสร้าง ascospores ใน apothecium ใช้ชื่อว่า Botryotinia
วงจรของโรค เชื้ออยู่ข้ามฤดูโดยเจริญเป็นเส้นใยหรือเป็น sclerotia ในเศษซากพืชและในเดินเชื้อไม่เข้าทำลายเมล็ดแต่อาจปะปนไปกับเมล็ดในรูปของ sclerotia ซึ่งอาจมีขนาดเท่าเมล็ดพืชนั้น เชื้อต้องการสภาพอากาศเย็น อุณหภูมิประมาณ 18-23°ซ. ในการเจริญ สร้างสปอร์มากที่สุด ตลอดจนการงอกและเข้าทำลายพืช เชื้อผ่านเข้าสู่พืชโดยทางแผล เจริญเป็นเส้นใยบนกลีบดอกที่แก่ ใบที่กำลังตาย ฯลฯ Sclerotia ปกติงอกเป็นเส้นใย และสามารถเข้าทำลายพืชได้โดยตรง ส่วนการงอกไปเป็น apothecia เพื่อให้กำเนิด ascospores นั้นพบน้อยมาก
การควบคุมโรค
1. กำจัดเศษทรากพืชที่เป็นโรคในไร่และในห้องเก็บ
2. ปรับปรุงสถานที่ให้มีอากาศถ่ายเทเหมาะสม เพื่อให้พืชและผลผลิตแห้งโดยเร็ว เช่น ในเรือนกระจก ห้องเก็บ เป็นต้น
3. ห้องเก็บหัวหอม ควรอบด้วยไอร้อน 32-50 °ซ. เป็นเวลา 2-4 วัน เพื่อไล่ความชื้นก่อน แล้วปรับอุณหภูมิเหลือเพียง 3°ซ. ขณะเก็บ
4. ควบคุมโรคในไร่ขณะที่สภาพอากาศเย็นเหมาะแก่การเกิดโรค โดยการฉีดพ่นผักกาดหอมด้วย dichloran หรือ zineb หากเป็นต้นหอมและมะเขือเทศ ใช้ difolatan, dyrene, maneb-zinc, maneb หรือchlorothalonil
5. การควบคุมโรคผลเน่า เช่น สตรอเบอรี่ ใช้ฉีดพ่นด้วย captan, thiram หรือ benomyl
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช