การปลูกถั่วลันเตา


ถั่วลันเตาแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือชนิดหนึ่งมีฝักเหนียวและแข็ง เมล็ดโต ในต่างประเทศปลูกเพื่อรับประทานเมล็ด ส่วนอีกชนิดหนึ่งนั้นมีเมล็ดขนาดเล็ก ปลูกเพื่อรับประทานฝักสด ฝักมีขนาดใหญ่ มีปีกฝักสีเขียว เรียกว่าถั่วลันเตากินฝัก ฝักอ่อนมีรสหวานกรอบ ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะ
ถั่วลันเตากินฝักแบ่งออกเป็น 2 พันธุ์ คือพันธุ์ฝักใหญ่กับพันธุ์ฝักเล็ก เป็นที่ทางราชการได้ทดลองปลูกแล้วว่าเป็นพันธุ์ดี และดำเนินการส่งเสริมอยู่ในขณะนี้ คือพันธุ์ฟาง-7 ซึ่งเป็นพันธุ์ฝักใหญ่ ส่วนพันธุ์ฝักเล็กก็คือพันธุ์ เอ็มเจ 12 และเอ็มเจ 55 ซึ่งทั้ง 3 พันธุ์ กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้คัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรคอยให้การแนะนำอยู่อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้มีคุณภาพดีจริงๆ ฉะนั้นหากเกษตรกรสนใจพันธุ์ถั่วลันเตาดังกล่าว ก็อาจติดต่อโดยตรงกับกลุ่ม เกษตรกรที่อำเภอแจ้ห่ม จ.ว. ลำปาง เมล็ดพันธุ์ จะเริ่มมีจำหน่าย ประมาณเดือน เม.ย. ของทุกปี
ถั่วลันเตาชนิดกินฝักสดพันธุ์ส่งเสริมทั้ง 3 พันธุ์ มีคุณสมบัติดังนี้
พันธุ์ฟาง-7 เป็นพันธุ์ฝักใหญ่ ดอกสีม่วงมีคุณสมบัติที่ดีคือ
1. เจริญเติบโตเร็ว ออกดอกเมื่ออายุประมาณ 45-55 วัน (ถ้าอากาศหนาวจัดจะออกดอกช้ากว่าปกติ)
2. ฝักหนา หวานกรอบ และไม่มีใย
3. ขนาดฝักโดยเฉลี่ยยาว 10-12 ซม. กว้าง 25 ซม.
4. ฝักดก ผลผลิตสูง
5. ต้านทานต่อโรคราสนิม
พันธุ์เอ็ม.เจ. 12 เป็นพันธุ์ฝักเล็ก ดอกขาวมีคุณสมบัติที่ดี คือ
1. ให้ผลผลิตเร็ว ออกดอกเมื่ออายุ 30-40 วัน (ถ้าอากาศหนาวจัดจะออกดอกช้ากว่าปกติ
2. ต้นสูงประมาณ 1.2 ม.
3. มีกิ่งแขนงมากประมาณต้นละ 9 กิ่ง
4. ฝักสีเขียวจาง หวานกรอบ ไม่มีเส้นใย
5. ฝักมีขนาดโดยเฉลี่ยยาว 5.7 ซม. กว้าง 1.2 ซม. แต่ละฝักมีเมล็ด 2-3 เมล็ด
6. ออกฝักคู่ หรือมีฝักซ้อนละ 2 ฝัก มีฝักดกต้นหนึ่งจะมีฝักโดยเฉลี่ยประมาณ 98 ฝัก
7. ทนทานต่อโรคราสนิม โรคราแป้ง โรคราโคนเน่าเหลือง
8. ปลูกได้ทั่วประเทศ
พันธุ์ เอม.เจ. 55 ฝักเล็ก ดอกขาว มีคุณสมบัติที่ดี คือ
1. ให้ผลผลิตเร็ว ออกดอกหลังจากการปลูกประมาณ 35-50 ซม. (ถ้าอากาศเย็นจัดจะออกดอกช้ากว่าปกติ)
2. ต้นสูงเฉลี่ย 1.9 ม. มีแขนงโดยเฉลี่ยต้นละ 7 กิ่ง
3. ฝักมีสีเขียว หวานกรอบ ไม่มีเส้นใย
4. ขนาดของฝักโดยเฉลี่ยยาว 7 ซม. กว้าง 1.3 ซม. แต่ละฝักมีเมล็ด 4-7 เมล็ด เมล็ดมีขนาดใหญ่
5. ออกฝักเดี่ยว คือ 1 ช่อมี 1 ฝัก แต่มีฝักดกต้นละประมาณ 66 ฝัก
6. ทนทานต่อโรคราสนิม ราแป้ง และโคนเน่าเหลือง
7. ปลูกได้ทั่วประเทศ
เนื้อที่ 1 ไร่ ถ้าเมล็ดงอกดี ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5-6 ลิตร
ฤดูปลูก
ถั่วลันเตาเป็นพืชที่ชอบอากาศเย็น จึงนิยมปลูกกันในช่วงปลายฤดูฝนหรือต้นฤดูหนาว สำหรับบางท้องที่ ซึ่งมีอากาศเย็นตลอดปีควรปลูกนอกฤดู เพราะขายง่ายและได้ราคาดีกว่าปลูกในฤดู
การเตรียมดิน
ขุดดินทำเป็นแปลงขนาดกว้างประมาณ 50-60 ซม. เว้นทางเดินกว้าง 75 ซม. ถึง 1 ม. ย่อยดินให้ละเอียด และหาปุ๋ยมูลสัตว์หรือปุ๋ยหมัก ใส่ผสมลงไปในแปลงด้วยประมาณ 2 ถึง 5 กก. ต่อเนื้อที่ 5 ตารางเมตร ขุดหลุมปลูกตื้นๆ บนแปลงๆ ละ 2 แถว แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 15-20 ซม.
ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ ไว้ 1 คืน แล้วนำไปหยอดในหลุมๆ ละ 2 เมล็ด กลบดินและรดน้ำตาม คอยหายาฆ่าแมลงคลุกเมล็ดหรือจะฉีดพ่นบางๆ บนแปลงหลังปลูก เพื่อกันแมลงกัดกินเมล็ดด้วย
การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยที่ใช้กับถั่วลันเตาตวงเป็นปุ๋ยรวมที่มีธาตุ N.P.K อยู่ครบถ้วน เช่น ปุ๋ยสูตร 9-24-18 หรือสูตรใกล้เคียงใส่ไร่ละประมาณ 30-50 กก. โดยแบ่งปุ๋ยออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน
ส่วนที่ 1    ใส่หลังจากหยอดเมล็ด 1-2 วัน
ส่วนที่ 2    ใส่เมื่อต้นสูงประมาณ 10 ซม.
ส่วนที่ 3    ใส่หลังจากใส่ครั้งที่ 2 แล้ว 20 วัน
ส่วนที่ 4    ใส่หลังจากใส่ครั้งที่ 3 แล้ว 20 วัน
ก่อนใส่ปุ๋ยควรถอนหญ้าออกให้หมด แล้วโรยปุ๋ยเป็นแนวตามแถวห่างจากต้นประมาณ 7-10 ซม. เมื่อใส่ปุ๋ยแล้ว ต้องพรวนดินกลบปุ๋ยและรดน้ำด้วยทุกครั้ง
การรดน้ำ
ถั่วลันเตาไม่ชอบดินที่มีน้ำขัง ต้องมีทางระบายน้ำ การรดน้ำถั่วลันเตานั้นให้รดแต่พอสมควรอย่ารดมากเกินไป ต้องคอยตรวจดูแลแปลงถั่วลันเตาอยู่เสมอ อย่าให้มีการรดน้ำหรือมีน้ำขังแฉะได้
การทำค้าง
เมื่อถั่วลันเตาเริ่มมีมือเกาะ หรือมีอายุประมาณ 15 วัน ให้ทำค้างให้ถั่วลันเตาเกาะด้วย โดยใช้ไม้ไผ่สานห่างๆ ทำเป็นแผงสูงประมาณ 1 ม. ครึ่ง การตั้งแผงให้ตั้งไว้ระหว่างแถวถั่วลันเตาแล้วใช้ไม้ลวกปักยึดแผงไว้เป็นระยะๆ เพื่อกันลม
การเก็บฝักสด
ควรเก็บในขณะที่ฝักมีสีเขียวสด และยังแน่นกรอบอยู่ และมีขนาดโตเต็มที่ด้วย การเก็บถั่วถ้าปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป ฝักจะพองและน้ำหนักเริ่มลดลง ทำให้ขายยากและได้ในราคาต่ำ ผลผลิตทั่วไปถ้าปลูกถั่วลันเตา 1 ไร่ จะเก็บฝักสดได้ ประมาณ 500-900 กก.
การเก็บเมล็ดพันธุ์
การปลูกถั่วลันเตาเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดีไว้ปลูกนั้นค่อนข้างจะยุ่งยากมากคือเมล็ดที่จะใช้ปลูก เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ จะต้องเป็นพันธุ์ดีจริงๆ หรือทุกต้นที่ปลูกจะต้องมีลักษณะดีเกือบทุกต้นจึงจะได้ผลผลิตสูง ดังนั้นจึงควรใช้เมล็ดพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรได้ปรับปรุงพันธุ์ขึ้นเท่านั้น และในการปลูกเพื่อเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ ก็จะต้องปลูกให้ห่างจากบริเวณที่มีการปลูกถั่วลันเตาพันธุ์อื่นๆ มากๆ ด้วย เพื่อป้องกันมิให้แมลงนำเกสรที่อื่นมาผสมกับพันธุ์ของเรา ทำให้พันธุ์ เลวลงได้ แล้วต้องคอยตรวจดูต้นทุกต้นว่ามีต้นใดที่มีลักษณะไม่ดีปะปนอยู่บ้างหรือไม่ หากพบก็ต้องถอนทิ้งก่อนที่ต้นนั้นๆ จะออกดอก นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ อีกหลายอย่างที่จะต้องทำเพื่อให้ได้พันธุ์ดีสำหรับเกษตรกรที่อยู่ในแปลง ซึ่งไม่อาจจะหาพันธุ์ดีได้สะดวก ขอแนะนำให้เก็บพันธุ์ไว้ใช้เอง โดยถือปฏิบัติดังนี้ คือ
1. ตรวจดูแปลงถั่วโดยละเอียดถี่ถ้วน เห็นว่าต้นใดมีลักษณะดี คือให้ฝักใหญ่และดก รสดี ต้นแข็งแรงและไม่ค่อยเป็นโรค ไม่มีแมลงรบกวน ให้ทำเครื่องหมายกำกับต้นนั้นไว้ ให้เด่นชัด แล้วปล่อยให้ฝักแก่จนเหลืองและเหี่ยว และเก็บเมล็ดไว้ใช้ทำพันธุ์ในฤดูต่อไป
2. ตัดฝักออกมารวมกัน แล้วคัดฝักที่มีขนาดใหญ่ ไม่เป็นโรค แยกออกไปตากแดดให้แห้งสนิท และกะเทาะเอาเมล็ดออก เพื่อเก็บไว้ทำพันธุ์ ส่วนฝักที่มีขนาดเล็กควนนำไปประกอบเป็นอาหารเสีย
3. นำเมล็ดที่กระเทาะจากฝักใหญ่มาตัดเอาเมล็ดลีบ เมล็ดที่มีรอยแมลงกัด เมล็ดที่มีราออกทิ้งเสีย นำเมล็ดดีไปผึ่งแดดให้แห้งสนิท แล้วเก็บใส่ภาชนะตั้งไว้ในที่มีอากาศแห้งและเย็นที่สุดในบ้าน เพื่อจะได้เอาไว้ทำพันธุ์ต่อไป
โรคสำคัญของถั่วลันเตา
1. โรคราแป้ง เชื้อราชนิดนี้จะเข้าทำลายต้น ใบ ดอก และฝัก มองเห็นเป็นผงสีขาวคล้ายแป้งเกาะอยู่ตามส่วนต่างๆ ดังกล่าว ถ้าโรคระบาดมากจะเห็นมีผงสีขาวปกคลุมหมดทั้งต้น และถ้าเขย่าต้นผงขาวนี้จะปลิวออกไปได้ และถ้าใช้มือลูบตามต้น ผงขาวจะหลุดติดมือออกมา การป้องกันโรคนี้ได้โดยคอยตรวจดูแปลงอยู่เสมอ ถ้าพบว่าเริ่มมีใช้ยากำจัดโรคราแป้งที่ได้ผลดีดังนี้
-ใช้เป็นโนมิลหรือเบนเลทฉีดพ่นทุก 10 วัน
-กำมะถันผงชนิดละลายน้ำ ใช้กำมะกันผง 3 ช้อนสังกะสี ละลายในน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 5 วัน
2. โรคยอดใบและฝักเน่า ยอดใบและฝักเน่าเป็นสีน้ำตาล บนแผลมีเส้นใยสั้นๆ สีเทาอ่อนและมีตุ่มสีดำเล็กๆ ขึ้นปกคลุม มองเห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า อาการเน่าและลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ส่วนที่จะเน่าจะแห้งติดกับต้นเป็นส่วนมากไม่ร่วงหล่นหายไป การป้องกันโดยใช้ยาดังนี้ คือ เช่น บาเนบ ไซเนบ ไดโพลาแทน แมนเชทดี คอปปริไซด์ โลนาโคล ฯลฯ ฉีดให้สม่ำเสมอทั่วถึงกัน 3-5 วันต่อครั้ง แต่ควรลดความเข็มข้นของยาลง โดยใช้อัตราต่ำที่สุดที่บอกไว้ในฉลาก
3. โรคต้นเหลืองตาย ใบล่างๆ จะเหลืองแล้วแห้งลุกลามขึ้นมาข้างบนอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีอาการอย่างอื่นเป็นผลทำให้ต้นแห้งตาย พบมากในระยะเริ่มปลูก ถ้าตอนต้นขึ้นมาดูจะพบรอยแผลเจาะ รากมักผุเปื่อยมาถึงโคนต้น สาเหตุเนื่องจากมีน้ำขังแฉะมากเกินไป และเกิดจากเชื้อรายาที่ใช้ป้องกันกำจัด คือ มาลาไธออน 57% อี.ซี. มาลาไธออน 85% อี.ซี. ซูมิไธออน 50% อี.ซี. ฉีดพ่นยากำจัดแมลง อย่าให้มีน้ำขังแฉะในแปลง
4. โรคราสนิม ในระยะแรกจะเห็นเป็นจุดสีขาวนูนใต้ใบ ต่อมาจุดนี้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง โรคจะเริ่มเป็นที่ใบล่างก่อน แล้วลุกลามขึ้นไปข้างบน ป้องกันโดยใช้ ไดเทน เอม. 45 ฉีดพ่นทุกสัปดาห์
แมลง
มีหนอนเจาะฝัก ป้องกันได้โดยเมื่อสังเกตเห็นมีผีเสื้อวางไข่ที่ใบ หรือเมื่อถั่วลันเตาเริ่มออกดอก ก็เริ่มฉีดด้วยยา พวกสารประกอบประเภทฟอสฟอรัส เช่น พามารอน มาลาไธ¬ออน หรือพาลาไธออนทุกๆ 10 วัน จนกว่าหนอนจะหมด