เรื่องของสะตอพืชทำเงิน

ท่านที่เคยผ่านไปตะวันออกโดยใช้เส้นทางชลบุรี-แกลง คงจะเคยผ่านสวนสะตอสวนหนึ่งอยู่ทางซ้ายมือ เท่าที่ทราบไม่ค่อยออกฝักให้เจ้าของสวนได้เชยชมเท่าไรนัก  เมื่อเดือนสิงหาคมพบกับเจ้าของร้านหนังสือชาวบ้าน อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี  ซึ่งเป็นพี่เขยของท่านรองปลัดอนันต์  ดาโลดม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่าปลูกสะตอไว้ร่วม 20 ไร่หลายปีแล้วไม่ยอมออกฝักสักที อยากจะโค่นทิ้ง

สะตอนั้นถือว่าเป็นไม้ผลที่รับประทานแบบผัก  จะเป็นสะตอผัด สะตอจิ้มน้ำพริก นอกจากรับประทานสด ๆ แล้ว สะตอดองน้ำเกลือก็เป็นวิธีหนึ่งที่ชาวบ้านใช้เป็นกรรมวิธีเก็บรักษาสะตอไว้รับประทานในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูสะตอ ในประเทศมาเลเซียมีการทำเป็นสะตอในน้ำเกลือบรรจุกระป๋องขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตเหมือนผักกระป๋องหรือผลไม้กระป๋องกันทีเดียว

ใคร ๆ ก็ทราบว่าสะตอนั้นราคาดี เพราะความนิยมในการรับประทานไม่เฉพาะแต่คนใต้หรือชาวปักษ์ใต้เท่านั้น คนภาคกลางหรือภาคอื่น ๆ ก็นิยมกันอย่างแพร่หลาย  ตลาดผู้บริโภคขยายตัวออกไปกว้างขวาง แต่ปริมาณการผลิตและแหล่งผลิตไม่เพิ่มหรือกลับลดลงด้วยซ้ำ  ในหลักทางเศรษฐศาสตร์นั้นสะตอถือว่าอุปสงค์มากกว่าอุปทานหรือความต้องการตลาดมากกว่าปริมาณผลผลิตราคาของสะตอจึงแพงและนับวันจะแพงขึ้นเป็นลำดับ

สะตอเป็นพืชในวงศ์ Mimosaceae ในสกุล Parkia พืชในสกุลนี้มีอยู่ประมาณ 40 ชนิด แต่ที่พบในประเทศไทย  และพอคุ้นเคยกันเช่นสะตอ (Parkia speciosa Hassk.) เหลือง (Parkia timoriana Merr.) ลูกดิ่ง (Parkia sumatrana Miq. Sum) ค้อนก้อง (P. leiophylla Kurz.)

สายพันธุ์ของสะตอ

เท่าที่ทราบกันทั่วไปว่าสะตอมี 2 สายพันธุ์คือสะตอดานและสะตอข้าว สะตอดานมีเมล็ดใหญ่ ฝักใหญ่ตรงและเป็นพันธุ์หนักคือให้ผลช้าและแก่ช้ากว่าสะตอข้าว ส่วนสะตอข้าวจะมีลักษณะฝักบิด เป็นพันธุ์เบาให้ผลเร็วและเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่า ความฉุนจะน้อยกว่าสะตอดาน

เนื่องจากความนิยมในการบริโภคสะตอข้าวและการที่สะตอข้าวสามารถให้ผลผลิตได้เร็วกว่าสะตอดาน การปลูกสะตอของชาวสวนโดยทั่วไปในปัจจุบันจึงมักจะเน้นสะตอข้าว ส่วนสะตอดานจะพบเห็นในท้องตลาดน้อยมากหรือแทบไม่พบ

อย่างไรก็ตามถ้าศึกษาลักษณะดอกของสะตอแล้ว  จะทราบว่าสะตอจะมีลักษณะดอกเป็นดอกรวมอัดแน่นเป็นกระจุกเป็นปุ่มห้อยลงมา  แต่ละช่อดอกจะประกอบด้วยดอกย่อย  ซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศ การออกดอกหรือออกช่อดอกของสะตอแต่ละรุ่นจึงมักติดฝักได้ง่าย นอกจากสภาพอากาศจะแห้งแล้งจนไม่ปกติ และลมแรงทำให้ดอกร่วงมากเท่านั้น การผสมเกสรของสะตอเป็นการผสมตัวเองมากกว่าการผสมข้าม  เพราะหากมีการผสมข้ามเราคงจะพบเห็นสะตอที่มีลักษณะฝักแปลก ๆ ออกไปมากมายแต่เท่าที่พบเห็นในท้องตลาดมีลักษณะใกล้เคียงกันเป็นส่วนใหญ่ ผิดแผกกันไปบ้าง  ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ หรือสภาพดินฟ้าอากาศแต่ละพื้นที่ที่ปลูกมากกว่า

ถ้าสะตอต้องมีการผสมข้ามดอก โดยแต่ละดอกในต้นหรือต่างต้นซึ่งจะทยอยบาน ถ้าเป็นเช่นนี้การผสมเกสรก็ต้องอาศัยลมหรือแมลงช่วยจึงจะสามารถติดฝักได้ดี  ขณะเดียวกันก็ต้องเลยไปถึงในกรณีการนำพืชในสกุลสะตอคือเหลียงมาปลูกผสมในสวนเพื่อช่วยในการผสมเกสร แน่นอนหากเรานำสะตอที่ได้รับอิทธิพลเกสรตัวผู้จากเหลียงก็จะกลายพันธุ์ออกไปเป็นสะตอพันธุ์ใหม่ก็เป็นได้

เรื่องของการเพิ่มผลผลิต  โดยการช่วยให้พืชมีการติดผลดี  โดยการช่วยผสมเกสรในบ้านเรานั้นที่ประสบความสำเร็จมากก็คือ ทุเรียนซึ่งเรื่องนี้ต้องมอบโล่ให้ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี และอีกเรื่องคือสละเนินวง โดยการใช้เกสรตัวผู้จากสละไม่มีหนามหรือที่เรียกว่าสะกำ  การช่วยผสมเกสรสละนั้นผู้ที่จุดประกายเรื่องนี้คือ ดร.จารุพงศ์  บุญหลง  ซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว  หากใครนำเมล็ดของสละที่ทำการผสมเกสรด้วยสละไร้หนามไปปลูก มีโอกาสได้ลูกผสมดี ๆ ที่น่าสนใจอย่างแน่นอน

มีการคัดสายพันธุ์สะตอกันบ้างหรือไม่

เท่าที่ทราบได้มีการพยายามคัดเลือกสะตอต้นที่ออกทะวาย  ออกฝักง่ายเป็นพันธุ์เบา ทำการติดตาหรือเสียบยอดบนต้นตอเหลียงหรือสะตอเพาะเมล็ด  แต่เท่าที่ผู้เขียนสังเกตสะตอในตลาดจะพบว่ามีสะตอขายเกือบตลอดปี ช่วงที่มีชุกมาที่สุดคือช่วงที่สะตอของ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชออกสู่ตลาดช่วงนี้จะมีสะตอมากกระจายทั่วตลาดกทม.  ซึ่งถ้าสังเกตจากแหล่งผลิตแล้ว สะตอทางภาคตะวันออกจะออกสู่ตลาดประมาณพฤษภาคม และเลื่อนไปเป็นสะตอทางภาคใต้ต่อไปเรื่อย ๆ จนสุดจังหวัดยะลา และนราธิวาส เขตใดออกก่อนหลังขึ้นอยู่กับปริมาณฝนแล้งเร็วหรือช้า ในเขตนั้น ๆ ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนผู้เขียนเองเดินทางไปประเทศอินโดนีเซีย ที่กรุงจาการ์ต้ามีสะตอวางขายอยู่ทั่วไป ซึ่งลักษณะฝักก็เหมือน ๆ กับสะตอบ้านเราแต่เสียดายที่ไม่มีโอกาสชิมกลาง ๆ เดือนพฤศจิกายน เช่นเดียวกันผู้เขียนลงไป ต.เกาะยอ จ.สงขลา ได้แวะที่ตลาดเกาะยอเห็นมีสะตอขายอยู่มากมายเลยอุดหนุนมาอย่างจุใจสะตอในช่วงนี้ที่ตลาด อ.ต.ก.ของกทม. จะตกฝักละประมาณ 7 บาท หรือ 3 ฝัก 20 บาท หรือขีดละ 25 บาท หรือกิโลกรัมละ 250 บาททีเดียว

เมื่อเดือนมกราคม 2537 ผมเดินทางไปตะวันออกที่บ้านของคุณวัฒนา  ศิริสาคร  นายกสมาคมชาวสวน จ.ตราด มีสะตอต้นใหญ่ปลูกหน้าบ้าน ซึ่งกำลังออกฝักพอดี (เดือนมกราคมฤดูเงาะออกดอก) ส่วนอีกต้นเป็นสะตอที่ได้มาจากต้นติดตา  บอกว่าออกทะวายดีแต่คุณวัฒนาบอกว่าปลูกมาหลายปีแล้ว ไม่เห็นออกฝักสักที

ทั้งหมดที่เล่ามานี้เพื่อเป็นการให้ข้อสังเกตว่าทะวายของสะตอนั้นน่าจะมีปัจจัยหลัก ๆ อยู่ 2 เรื่อง คือ สภาพแวดล้อมและอันดับถัดมาคือสายต้น (clone) ของสะตอต้นนั้น ๆ ต้นที่ทะวาย ณ ที่แห่งหนึ่งทะวายดี แต่เมื่อนำไปปลูกอีกแห่งอาจไม่ทะวายก็ได้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาอย่างละเอียดกันต่อไป

ที่ตำบลเกาะยอมีการพูดถึงเสมอว่า สะตอต้นนั้นอร่อย ต้นนี้อร่อย ทั้งที่เป็นสะตอข้าวและปลูกอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน แสดงว่านอกจากการเก็บสะตอที่แก่จัดได้ระยะพอดีแล้ว  เรื่องของสายต้นก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

การสร้างสวนสะตอ

ด้วยเหตุผลที่สะตอนั้นเป็นพืชป่าชอบสภาพอากาศร้อนชื้น ฝนชุกตั้งแต่ 1,500 มม.  ชอบดินที่มีหน้าดินลึกการระบายน้ำดี  สภาพเช่นนี้สะตอจะชอบมากและเจริญเติบโตเร็ว  และหากศึกษาสภาพธรรมชาติที่เราพบเห็นสะตอโดยธรรมชาติในประเทศไทยได้แก่ จ.กาญจนบุรี ภาคตะวันออก ภาคใต้ตั้งแต่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ลงไป ในเขตพื้นที่เหล่านี้ย่อมแน่นอนอยู่แล้วว่าสามารถปลูกสะตอได้ แต่ที่เมืองซูบัง อินโดนีเซีย ซึ่งอากาศเย็นเพราะสูงจากระดับน้ำทะเลหลายร้อยเมตร  พบเห็นสะตอปลูกไว้โดดเดี่ยวหน้ารีสอร์ทแห่งหนึ่ง  เขาก็เจริญเติบโตได้ดี  แต่สภาพฝนที่นั่นชุกและน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดปี  จึงเชื่อได้ว่าเราสามารถปลูกสะตอในเขตต่างถิ่นได้ แต่ต้องเลียนแบบธรรมชาติเลือกจุดที่เหมาะสมให้เขา (micro climate) ก็มีโอกาสขึ้นได้เหมือนกับทุเรียนอุตรดิตถ์ เป็นต้น

การปลูกสะตอควรปลูกแบบพืชเสริมหรือสวนป่า

ชาวสวนหลายรายในเขตภาคตะวันออกปลูกสละควบคู่กับสะตอคือให้สละเป็นพืชระดับต่ำสูงไม่เกิน 3 เมตร ให้ความชุ่มชื้นที่ดีเพราะสละเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง  ชาวสวนจึงให้ปุ๋ยและให้น้ำอย่างเพียงพอ  ส่วนสะตอก็เจริญเติบโตเป็นร่มให้กับสละไปด้วยในตัว  โดยระยะการปลูกสะตอควรเป็นระยะค่อนข้างชิดเล็กน้อย เพื่อจะได้ช่วยสร้างร่มเงาแก่สละได้มากขึ้น

ที่ จ.ชุมพรจะมีการปลูกสะตอแซมในสวนกาแฟ  ซึ่งสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน

ที่ตำบลเกาะยอ จ.สงขลา ในขณะนี้ต้นจำปาดะได้ตายลงเป็นจำนวนมาก  เพราะโรคจากเชื้อแบคทีเรีย (Erwinia spp.) ซึ่งนักวิชาการยังหาคำตอบไม่ได้ว่าจะแก้ได้อย่างไร  ระยะหลังชาวสวนที่ประสบปัญหาจำปาดะตายต้นจะเปลี่ยนเป็นกระท้อนและสะตอกันมากขึ้น เห็นชาวสวนบางรายปลูกสะตอแซมเข้าไปในสวนจำปาดะที่ยังไม่ตาย  ซึ่งจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ จึงปลูกสะตอแซมไว้ก่อน สะตอจากการเพาะเมล็ดต้นสูงชะลูด เพราะต้องแย่งแสงแดดกับต้นจำปาดะและต้นละมุดอายุร่วม 15 ปีที่ขึ้นอยู่ก่อน สะตอที่มาจากการเพาะเมล็ดชาวสวนบอกว่าจะเริ่มออกฝักให้ลิ้มชิมรสได้เมื่ออายุย่างเข้าปีที่ 5 แม้ในสภาพครึ้มเพราะมีไม้อื่นขึ้นหนาแน่นอยู่ก่อน แต่สะตอก็สามารถเจริญเติบโตแทรกขึ้นได้

จากสภาพธรรมชาติประการดังกล่าวของสะตอเราจึงน่าจะพัฒนาการปลูกสะตอแบบสวนผสมหรือสวนป่า  กรณีของการปลูกเป็นสวนป่าคือ นำสะตอที่ได้จากการเพาะเมล็ดปลูกแซมในสภาพสวนที่ยังไม่ทำการถาง หรือเข้าไปไถพรวนปรับสภาพ ซึ่งสภาพพื้นที่เช่นนี้คาดว่ายังมีอยู่อีกพอสมควร  ในเขตภาคตะวันออกหรือภาคใต้  หรือกรณีของการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติขององค์กรเอกชนต่าง ๆ น่าจะปลูกป่าสะตอ  นอกจากจะได้ความเขียวครึ้มแล้ว ยังเป็นป่าที่ให้ผลผลิตแก่ชาวประชาที่จะเก็บเป็นรายได้อีกด้วย

กรณีของสวนผสมที่เจ้าของสวนอาจจะปลูกไม้ผลหลักอื่น ๆ อยู่แล้ว เช่น ปาล์มน้ำมัน หรือสวนผลไม้อื่น ๆ ก็น่าจะปลูกสะตอแซมเข้าไปได้ เพราะเมื่อสะตอต้นโตขึ้น ความโปร่งของกิ่งใบจะไม่รบกวนพืชหลักของเราแต่ประการใด

สำหรับท่านเข้าของสวนที่ปลูกสะตอไว้เป็นพืชเชิงเดี่ยวคือปลูกสะตอล้วน ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ความชื้นในสวนจะไม่เพียงพอ  ทำให้สะตอไม่ออกฝักหรือออกน้อยไม่คุ้มค่า  ต้องรีบแก้โดยหาพืชร่วมเช่น สละ กาแฟ โกโก้ และควรติดตั้งระบบน้ำเข้าไปช่วยด้วย  จะได้ผลดีทั้งพืชร่วมและสะตอ

แม้ว่าสะตอจะสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ การติดตาก็ได้ ผู้เขียนมีความเชื่อว่าสู้วิธีการเพาะเมล็ดนำไปปลูกโดยตรงไม่ได้ แต่ต้องคัดเมล็ดจากต้นที่ดก  อร่อยลักษณะดี  นำฝักที่แก่จัดซึ่งจะมีสีดำแกะเอาเฉพาะเมล็ดสีเขียวนำไปเพาะในถุงพลาสติกจนต้นโตสูงประมาณ 50 ซม.  จึงค่อยนำไปปลูก  โดยปลูกในช่วงฤดูฝนจะดีที่สุด บำรุงดี ๆ ไม่เกิน 5 ปี ก็สามารถเริ่มให้ผลผลิตได้

ที่ศูนย์ส่งเสริมผลิตภัณฑ์พืชสวน จ.ระยอง  กรมส่งเสริมฯ ได้นำสะตอดานติดตากับต้นตอเหลี่ยง  ปรากฎว่าสะตอดานดังกล่าวทะวายดีเพราะคัดจากสะตอดานทะวายมาติดตาไว้ ท่านที่สนใจแวะไปชมดูได้เพื่อจะได้ตัดสินใจว่าจะปลูกแบบเพาะเมล็ดหรือติดตาดี

ข้อสังเกตสะตอกับสารบังคับการออกดอก

จากการที่ได้เรียนไว้ตอนต้นว่า  หากสะตอมีความสมบูรณ์เพียงพอมีการคัดเลือกสายต้น (clone) ทั้งทะวายตั้งแต่แรก เมื่อสภาพอากาศเหมาะสมคือมีช่วงแล้งหรือฝนทิ้งช่วงให้สะตอก็จะออกดอกได้ และบางครั้งการออกดอกจะทะยอยไปเรื่อย ๆ ในต้นเดียวกัน มีตั้งแต่ระยะดอกไปจนถึงระยะฝักแก่

มีสวนทุเรียนอยู่สวนหนึ่งที่ จ.ชุมพร พื้นที่ส่วนใหญ่จะปลูกทุเรียนรอบ ๆ สวนเป็นแนวรั้ว  ส่วนหนึ่งจะปลูกสะตออายุประมาณ 10 ปี ทุเรียนหมอนทองทั้งหมดของสวนจะมีการใช้สารพาโคลบิวทราโซล  เพื่อบังคับการออกดอกจนทุเรียนหมอนทองแตกกิ่งน้ำค้างภายในทรงพุ่มอย่างมากมาย  แสดงถึงปริมาณรับสารของต้นที่มากจนเกินไป ทำให้ต้นทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัดเจน  แต่สำหรับต้นสะตอซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับทุเรียนกลับออกดอกและติดฝักอย่างดี  โดยไม่มีอาการทรุดโทรมให้ปรากฎแต่ประการใด  ข้อสังเกตที่น่าจะเป็นสิ่งที่พอเป็นแนวได้ว่าการทำสวนสะตอเราสามารถบังคับนอกฤดูได้  โดยใช้สารชะลอการเจริญเติบโตดังกล่าว เพียงแต่ต้องศึกาปริมาณการใช้ที่เหมาะสมของแต่ละขนาดกิ่งก้านสาขาต้นต่อไป

ขอย้ำว่าข้อสังเกตนี้เป็นเพียงข้อสังเกตยังไม่มีการศึกษาทางวิชาการที่ชัดเจนแต่ประการใด ชาวสวนต้องหาทางศึกษาทดลองอัตราที่เหมาะสมเอาเอง แต่ขอย้ำว่าไม่แนะนำให้ใช้กับต้นที่อายุน้อยจนเกินไป (ไม่ต่ำกว่า 5 ปี)

ปัญหาศัตรูยิ่งใหญ่ของสะตอ

ปัญหาที่พบพอสมควรก็คือหนอนกินเมล็ดหรือหนอนเจาะฝัก  โดยเฉพาะสะตอยิ่งฝักแก่หรือสุกจะพบตัวหนอนวัยแก่มากยิ่งขึ้น  ผู้เขียนสังเกตว่าหนอนกินเมล็ดหรือเจาะฝักสะตอจะพบมากในบางฤดูและบางแหล่งปลูก  การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยวิธีพ่นสารกำจัดคงทำได้ลำบาก  เพราะสะตอต้นสูงมาก และไม่ควรทำ ควรใช้วิธีธรรมชาติคือการปลูกสะตอแบบสวนป่าหรือสวนผสมจะทำให้ปัญหาหนอนชนิดนี้ลดปริมาณลงโดยปริยาย

ปัญหาอีกประการคือหนอนชอนเปลือกแบบเดียวกับในลองกอง ซึ่งผู้เขียนพบที่ประเทศอินโดนีเซียค่อนข้างรุนแรงมาก  สำหรับในบ้านเราเองก็มีพบบ้างแต่ยังไม่รุนแรงมาก  โดยเฉพาะหากการปลูกแบบสมดุลคือ แบบสวนผสมหรือสวนป่า ปัญหาดังกล่าวคงจะลดน้อยลงมาก

ขอแถมท้ายสูตรปรุงสะตออร่อย ๆ

ผู้เขียนเองเป็นคนเมืองใต้ พวกสะตอเช่นเดียวกันที่เขากล่าวขานกันนั่นแหละ แต่เดี๋ยวนี้สะตอที่กำลังเขียนถึงนี้ดูเหมือนจะเป็นพืชเชื่อมสัมพันธ์ที่ดีของชนทุกภาค  เพราะเดี๋ยวนี้สะตอเป็นที่นิยมของประชาชนทุก ๆ ภาคก็ว่าได้ จึงใคร่ขอฝากสูตรปรุงสะตอที่เรียกว่า ผัดเปรี้ยวหวาน สูตรพิเศษคือแทนที่จะใช้มะนาวแต่ใช้ส้มแขกแทนครับ

ส่วนผสม

1.  สะตอซอยบาง ๆ แช่น้ำทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมง  มากน้อยพอสมควร (1 เมล็ดซอยออกเป็น 3 ซีก)

2.  ส่วนผสมอื่น ๆ กุ้งทะเลหรือหมูเนื้อแดงก็ได้

3.  น้ำตาลปี๊บ

4.  ส้มแขก 3 ชิ้นแช่น้ำไว้ โดยใส่น้ำสักครึ่งถ้วย

5.  กระเทียมทุบ 2 กลีบ

การปรุง

ใส่น้ำมันเจียวกระเทียมจนสุกหอม ใส่กุ้งหรือหมู เติมน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ (น้ำตาลทรายจะไม่อร่อย) หากชอบกะปิจะเติมกะปิลงไปด้วยก็ได้ ผัดจนหมูหรือกุ้งสุก  ใส่สะตอที่เตรียมไว้ ใส่ส้มแขกพร้อมกับน้ำที่แช่ส้มแขกเติมน้ำลงไปให้พอปริ่ม ๆ ใช้ไฟปานกลาง ผัดเคี่ยวไปเรื่อย ๆ ประมาณ 5 นาที หรือจนสะตอ เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง (ความฉุนจะลดลง) และเหลือน้ำเหนียว ๆ ส้มแขกจะให้รสเปรี้ยวที่กลมกล่อมอร่อยกว่ามะนาว ใกล้เคียงกับมะขามเปียกนั่นหมายความว่าท่านจะใช้มะขามเปียกหรือมะนาวแทนก็ได้ ท่านที่หาส้มแขกไม่ได้ที่กทม. ตลาดอ.ต.ก. จะมีร้านขายของจากปักษ์ใต้อยู่ร้านหนึ่งด้านหลังของตลาด มีทั้งกุ้งแห้ง กุ้งเสียบ กะปิ น้ำบูดูและส้มแขก ผู้เขียนเองเวลาไปตลาด อ.ต.ก. บางครั้งอุดหนุนส้มแขกแห้งมาครั้งละครึ่งกิโลกรัม ประมาณ 100 บาท เก็บไว้ใช้ต้มยำ ยัดเปรี้ยวหวานคือปรุงอาหารแทนมะนาวได้เกือบทุกอย่าง คิดแล้วราคาถูกกว่ามะนาวและใช้สะดวกกว่ามะนาวมาก

สูตรปรุงสะตอมีอีกมากมายแล้วแต่จะพลิกแพลง แต่ที่แม่ค้าข้าวแกงในกรุงเทพฯผัดสะตอเห็นเมล็ดสะตอยังเขียว ๆ อยู่ ทานแล้วจะเหม็นมาก ๆ แล้วไม่อร่อย ลองสูตรข้างต้นดูสิครับ

ส่งท้ายอีกนิดวิธีการเก็บสะตอให้สดไว้นาน ๆ

มี 2 ลักษณะคือ เก็บไว้ทั้งฝักสด ๆ ให้ท่านนำสะตอทั้งฝักบรรจุใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่นเก็ยไว้ในตู้เย็นช่องเก็บผักจะเก็บได้ประมาณ 2 สัปดาห์  อีกลักษณะหนึ่งคือ แกะเมล็ดออกจากฝักไม่ต้องแช่น้ำอย่าให้เปียกน้ำ ใส่ในถุงพลาสติกแห้ง ๆ มัดปากถุงให้แน่นเก็บไว้ในตู้เย็นช่องผัก จะเก็บได้ประมาณ 2 สัปดาห์เช่นกัน  การทดลองนี้เป็นเพียงการทดลองน้อย ๆ ของผู้เขียนเอง  หากท่านจะทำเป็นอุตสาหกรรมจำนวนมาก ๆ ควรศึกษา ละเอียดมากกว่านี้

ตั้งใจว่าจะเขียนสั้น ๆ พอเป็นแนวเพื่อกระตุ้นเพื่อนชาวสวนและนักวิชาการ นักส่งเสริมให้หันมาให้ความสนใจกับพืชตัวนี้กันจริงจังมากขึ้น พอลงมือเขียนจบไม่ลงก็ต้องมาลงตรงนี้ล่ะครับ

ข้อมูล:นายเกษตร  เมืองใต้