โรคของหน่อไม้ฝรั่งในประเทศไทย

1.โรคราสนิม (rust)

มีผู้พบโรคราสนิมของหน่อไม้ฝรั่งครั้งแรกในทวีปยุโรป และพบต่อมาในรัฐแถบตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อราวปี ค.ศ. 1880 ฝั่งตะวันออกเมื่อปี 1896 โดยได้เกิดระบาดทำความเสียหายให้กับหน่อไม้ฝรั่งที่ปลูกในรัฐบอสตัน นิวเจอร์ซี่ เดลลาแวร์ และลองไอร์แลนด์ ปัจจุบันพบระบาดทั่วไปในเกือบทุกแห่งของโลกที่มีการปลูกพืชนี้

นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับหน่อไม้ฝรั่งแล้ว ยัง พบว่าเชื้อสาเหตุโรคชนิดเดียวกันนี้ สามารถเข้าทำลายพืชพวก หอม กระเทียม และอื่นๆ ในตระกูล Alliums ได้อีกด้วย สำหรับในหน่อไม้ฝรั่งแม้ว่าโรคนี้จะไม่ก่อให้เกิดอาการหรือทำลายส่วนหน่ออื่นที่รับประทานได้ ส่วนใหญ่จะเป็นกับต้น กิ่งก้านที่แก่แล้ว แต่ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบราก ทำให้ต้นโทรม ผลผลิตลดลง แต่ถ้าเป็นรุนแรงมากๆ ก็อาจทำให้ถึงตายทั้งต้นได้

ลักษณะอาการโรค

อาการระยะเริ่มแรกจะปรากฏบนกิ่งหรือแขนงเล็กๆ ที่เพิ่งแตกออก โดยจะเกิดเป็นตุ่มยาวเล็กๆ สีน้ำตาลหรือแดงขึ้นก่อน ต่อมาตุ่มเหล่านี้จะแตกออกเกิดแผลเล็กๆ มากมาย ลักษณะเป็นจุดหรือขุยสีน้ำตาลแดง โดยแผลเหล่านี้จะเป็นที่เกิดของสปอร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อแก่จะหลุดกระจายไปตามลมหรือสิ่งที่ไปสัมผัสถูกต้องเข้า กิ่งหรือต้นที่แสดงอาการจะแห้งและแก่เร็วก่อนกำหนด ต่อมาในตอนปลายๆ ฤดูปลูก หรือใกล้เก็บเกี่ยวจุดแผลสีแดงหรือน้ำตาลจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีดำ ทำให้กิ่งหรือแขนงที่แห้งกลายเป็นสีดำไปด้วย

เชื้อสาเหตุโรค

เชื้อสาเหตุโรคราสนิมของหน่อไม้ฝรั่ง คือ Puccinia asparagi De Candolle เป็นเชื้อที่ต้องการพืชชนิดเดียว (autoecious rust) ในการสร้าง stage ต่างๆ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 stages คือ pycnidia และ aecia เป็น stage ที่ 1 และ 2 ซึ่งจะมีการสร้าง pycniospore และ aeciospore ตามลำดับ สอง stages นี้จะเกิดขึ้นพร้อมกันในตอนต้นฤดู โดยจะสังเกต เห็นแผลลักษณะรูปไข่สีเขียวอ่อนบนต้น กิ่งก้านที่งอกพ้นดินขึ้นมา สปอร์ทั้งสองชนิดนี้จะถูกพัดพาให้แพร่กระจายโดยลม นํ้า แมลง และสิ่งที่เคลื่อนไหวต่างๆ เมื่อตกลงบนพืชมีความชื้นพอเพียงก็จะงอก germ tube ส่งเข้าไปภายในต้นหน่อไม้ฝรั่งทางช่อง stomata ไปเจริญเติบโตอยู่ระหว่างเซลล์เมื่อแก้ก็จะสร้างชั้นของ fruiting body ซึ่งเป็นที่เกิดของสปอร์ ขึ้นใต้ผิว epidermis ซึ่งต่อมาจะถูกดันให้เปิดออกเกิดเป็น stage ที่สามคือ uredia ซึ่งมีการสร้างสปอร์ที่เรียกว่า urediospore ลักษณะกลมเซลล์เดียว สีแดงหรือสีอิฐบนก้านสั้นๆ สปอร์ใน stage ที่สามนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการแพร่ระบาด โดยเฉพาะจึงมีจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับสปอร์ที่สร้างขึ้นใน stage อื่นๆ โดยเมื่อเกิด stage นี้ขึ้นจะเห็นสปอร์สีแดงฟุ้งกระจายติดอยู่กับพืช ดิน หรือสิ่งต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง เป็นสีแดงไปหมด แต่ urediospore เป็นสปอร์ที่ค่อนข้าง จะมีอายุสั้น ไม่สามารถอยู่ข้ามฤดูได้ จะงอกก็ต่อเมื่อตกลงบนพืชและมีความชื้นเท่านั้น หลังจากเข้าทำลายพืชจนแสดง อาการแล้วสร้างสปอร์ซํ้าได้ใหม่อีกครั้ง จะกินเวลาราว 12 วัน

เมื่อพืชแก่ใกล้เก็บเกี่ยวในตอนปลายๆ ฤดูปลูก ในที่ เดียวกับที่เคยเกิด urediospore จะมีการสร้างสปอร์ชนิดใหม่ ซึ่งมีผนังหนาสีเข้มหรือดำและมีสองเซลล์ คือ เทลิโอสปอร์ (teliospore) เป็น stage สุดท้ายคือ 4 ซึ่งเรียกว่า เทเลีย (telia) ขึ้นแทน เทลีโอสปอร์เป็นสปอร์ที่ใช้อยู่ข้ามฤดู เนื่องจากมีผนังหนาทนต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าสปอร์ชนิดอื่นๆ ใน stage ที่ 1-2 และ 3 และจะไม่หลุดแพร่กระจายแต่จะติดอยู่กับก้านและต้นพืชจนกว่าจะถึงฤดูปลูกครั้งใหม่จึงจะงอกโดยการสร้าง germ tube ลักษณะเป็นเส้นใยสั้นๆ ปลายด้านบนป้านมนคล้ายกระบอง มีผนังกั้น แบ่งออกเป็น 4 เซลล์ตามขวาง เรียกว่า บาซิเดียม (basidium) หรือ โพรมายซีเลี่ยม (promycelium) ต่อมาในแต่ละเซลล์ก็จะมี การสร้างสปอร์ที่ไม่มีสี ผนังบางเรียกว่า บาซิดีโอสปอร์ (basidiospore) ขึ้นมาหนึ่งสปอร์ สปอร์พวกนี้ต่อมาก็จะงอกเข้าทำลายพืช แล้วสร้าง aecia stage ขึ้นใหม่อีก และในช่วงนี้หากหน่อไม้ฝรั่งถูกเก็บเกี่ยวเสียก่อนเชื้อก็จะขาดวงจรอยู่แค่นี้ไม่สามารถระบาดได้ต่อไป

สิ่งแวดล้อมช่วยเสริมให้เกิดโรค

P. asparagi เป็นราที่ต้องการความชื้นค่อนข้างสูง อาจถึง จุดอิ่มตัวสำหรับการงอก การระบาดมักจะเริ่มในระยะที่มีนํ้าค้างหมอกจัดหรือในช่วงที่มีฝนตกปรอยๆ อากาศชื้นมากๆ ทั้งนี้เนื่องจาก teliospore มีผนังหนาจะงอกได้ก็ต้องแช่อยู่ในนํ้าชั่วระยะเวลาหนึ่ง เช่น ในสภาพของน้ำที่จับเกาะติดใบพืชตลอดคืน จะช่วยเอื้ออำนวยต่อการงอกของสปอร์ได้เป็นอย่างดี แต่ตรงกันข้ามสำหรับความชื้นในดิน พบว่าโรคราสนิมของหน่อไม้ฝรั่งจะเสียหายรุนแรงในดินแห้งมากกว่าดินที่เปียกชื้นหรือชุ่มนํ้า สำหรับอุณหภูมินั้นพบว่าไม่มีความสำคัญมากนัก ทั้งในการงอกของสปอร์และการเข้าทำลายพืช คือ ต้องการในระดับเดียวกับที่หน่อไม้ฝรั่งต้องการสำหรับการเจริญเติบโตซึ่งอยู่ในช่วง 10 – 30° ซ. แต่จะดีที่สุดที่ระหว่าง 18 – 20° ซ.

การป้องกันกำจัด

1. เก็บทำลายต้นตอเศษซากพืช พร้อมทั้งต้นที่งอกขึ้นมาเองให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ teliospore ติดอยู่เพื่องอกทำลายพืชในฤดูปลูกต่อไป

2. ปลูกพืชให้มีระยะระหว่างแถวและต้นให้ห่างกัน พอสมควร ให้ลมพัดผ่านได้สะดวกเพื่อให้น้ำค้างหรือนํ้าฝน ระเหยแห้งจากต้นพืชโดยเร็ว

3. เมื่อเกิดโรคขึ้นกับพืชขณะปลูกให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีแมนเซทดี 50-70 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรทุกๆ 7-10วัน แต่ถ้าโรคระบาดรุนแรงให้ย่นระยะเวลาฉีดให้เร็วขึ้นเป็น 3-5 วันต่อครั้ง นอกจากแมนเซทดี อาจพ่นด้วยกำมะถันผงในระยะที่พืชยังเปียกนํ้าค้างหรือหลังฝนตกบ่อยๆ ก็จะเป็นการลดความเสียหายลงได้

4. เลือกปลูกหน่อไม้ฝรั่งโดยใช้พันธุ์ที่มีความด้านทานต่อโรค

2. โรคไหม้แห้งและเหี่ยวของต้นกล้า (seedling blight & wilt)

เป็นโรคซึ่งทำลายระบบรากของหน่อไม้ฝรั่ง มีผลทำให้เกิด อาการต้นไหม้แห้งและเหี่ยวเฉาขึ้น

ลักษณะอาการโรค

ในต้นกล้าหรือต้นอ่อนเมื่อถูกเชื้อเข้าทำลายพืชจะตั้งตัวช้าระบบรากเสีย ทำให้เกิดการชะงักงันหยุดการเจริญเติบโต ต้นใบเหลือง เหี่ยวและแห้งตายในที่สุด หากอากาศชื้นมากๆ จะปรากฎเส้นใยสีขาวหรือสีชมพูอยู่ทั่วตามบริเวณที่เชื้อเข้าทำลาย ส่วนในต้นแก่จะเกิดอาการเหี่ยวอย่างชัดเจน และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นหากอากาศร้อน ต้นที่แสดงอาการเหล่านี้ถ้าขุดขึ้นมาดู จะพบว่ารากหรือส่วนของโคนต้นที่อยู่ใต้ดินมีสีคลํ้า หรือสีนํ้าตาลแดง

เชื้อสาเหตุโรค

พบว่ามีเชื้อ Fusarium อยู่หลายชนิดที่เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่กับหน่อไม้ฝรั่ง และก่อให้เกิดอาการเดียวกันนี้ และในบรรดาเชื้อต่างๆ เหล่านั้นปรากฎว่ามีอยู่ 2-3 ชนิด ที่พบบ่อยทีสุด คือ Fusarium culmorum (W.G. Smith) Saccardo F. oxysporum f.sp. asparagi และ F. monilioforme Sheldon.

โรคนี้เมื่อเกิดขึ้นจะเสียหายรุนแรงหากพืชที่ปลูกอ่อนแอ ขาดการเอาใจใส่ดูแลที่ดีพอ เช่น ไม่ได้รับปุ๋ยหรือธาตุอาหารจำเป็นพอเพียงขาดน้ำเป็นเวลานานๆ เกิดบาดแผลหรือรอยช้ำ และการกัดทำลายของแมลง

เมื่อต้นพืชถูกทำลายจนตาย เชื้อ Fusarium sp. ก็จะสร้างเส้นใยและสปอร์รูปเดียวหรือพระจันทร์เสี้ยวขึ้นเป็นจำนวนมาก และเจริญเติบโตต่อไปในลักษณะแซฟโปรไพท์ ได้เป็นเวลานานหลายปี และจะอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังปลูกหน่อไม้ฝรั่งซํ้าลงไปในดินนั้นต่อไป

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค

ก็เช่นเดียวกับเชื้อ Fusarium ทั่วๆ ไป คือ เจริญได้ในช่วงของอุณหภูมิที่ค่อนข้างกว้างตราบเท่าที่พืชที่เป็น host เจริญเติบโตได้ อย่างไรก็ตาม ในอุณหภูมิที่สูง (ระหว่าง 18 – 25° ซ.) Fusarium sp. จะเจริญเติบโตได้ดีกว่าอุณหภูมิต่ำ ส่วนความชื้นต้องการในระดับปานกลาง ไม่แห้งเกินไป และไม่ถึงกับแฉะ สำหรับ pH ชอบและเจริญเติบโตได้ดีในดินที่เป็นกรดเล็กน้อย

การป้องกันกำจัด

1. หลีกเลี่ยงการปลูกหน่อไม้ฝรั่งซํ้าลงในดินที่เคยปลูกและมีโรคเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะกล้าควรเพาะในดินใหม่ที่สะอาด มีการเตรียมอย่างดี ระบายนํ้าง่าย อย่าให้ขาดธาตุอาหารที่จำเป็น ทั้งธาตุหลักและธาตุรอง เพื่อให้กล้าแข็งแรงเจริญเติบโตเร็ว

2. ระหว่างที่หน่อไม้ฝรั่งกำลังเจริญเติบโตให้เอาใจใส่ดูแลอย่าให้ขาดนํ้าขาดปุ๋ย หากดินปลูกมีสภาพค่อนข้างเป็นกรด ก็แก้ให้เป็นกลางหรือด่างเล็กน้อย โดยการเติมปูนขาวลงไปก็จะช่วยลดความเสียหายลงได้

3. การฆ่าทำลายเชื้อในดินสำหรับ Fusarium sp. ค่อนข้างสิ้นเปลือง และเสียค่าใช้จ่ายสูง ไม่คุ้มกับผลได้ นอกจากดินปริมาณน้อยๆ เช่น แปลงเพาะกล้า อาจทำได้โดยใช้ ไอน้ำหรือความร้อนอบ หรือจะใช้สารเคมี เช่น ฟอร์มาลีน คลอโรพิคคริน (chloropicrin) และเทอราคลอร์ ราดรดลงในดิน

4. พ่น (dusting) ต้นกล้าด้วยสารเคมีเฟอร์แบม 10เปอร์เซ็นต์

3. โรคใบจุดเกิดจากเชื้อ Cercospora

เป็นโรคของหน่อไม้ฝรั่งที่เกิดจากเชื้อราอีกชนิดหนึ่ง พบได้ในแหล่งปลูกทั่วๆ ไป และในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม บางครั้งอาจทำความเสียหายรุนแรงได้

อาการโรค

เช่นเดียวกับโรคที่เกิดจากเชื้อ Cercospora ชนิดอื่นๆ คือ จะเกิดอาการแผลจุดลักษณะกลมรี หรือรูปไข่บนกิ่งต้น และแขนงที่เพิ่งแตกออก แผลจะมีขอบสีส้มหรือนํ้าตาลแดง ตอนกลางจะมีจุดสีเทาหรือขาว โดยปกติจะมีขนาดไม่โตนัก โดยเฉลี่ยประมาณ 2-4 มม. ในรายที่เกิดโรครุนแรงพืชทั้งต้นและทั้งหมดที่ปลูกอยู่ในแปลงจะถูกทำลายแห้งตายหมดภายใน 2-3 อาทิตย์ หลังจากการระบาดของโรค

เชื้อสาเหตุโรค

คือ Cercospora asparagi Saccardo ซึ่งนอกจากจะพบว่าทำลายและก่อให้เกิดโรคในหน่อไม้ฝรั่งแล้ว ยังพบว่าเชื้อรานี้ยังเข้าทำลายบีทได้อีกด้วย C. asparagi เมือแก่จะมีการสร้างโคนิเดีย ลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว ปลายแหลม ท้ายป้านภายในจะมีผนังกั้นแบ่งออกเป็นเซลล์ย่อยอีก 2-10 เซลล์ โคนิเดียจะเกิดบนก้านที่งอกออกมาจากชิ้นของเส้นใย ที่เข้ามาอัดหรือรวมตัวกันแน่น (stroma) ซึ่งจะพบอยู่ตามบริเวณจุดแผลเมื่อแก่ก็จะหลุดออกจากก้านปลิวแพร่ระบาดไปตามลม นํ้าหรือสิ่งที่เคลื่อนโหวทุกชนิด

การป้องกันกำจัดโรค

1. หมั่นดูแลเอาใจใส่พืชที่ปลูกให้แข็งแรงอุดมสมบูรณ์ตลอดเวลา เพื่อให้มีความต้านทานต่อโรค หรือเกิดความเสียหายน้อยลงเมื่อมีโรคระบาด

2. พืชที่ปลูกโดยการให้นํ้าแบบทำเป็นร่องแล้วปล่อยให้นํ้าไหลผ่านจะปลอดภัยจากโรคกว่าวิธีให้นํ้าแบบรดด้วยโพงหรือสปริงเกอร์ และนํ้าที่จับเกาะติดอยู่กับต้นพืชนานๆ จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

3. เมื่อมีโรคเกิดขึ้นในแปลงปลูกให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น แมนเซทดี ซีเน็บ หรือแคปแตน และเพื่อให้ได้ผลในการฆ่าทำลายเชื้อสูงขึ้น ควรผสมสารเคลือบใบ (sticker) ลงไปด้วย

4. โรคเน่าเละ (soft rot)

โรคเน่าเละที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Erwinia carotovora เป็นโรคที่มักจะเกิดและสร้างความเสียหายรุนแรงในฤดูฝนที่มีความชื้นสูงและอากาศร้อน เกิดกับพืชได้ทั้งขณะอยู่ในแปลงปลูกและผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้ว โดยเฉพาะหากไม่มีการระวังรักษาและป้องกันที่ดีพอ เมื่อเกิดเป็นกับพืชต้นใดต้นหนึ่ง หรือชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งแล้วก็จะสามารถระบาดลุกลามทำความเสียหายกับต้นหรือส่วนที่อยู่ใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็ว

อาการโรค

มีลักษณะเน่าอย่างกว้างขวางรุนแรง เป็นนํ้าเมือกเยิ้ม มี กลิ่นเหม็นฉุนเฉพาะ แผลจะยุ่ยเละเป็นสีเทาหรือนํ้าตาลจางๆ ชิ้นส่วนหรือต้นที่แสดงอาการเน่าดังกล่าว หากไม่รีบแยกออกจะทำให้ต้นและส่วนที่เหลืออื่นๆ เกิดการติดเชื้อและเสียหายหมดในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะหากอากาศร้อน และความชื้นสูง

การป้องกัน

1. กระทำการเก็บเกี่ยวผลโดยความระมัดระวังอย่าให้เกิดแผลช้ำหรือฉีกขาดทั้งต้นตอที่ยังเหลืออยู่ในแปลงและส่วนที่ตัดออกไป

2. เก็บหรือบรรจุผลิตผลที่เก็บเกี่ยวแล้วในภาชนะที่ใหม่หรือสะอาดหรือผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว เมื่อพบชิ้นส่วน หรือต้นใดแสดงอาการโรคให้รีบแยกออกทำลายเสีย

3. ผลิตผลที่เก็บเกี่ยวแล้ว ขณะรอการขนส่งหรือจำหน่าย ควรเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น จะลดความเสียหายจากอาการเน่าลงได้

5. โรคต้นไหม้แห้ง (stem blight)

โรคต้นไหม้แห้ง เดิมเรียกกันว่า โรคลำต้นไหม้หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรคไอ้เหลือง เป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่งของการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ในประเทศไทยพบแพร่ระบาดตามแหล่งปลูกในจังหวัดนนทบุรี เพชรบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกาญจนบุรี โรคนี้ได้แพร่ระบาดมาตั้งแต่เริ่มมีการปลูก ปัจจุบันนี้ก็ยังคงระบาดทำความเสียหายอย่างมากมายและยังไม่มีวิธีการใดจะสามารถควบคุมโรคนี้ให้ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ โรคนี้ระบาดตั้งแต่ฤดูฝนจนถึงฤดูหนาวทำให้ลำต้นหน่อไม้ฝรั่งเกิดแผล ต้นชะงักการเจริญใบเหลือง และร่วง การแตกหน่อและขนาดของหน่อลดลง ในแปลงปลูกเก่าอาจพบการระบาดรุนแรงจนถึงขั้นทำให้หน่อไม้ฝรั่งแห้งตายทั้งแปลง

ลักษณะอาการ

ลักษณะอาการของโรคจะปรากฎให้เห็นชัดเจนเมื่อลำต้นมีขนาดใหญ่ หรือมีอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ต้นที่มีอายุต่ำกว่า 1 เดือน อาการอาจปรากฎให้เห็นเป็นจุดช้ำเล็กๆ เท่านั้น โรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือพื้นดิน ทั้งส่วนที่เป็นลำต้น และกิ่งก้านที่แตกแขนงออกมาจากลำต้น แต่อาการที่รุนแรงที่สุดคืออาการที่เกิดบริเวณโคนต้น ระดับผิวดินเมื่อเชื้อเข้าทำลายตามส่วนต่างๆ อาการขั้นเริ่มต้นที่ปรากฎให้เห็นเป็นจุดช้ำเล็กๆ สีเขียว รูปกระสวยสีของจุดแผลเข้มกว่าสีเขียวของลำต้นเล็กน้อย สามารถสังเกตเห็นได้โดยง่าย ในระยะต่อมาแผลจะพัฒนาขยายใหญ่มากขึ้นเป็นแผลรูปทรงรียาวไปตามลำต้น ขนาดประมาณ 2×5 มิลลิเมตร ตรงกลางแผลมีสีนํ้าตาลอ่อนหรือนํ้าตาล ขอบแผลมีสีนํ้าตาลเข้มหรือน้ำตาลแดง ต่อมาเมื่อแผลขยายใหญ่ บริเวณกลางแผลจะเกิดมีจุดสีดำเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วแผล จุดสีดำเหล่านี้คือ Pycnidia เป็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อรา สาเหตุของโรค

ในกรณีที่เกิดแผลบริเวณข้อของลำต้น เมื่อสภาวะเหมาะสมแผลจะขยายอย่างรวดเร็ว ทำให้ลำต้นหน่อไม้ฝรั่งหักพับลงได้ สำหรับกรณีทั่วๆ ไป ส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือแผลอีกทั้งกิ่ง ก้าน ใบ โดยทั่วไปจะแสดงอาการเหลืองซีดอย่างรวดเร็ว เกษตรกรจึงเรียกชื่อโรคนี้ว่าโรคไอ้เหลือง ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมอาการของโรคอาจลุกลามอย่างรุนแรงจนกระทั่งลำต้นทรุดโทรม ใบร่วง และแห้งตายในที่สุด

เชื้อสาเหตุโรค

โรคต้นไหม้แห้งที่เกิดขึ้นในประเทศไต้หวัน และอินเดีย ได้รายงานว่าเกิดจากเชื้อรา Phonm asparagi แต่จากอเมริกาและประเทศทางยุโรปได้รายงานว่าเกิดจากเชื้อรา Phomopsis asparagi (Sacc.) Bubak. สำหรับใน

ประเทศไทย โสภณ (2529) พบว่าหน่อไม้ฝรั่งที่ปลูกในจังหวัดขอนแก่นมีการระบาดของโรคต้นไหม้แห้งที่มีเชื้อสาเหตุมาจากเชื้อรา Phomopsis asparagi กรรณิการ์ (2533) ได้รายงานว่าเชื้อสาเหตุโรคต้นไม้แห้งในเขตภาคกลางของประเทศไทย เกิดจาก Phomopsis asparagi พร้อมก้บศึกษาถึงสัณฐานวิทยา สรีรวิทยาและได้รายงานไว้ ดังนี้

เชื้อรา Phomopsis asparagi (Sacc.) Bubak สามารถ สร้าง pycnidium เป็นจุดสีดำเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วบริเวณแผลสีนํ้าตาลที่แห้งตาย ถ้านำแผลนั้นไปวางไว้ไนกล่องชื้นประมาณ 24 ชั่วโมง จะเห็นจุดสีดำเหล่านั้นนูนขึ้นมาจากแผลอย่างชัดเจน หลังจากนั้นอีก 3 วัน กลุ่มของสปอร์จะถูกปล่อยออกมาทางปาก Pycnidia เห็นเป็นจุดใสเล็กๆ ซึ่งภายในมีสปอร์มากมาย ใน Pycnidia เดียวกันสปอร์อาจมีรูปร่างได้ 2 แบบ คือ alpha conidium และ beta condium alpha conidium เป็นสปอร์เซลล์เดียว รูปไข่หรือ fusoid ใส ไม่มีสี ขนาด 10.5 X 1.8 um เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม สปอร์ชนิดนี้จะงอก germ tube เข้าทำลายพืช ส่วน beta conidium เป็นสปอร์เซลล์เดียวรูปร่างยาว ส่วนปลายโค้งเล็กน้อย ขนาด 19.0 X 0.8 um สปอร์ชนิดนี้จะพบได้จากตัวอย่างที่ปลูกเชื้อในห้องปฏิบัติการเท่านั้น และยังไม่มีรายงานว่า beta conidium งอก germ tube เข้าทำลายพืช การเข้าทำลายพืชเกิดขึ้นจาก alpha conidia งอก germ tube แล้วแทงผ่านผนังเซลล์เข้าไปในพืชได้โดยตรงหรือเจริญเข้าทางปากใบ แล้วเข้าไปเจริญอยู่ระหว่างเซลล์พืช (intercellular) เชื้อรา เจริญเติบโต ประมาณ 10 วัน จะสร้าง pycnidium อยู่ใต้ชั้น epidermis เมื่อ pycnidium แก่จะดันชั้น epidermis ให้แตกออกมองเห็นเป็นเม็ดเล็กๆ สีดำนูนอยู่เหนือผิวพืช

การทดลองเลี้ยง P. asparagi บนอาหารหลายชนิด เชื้อรานี้เจริญเติบโตทางเส้นใยได้ดีที่สุดบนอาหาร asparagus dextrose agar (ADA) ความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมอยู่ ระหว่าง pH 3-5 และอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 25- 30 ° ซ. หากอุณหภูมิสูงถึง 35° ซ. เชื้อเจริญได้ต่ำลงมาก

เชื้อรา Phomopsis sp. สามารถสร้าง conidium ได้ ทั้งแบบ alpha และ beta อยู่ภายใน pycnidium โดยที่ pycnidium นั้นสร้างอยู่ใน stroma ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างไปจากเชื้อรา Phoma sp.

การศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาและสรีรวิทยาของเชื้อราสาเหตุโรคต้นไหม้แห้งของหน่อไม้ฝรั่ง เปรียบเทียบกับรายงานจากเอกสารต่างๆ ทำให้ทราบอนุกรมวิธานได้ดังนี้คือ

Phomopsis asparagi Bubak เป็นเชื้อราชั้นสูงจัดอยู่ใน Subdivision Deuteromycotina

Class       Coelomycetes

Order Sphaeropsidales

Family Sphaerioidaceae

Genus Phomopsis (Ainsworth, 1971)

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยเสริมการเกิดโรค

เชื้อรา Phomopsis asparagi เมื่ออยู่ในสภาพของ pycnidium มีความทนทานต่อความแห้งแล้ง ทนต่อสารเคมี และสิ่งต่างๆ ภายในดินที่มีการเปลี่ยนแปลง pycnidium ที่ได้รับความชื้น 80-100 เปอร์เซ็นต์นานติดต่อกัน 48-96 ชั่ว โมง อุณหภูมิ 25-32°ซ. จะทำให้ภายในเกิดกิจกรรมต่างๆ แล้วค่อยๆ ดัน conidium ออกมาทางปากเปิดซึ่งจะแพร่ระบาดไปยังต้นอื่นหรือกออื่นๆ โดยลม น้ำ แมลง และสิ่งที่เคลื่อนที่ต่างๆ เมื่อ alpha conidium ไปตกบนพืชในสภาพที่มีความชื้นสูง 90-100เปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องกัน 24-72 ชั่วโมง จะสามารถงอก germ tube แล้วแทงเข้าสู่พืช โดยตรงหรือทางปากใบ

สิ่งแวดล้อมที่มีผลโดยตรงต่อเชื้อ P. asparagi คือ สภาพความชื้นสูงอย่างต่อเนื่องโดยที่อุณหภูมิแสงแดดหรือปัจจัยอื่นๆ มีผลน้อย สภาพดังกล่าวมานี้โดยปกติจะตรงกับช่วงฝนหนักประมาณเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน

การควบคุมโรค

การควบคุมโรคหรือการป้องกันกำจัดโรคต้นไหม้แห้งควรกระทำหลายวิธีร่วมกัน วิธีการต่างๆ ได้แก่

1. การแต่งกอ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด วิธีหนึ่ง โดยแต่งต้นเป็นโรคทิ้งให้เหลือกอละ 3-4 ต้น การแต่งต้นเป็นโรคทิ้งจะช่วยลดแหล่งสะสมของเชื้อและช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดความชื้นในทรงพุ่ม การแต่งกอเพื่อควบคุมโรคให้ได้ผลดี ให้แต่งกอทั้งในช่วงเก็บหน่อและช่วงพักต้น

2. การพักต้น เป็นวิธีการที่เกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงหน่อไม้ฝรั่งพึงปฏิบัติเป็นประจำ โดยทั่วไปจะต้องการพักต้น 4-6 เดือนต่อปี การพักต้นน้อยเกินไปจะทำให้อายุการเก็บหน่อสั้นลง ต้นโทรมเร็วและอ่อนแอต่อโรค

3. แต่งทรงพุ่ม โดยตัดแต่งกิ่งก้านบริเวณส่วนล่างของทรงพุ่มให้โปร่ง วิธีการนี้ควรนำมาช่วยเสริมจากการแต่งกอตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฝนชุก

4. กำจัดเศษซากพืช ส่วนของต้นที่เป็นโรค ตลอดจนเศษพืชที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นดินบริเวณแปลงปลูก นำไปเผาทำลายให้หมดเป็นการกำจัดแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้อย่างดีที่สุดวิธีหนึ่ง

5. สารเคมี กรณีที่มีโรคระบาดรุนแรงในพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่แนะนำให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ในช่วงฤดูฝนที่มีการระบาดมาก แต่ถ้าโรคลดลงแล้วควรลดการฉีดพ่นสารเคมีให้ห่างกันออกไปเป็น 10-15 วัน สารเคมีที่แนะนำให้ใช้ได้แก่ คาร์เบนดาซิม อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โปรบิเน็บ อัตรา 40 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร แมนโคเซ็บ อัตรา 48 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร

การฉีดพ่นสารเคมีมีสิ่งที่ควรคำนึงถึงบางประการ ได้แก่

ก. ฉีดพ่นให้ทั่วลำต้นและโคนต้น มิใช่ฉีดพ่นเพียงทรงพุ่ม ดังนั้นจึงควรแต่งกอ แต่งทรงพุ่มก่อนฉีดพ่น สารเคมีทุกครั้ง

ข. ควรใช้สารจับใบจะช่วยเสริมประสิทธิภาพสารเคมี

ค. สารเคมีสามารถช่วยป้องกันโรคได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ต้องใช้ร่วมกับวิธีการอื่นอย่างสอดคล้องกัน จึงจะทำให้การใช้สารเคมีเหล่านี้มีประสิทธิภาพ

6. การปลูกพืชหมุนเวียน แปลงที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งมานานจะมีการสะสมโรคมากขึ้น การเกิดโรคจะรุนแรงขึ้นทุกปี ควรปลูกพืชอื่นหมุนเวียนเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี จึงกลับมาปลูกหน่อไม้ฝรั่งใหม่

7. ระบบการให้นํ้า เป็นวิธีการหนึ่งที่ควรให้ความสนใจ เนื่องจากแปลงที่ให้นํ้าด้วยระบบพ่นฝอย (sprinkler) มักพบการระบาดของโรคมากกว่าแปลงที่ให้น้ำตามร่อง (furrow) หากต้องการใช้ระบบพ่นฝอยก็ควรปรับปรุงเวลาและความถี่ของการพ่นฝอยให้เหมาะสมกับฤดูกาล

6.โรคแอนแทรคโนส (anthracnose)

โรคแอนแทรคโนส จัดว่าเป็นอีกโรคหนึ่งที่ระบาดรุนแรง และทำความเสียหายให้หน่อไม้ฝรั่งในแหล่งปลูกต่างๆ อย่างมากมาย โดยโรคนี้มักจะเกิดกับต้นแก่ และมักพบระบาดมาก ในแปลงที่ปลูกติดต่อกันมาหลายปี หรือแปลงเก่า โรคนี้อาจทำให้ตายทั้งกอตายเป็นบางต้นต้องพักแปลงนานกว่าปกติ เก็บหน่อได้น้อย โรคแอนแทรคโนส จะทำให้เกิดแผลขนาดใหญ่ที่ข้อหรือปล้อง เป็นรูปคล้ายตา ชาวบ้านบางท้องถิ่นจะเรียกอาการลักษณะนี้ว่า “โรคตาเสือ” ด้วยเหตุที่แผลจากโรคนี้เป็นแผลขนาดใหญ่ จึงส่งผลให้ลำต้นหักล้มง่าย และเมื่อเป็นแผลต้นใดต้นหนึ่งในกอ ก็มักจะลุกลามจนเกิดแผลทุกต้นทั้งกอ โรคตาเสือนี้จะระบาดรุนแรงในช่วงเดียวกันกับโรคต้นไหม้แห้ง โดยเฉพาะแปลงที่ขาดการเอาใจใส่ ถ้าโรคนี้เกิดร่วมกับโรคต้นไหม้แห้ง จะทำให้แปลงนั้นทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว

ลักษณะอาการ

ลักษณะอาการที่พบเริ่มแรกคล้ายคลึงกับโรคต้นไหม้แห้ง คือ จะเป็นแผลรีเล็กๆ สีนํ้าตาล ขอบแผลสีเข้มกว่ากลางแผล เมื่อแผลขยายใหญ่ขึ้นจะสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนขึ้น คือ บริเวณกลางแผล จะพบจุดสีส้มปนขาว หรือสีน้ำตาลเรียงเป็นวงซ้อนกันหลายๆ ชั้น เรียกวงลักษณะนี้ว่า “concentric ring” แผลลักษณะดังกล่าวสามารถปรากฎได้ในระยะที่ต้นแก่ และจะปรากฎทุกส่วนของลำต้น ความแตกต่างของโรคนี้กับโรคต้นไหม้แห้งที่ชัดเจนอีกประการหนึ่ง คือ ลักษณะของต้นเป็นโรคจะเหี่ยว แฟบ เป็นสีเขียวอมเหลือง คล้ายถูกนํ้าร้อนลวก ใบก็จะเป็นสีเหลืองซีดเช่นกัน เมื่อมีความชื้นสูงแผลที่เกิดบริเวณโคนต้นจะเน่าเละ ทำให้ต้นตายอย่างรวดเร็ว สำหรับแปลงที่มีความชื้นน้อย ต้นที่เป็นโรคมักยืนต้นตาย หรือหักล้ม เนื่องจากลมแรง

เชื้อสาเหตุโรค

เชื้อราสาเหตุโรคนี้ได้แก่ Colletotrichum gloeosporioides มีลักษณะการเจริญเติบโตบน PDA เป็นเส้นใยมีผนังกั้น (septate hypha) สีขาว เมื่ออายุได้ประมาณ 12 วัน เชื้อราจะสร้าง acervulus สีส้มเรียงตัวกันเป็นวงซ้อนกันหลายชั้น (concentric ring)ในสภาพความชื้นสูงเช่นนี้ เชื้อจะสร้าง slime mass ซึ่งมี conidia อยู่ภายในเต็มไปหมด เมื่อเขี่ยเชื้อมาทำสไลด์ตรวจสอบดูจะพบ conidia ลักษณะรูปไข่ยาวรี ใสมีเซลล์เดียว

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค

ความชื้นสัมพัทธ์ 90-100% ซึ่งตรงกับช่วงฝนชุกเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเจริญเติบโตของเชื้อ การงอกของ conidia การเข้าทำลายพืช รวมไปถึงการสร้าง acervulus และ conidia ขึ้นใหม่ การระบาดของโรคสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรุนแรง โดย conidia จะแพร่ระบาดไปกับ น้ำ ลม น้ำฝน แมลงหรือติดไปกับเครื่องมือเพาะปลูก การระบาดจะรุนแรง ยิ่งขึ้นกับแปลงที่การถ่ายเทอากาศไม่สะดวก แปลงที่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไปรวมทั้งแปลงที่พักต้นน้อยกว่าปกติ

การควบคุมโรค

สามารถใช้วิธีการเดียวกันกับการควบคุมโรคต้นไหม้แห้ง คือ ใช้หลายวิธีร่วมกันอย่างเหมาะสมทั้งการแต่งกอ การพักต้น การแต่งทรงพุ่ม การกำจัดเศษซากพืช การปลูกพืชหมุนเวียน และการใช้สารเคมี ในกรณีของการใช้สารเคมีนั้นมีข้อพึงระวังเป็นกรณีพิเศษ คือ เชื้อราใน Genus Colletotrichum นี้ในต่างประเทศได้มีรายงานการดื้อยา ต่อสารเคมีในกลุ่ม benzimidazoles เช่น benomyl, carbendazim ซึ่งเป็นกลุ่มของสารเคมีประเภทดูดซึมที่เกษตรกรนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ดังนั้นการใช้สารเคมีนี้ควรมีการปรับแต่งให้เหมาะสมมากขึ้น เช่น การใช้สารเคมีในกลุ่ม benzimidazoles เพียงชนิดเดียวฉีดพ่นเป็นประจำเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง โดยการใช้สารเคมีชนิดอื่นมาฉีดพ่นสลับกัน อาจใช้ mancozeb หรือ propineb ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง แล้วใช้ carbendazim 1 ครั้ง หรือจะทดลองใช้สูตรอื่นก็แล้วแต่ความเหมาะสม

7. โรคเน่าเปียก (wet rot)

โรคนี้จะระบาดทำความเสียหายในแหล่งปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ทั่วๆ ไป ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก

อาการโรค

หน่อไม้ฝรั่งที่ต้นอ่อนกำลังเจริญแทงช่อดอกหรือแขนงอ่อนจะถูกเชื้อราเข้าทำลายตรงปลายยอดอ่อน ทำให้ปลายยอดอ่อนมีลักษณะฉํ่าน้ำสีเขียวเข้ม บนแผลมีเส้นใยราสีเทาอ่อนงอกขึ้นมาเป็นก้านตั้งตรงสั้นๆ ที่ปลายโป่งออก เป็นหัวสีดำเล็กๆ มองเห็นชัดเจน อาการเน่าลุกลามรวดเร็วมาก ในขณะที่ฝนตกชุก ต้นจะเน่ายุบไปทั้งแปลงภายใน 2-3 วัน

เชื้อสาเหตุโรค

เกิดจากเชื้อรา Choanephora sp. เป็นเชื้อราชั้นต่ำ สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการสร้าง sporangiospore ใน sporangium และมีเพียงสปอร์เดียวหรือ 2-3 สปอร์เท่านั้น สปอร์มีรูปร่างคล้ายเมล็ดพุทรา มี pigment สีดำ ผนังสปอร์ มีเส้นขีดมักมีระยางค์ (appendage) ลักษณะคล้ายเส้นขน เกิดอยู่บริเวณส่วนปลายของหัวท้ายสปอร์ เชื้อราชนิดนี้จัดอยู่ใน order เดียวกันกับเชื้อราพวก Mucor spp., Rhizopus spp.

การแพร่ระบาด

โรคนี้พบระบาดรุนแรงมากในฤดูฝนเนื่องจากอากาศมีความชื้นสูงและอุณหภูมิเหมาะสม มีฝนตกชุก โดยมีฝนตกสลับกับแดดออก แต่โรคจะระบาดน้อยลงหรือไม่พบเลยเมื่อฝนหยุดและอากาศแห้งแล้ง

การป้องกันกำจัด

ใช้สารเคมี Saprol อัตรา 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ Pronto อัตรา 3 กรัม/20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ถ้ามีการระบาดรุนแรงเนื่องมาจากสภาพอากาศที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ควรฉีดพ่นทุก 3 วัน จนกว่าการระบาดของโรคจะลดลง จึงลดระยะเวลาในการพ่นตามปกติ

8. อาการคล้ายโรค

8.1 อาการยอดขาว

อาการใบเหลืองซีดใบยอดเป็นสีขาวต้นแคระแกร็น ให้หน่อน้อยลงจนถึงเก็บหน่อไม่ได้เลย หากปล่อยปละละเลย ต้นนั้นจะตายได้โดยง่าย อาการเช่นนี้ถ้าเกิดจากการขาดธาตุอาหารบางชนิด เช่น K, Mg, Fe สามารถใช้ปุ๋ยเสริมทางใบ ฉีดพ่นเป็นประจำก็สามารถแก้ไขได้ระยะหนึ่ง หากต้องการแก้ไขในระยะยาวควรปรับปรุงดินไปพร้อมๆ กันด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และผสมวัสดุอื่นเพิ่มเติมให้ดินมีการระบายนํ้าที่ดีขึ้น

8.2 อาการต้นแตก

เป็นอาการที่เกิดขึ้นมากทุกท้องที่ แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหายขั้นรุนแรง สาเหตุอาจเกิดได้จากการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์บางชนิดเร่งการเจริญเติบโตมากเกินไปประกอบกับการที่พืชได้รับนํ้าไม่สม่ำเสมอ

8.3 อาการหน่อเน่า

กรณีที่หน่อเน่าเนื่องจากแบคทีเรียจะได้กลิ่นเหม็นฉุน และมีลักษณะเป็นเมือกเยิ้ม แต่บางกรณีที่อาการหน่อเน่าไม่เหม็นไม่เยิ้ม อาจมีสาเหตุมาจากนํ้าขังแฉะ ทำให้ส่วนหน่ออ่อน แสดงอาการหน่อเน่า นอกจากนี้อาจเกิดจากการใส่ปุ๋ยคอก ผิดวิธีคือใส่ชิดโคนมากเกินไป

ที่มา:ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย  สุขะกูล