ลูกใต้ใบลักษณะและสรรพคุณ


มะขามป้อมดิน หญ้าใต้ใบ
ชื่อ
จีนเรียก    เฮียะแอ่จู จูเกี๋ยเช่า  เล่งจูเช่า  อิวกำเช่า เซียวหลีเช่า Phyllanthus urinaria Linn.

ลักษณะ
ชอบขึ้นทั่วไปในทุ่งป่า ในสวน ข้างทาง เป็นพืชประเภทหญ้าล้มลุก สูงราว 1 ฟุตกว่าๆ ลำต้นสีแดงแกมม่วง มีลายขึ้นตามต้น ใบขึ้นคู่ ใบขึ้นตามกิ่ง เรียงเป็นแถวอย่างมีระเบียบ รูปใบกลมยาวหัวท้ายมนขอบใบเรียบ ยาวประมาณ 2-3 หุน สีเขียว เกือบไม่เห็นก้านใบ ออกดอกสีขาวหน้าร้อนเข้าหน้าฝน ออกตามฐานใบ ออกลูกกลมแบนคล้ายมุก

รส
รสขมนิดๆ ธาตุเย็น ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
รับประทานสามารถแก้พิษ ประสะเลือดให้เย็น ไล่ลม แก้แน่นคัด ใช้ ภายนอกดับพิษ แก้บวม ฤทธิ์เข้าถึงปอดและม้าม

รักษา
บิดมูกบิดเลือด บิดเพราะหวัดร้อน ตัวร้อนเพราะหวัดร้อน ตาเจ็บบวม
เด็กเป็นตาลขโมย ตาบอดตอนกลางคืน งูกัด ฝีตะมอย งูสวัด เด็กเป็นผื่น เป็นฝีหน้าร้อน

ตำราชาวบ้าน
1. บิดมูกบิดเลือด – ลูกใต้ใบ 1 ตำลึง ต้มนํ้าใส่นํ้าตาลแดง หรือนํ้าผึ้ง รับประทาน
2. บิดเพราะตัวร้อน – ลูกใต้ใบและปอนก อย่างละ 1 ตำลึง ต้มนํ้าใส่นํ้าผึ้ง รับประทาน
3. ตัวร้อนเพราะหวัดร้อน – ลูกใต้ใบ 1 ตำลึง ต้มนํ้ารับประทาน
4. ตาเจ็บบวม – ลูกใต้ใบและผักโหมลาย อย่างละ 1 ตำลึง ต้มรับประทาน
5. เด็กเป็นตาลขโมยหรือตาบอดกลางคืน – ลูกใต้ใบ 1 ตำลึง ต้มตับหมู รับประทาน
6. งูกัด- ลูกใต้ใบครึ่งตำลึงและหญ้าดอกตูบ  1 ตำลึง ตำแหลก เอานํ้าชงเหล้า รับประทาน ส่วนกากใช้พอกที่แผล หรือใช้ลูกใต้ใบตำกับเหล้าแล้วเอาพอกที่แผล
7. ฝีตะมอย งูสวัด – ลูกใต้ใบ ตำแหลกคั้นเอานํ้าผสมหรดาล แล้วทา
8. เด็กเป็นผื่นฝีตามหน้าหรือหัว – ลูกใต้ใบ ตำแหลกคั้นนํ้าผสมหรดาล
แล้วทา

ปริมาณที่ใช้
ใช้สดไม่เกิน 2 ตำลึง แห้งไม่เกิน 1 ตำลึง ใช้ภายนอกกะพอประมาณ

ข้อควรรู้
ใช้กับงูกัดใช้ลูกใต้ใบที่ขึ้นแผ่กะดินจะมีสรรพคุณมากกว่า

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช