ถั่วงอก:สารพัดถั่วงอกเพาะกินเองได้หลากหลายรสชาติ

ถั่วงอกคือต้นอ่อนที่งอกออกมาจากเมล็ดถั่ว ซึ่งถั่วที่คนไทยเรานิยมเพาะนำมากินเป็นอาหารคือ ถั่วเขียวหรือที่นิยมกันอยู่บ้างแต่ไม่แพร่หลายเท่าถั่วเขียว ก็คือถั่วเหลือง หรือที่เราเรียกว่าถั่วงอกหัวโต แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถั่วชนิดอื่น ๆ เช่น ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลิสง ถั่วลันเตา เป็นต้น ก็สามารถเพาะนำมารับประทานเป็นถั่วงอกได้เช่นเดียวกัน แต่จะให้รสชาติอร่อยแตกต่างกันออกไป และอาจจะมีวิธีการกินที่แตกต่างกันออกไป แต่วิธีเพาะนั้นก็เหมือนกัน

ถั่วงอกจัดเป็นผักชนิดหนึ่ง เป็นผักที่ยังเป็นหน่ออ่อนที่เพิ่งโผล่พ้นเมล็ดโดยอาศัยธาตุอาหารต่าง ๆ ที่ถูกสะสมไว้ในเมล็ดเพื่อรอวันที่จะเติบโตเป็นต้นถั่ว แต่เมื่อเรานำเมล็ดถั่วมาเพาะในสภาพที่เหมาะสม โดยไม่ให้โดนแสงแดด ใบเลี้ยงกับรากของต้นถั่ว จึงยังไม่โผล่เป็นต้นกล้า ยังเป็นแค่หน่ออ่อนของถั่ว เราจึงเรียกว่าถั่วงอก

ถั่วงอกเป็นผักที่ให้คุณค่าทางอาหารหลายอย่างทั้งโปรตีน เกลือแร่และวิตามิน องค์ประกอบส่วนใหญ่ของถั่วงอกเป็นน้ำ ซึ่งมีถึงร้อยละ 90 มีโปรตีนอยู่ 2.8 มิลลิกรัมในถั่วงอก 1 ขีด (ถ้าเป็นถั่วเหลืองงอก จะมีโปรตีนมากว่าถั่วเขียวงอกเป็นสองเท่า)ให้แร่ธาตุทั้งแคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก กล่าวคือ ถั่วงอก 1 ขีด หรือ 100 กรัม จะให้แคลเซียม 27 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 85 มิลลิกรัม และเหล็ก 12 มิลลิกรัม ถั่วงอกยังให้วิตามิน บี1 บี2 และวิตามินซี ถั่วงอก 1 ถ้วยให้วิตามินซี 1 ใน 10 ของที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน

นอกจากนั้น ถั่วงอกยังมีกากใยอาหารหรือไฟเบอร์เหมือนกับผักผลไม้ทั่วไป โดยมีอยู่ในระดับปานกลาง กากใยอาหารของผักผลไม้เป็นส่วนที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยในการขับถ่ายแล้ว ยังช่วยจับไขมันส่วนเกิน แล้วขับเป็นของเสียออกจากร่างกาย มีส่วนช่วยป้องกันโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี

ถั่วงอกเป็นผักที่ให้พลังงานต่ำ ในถั่วงอก 1 ขีด จะให้พลังงานเพียง 36 กิโลแคลอรี่ (ในขณะที่ถั่วเหลืองงอกจะให้พลังงานเป็นสองเท่าคือ 60 กิโลแคลอรี่) ดังนั้น ถั่วงอกจึงเป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วน แต่ควรจะกินอาหารอย่างอื่น ๆ ประกอบไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ขาดธาตุอาหาร เช่น ถั่วงอกผัดเต้าหู้ แกงจืดถั่วงอกหัวโตใส่เต้าหู้ เป็นต้น

ความเป็นมาของถั่วงอก

ปัจจุบันถั่วงอกเป็นผักพื้นฐานอย่างหนึ่งที่คนไทยนิยมบริโภค เฉพาะกรุงเทพฯ จังหวัดเดียว มีการบริโภคถั่วงอกถึงวันละ 200,000 กิโลกรัม ถั่วงอกใช้บริโภคได้ในหลายรูปแบบ ถั่วงอกใช้ใส่ก๋วยเตี๋ยวได้ทั้งสดและลวก ถั่วงอกใช้เป็นเครื่องเคียงกินกับขนมจีน ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย และกินกับน้ำพริก ทำเป็นกับข้าวทั้งต้มและผัด เช่น ถั่วงอกผัดเลือดหมู ถั่วงอกผัดเต้าหู้ ต้มจืดถั่วงอกใส่เต้าหู้ หรือใส่หมูสับ ถั่วงอกกินเป็นผักสดร่วมกับผักสลัดอื่น ๆ ถั่วงอกเป็นส่วนประกอบในปอเปี๊ยะสด เป็นต้น

แต่ถั่วงอกส่วนใหญ่ที่มีการผลิตจำหน่าย หรือที่ผู้บริโภคบริโภคเป็นส่วนใหญ่จะเป็นถั่วเขียวงอก จะมีบ้างก็ถั่วเหลืองงอก ดังนั้นจึงน่าสนใจที่จะลองหันมาเพาะถั่วงอก ถั่วแดงงอก ถั่วลิสงงอก ถั่วลันเตางอกกินกัน เพราะให้รสชาติที่อร่อยไม่แพ้คือ ถั่วเขียวงอกหรือถั่วเหลืองงอก หรือใครจะลองเพาะขายเป็นอาชีพซะเลย ก็น่าสนใจไม่น้อย

หลักการพื้นฐานในการเพาะถั่วงอก

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าถั่วงอกคือ หน่ออ่อนที่งอกออกมาจากเมล็ดถั่วอาศัยธาตุอาหารที่สะสมอยู่ในเมล็ดถั่ว โดยเรานำถั่วไปเพาะในภาชนะ ที่มีความชื้นและความร้อน หรืออุณหภูมิที่พอเหมาะ โดยไม่ให้โดนแสงสว่าง เพื่อไม่ให้รากและใบเลี้ยงงอกออกมา ภายในระยะเวลา 2-3 วัน ก็จะได้ถั่วงอกนำไปรับประทานหรือจำหน่าย

ดังนั้น องค์ประกอบที่สำคัญในการเพาะถั่วงอก จึงมีอยู่ 3 อย่างคือ

1.  เมล็ดถั่ว

2.  ภาชนะสำหรับการเพาะ

3.  น้ำ

1.  เมล็ดถั่ว

ในการเลือกเมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาเพาะถั่วงอก ไม่ว่าจะเป็นถั่วพันธุ์ใดก็ตาม ควรเป็นเมล็ดถั่วที่ใหม่ ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวมาจากแปลงปลูกเร็วเท่าไรอัตราการงอกของเมล็ดถั่วก็จะมากขึ้นเท่านั้น ไม่ควรนำเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้นานมาเพาะ  โดยหลัการแล้วไม่ควรเกิน 6 เดือนถึง 1 ปี เพราะอัตราการงอกจะลดลงไปเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่เก็บ

คุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาเพาะถั่วงอกก็คือ ควรเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สะอาด เพราะเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคไม่ว่าจะเป็นเชื้อจุลินทรีย์เชื้อราหรือแบคทีเรีย แม้เพียงเมล็ดเดียวก็อาจทำให้ถั่วงอกที่เราเพาะทั้งหมดเน่าได้

2.  ภาชนะเพาะ

โดยหลักการแล้วภาชนะเพาะทำหน้าที่ที่สำคัญอยู่ 2 ประการคือ ป้องกันถั่วไม่ให้โดนแสงสว่างกับสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดถั่ว นอกจากนั้นยังทำหน้าที่สร้างขอบเขตที่จำกัดต่อการงอกของถั่วงอก เพื่อให้ถั่วงอกมีลักษณะอวบอ้วน ไม่สั้นเกินไปหรือยาวเกินไป

ภาชนะที่ใช้สำหรับการเพาะถั่วงอกนั้นจึงหลากหลายมากมายหลายชนิดอาจจะเป็นภาชนะที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น หม้อดินเผา กระถางดินเผา ไห ตุ่ม ถังซีเมนต์ เข่ง หรือตะกร้าสานจากไม้ไผ่ก็ได้ หรือจะเป็นภาชนะจำพวก ถังพลาสติก ถังเหล็กก็ยังได้ ซึ่งความแตกต่างของการใช้ภาชนะทั้ง 2 ประเภทนี้ก็คือ หากใช้ภาชนะจำพวกหม้อดินเผา กระถางดินเผา ดุ่ม ถังซีเมนต์ จะรักษาความชื้นไว้ได้นานทำให้ไม่ต้องรดน้ำบ่อย คือ อาจจะรดน้ำทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้พวกถังพลาสติก ข้อดีก็คือ น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้สะดวก แต่ข้อเสียก็คือ ต้องรดน้ำบ่อยขึ้นคือ ทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง

ภาชนะเพาะควรมีสีดำหรือสีทึบ เพื่อป้องกันแสงสว่าง ส่วนขนาดของภาชนะหรือความกว้าง ยาว สูง ของภาชนะก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของถั่วงอกที่ต้องการเพาะ แต่โดยหลักการแล้วถั่วเขียว 1 ส่วน จะโตเป็นถั่วงอก 5-6 ส่วนโดยน้ำหนัก

ภาชนะที่นำมาเพาะไม่ว่าจะเป็นถังพลาสติก หรือไห หม้อดิน กระถางหรืออื่น ๆ ก็ต้องมีรูสำหรับระบายน้ำทั้งด้านล่างและด้านข้าง ขนาดของรูระบายน้ำก็ไม่ควรใหญ่กว่าเมล็ดถั่วเขียว มิฉะนั้นเมล็ดถั่วเขียวจะเล็ดลอดออกจากรูไปได้

ภาชนะเพาะอาจมีฝาปิดเพื่อป้องกันแสง หรือจะไม่มีฝาปิดก็ได้ ถ้าเพาะในที่มืดหรืออาจจะใช้วัสดุอื่น ๆ ปิดทับเมล็ดถั่ว เช่น ฟองน้ำ ผ้ากระสอบ ผ้าขาวบาง เพื่อช่วยดูดซับความชื้น และช่วยเพิ่มน้ำหนักในการกดทับถั่วงอก ทำให้ถั่วงอกอวบอ้วนขึ้นหรือจะใช้ก้อนหินที่มีขนาดพอเหมาะทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการกดทับถั่วงอกก็สามารถทำได้

3.  น้ำ

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่ง สำหรับการเพาะถั่วงอก ในการเพาะถั่วงอก เมล็ดถั่วต้องได้น้ำอย่างพอเพียงและสม่ำเสมอตลอดการเพาะ 2-3 วัน หากขาดน้ำช่วงใดช่วงหนึ่ง จะทำให้ถั่วงอกชะงักการเจริญเติบโต ถั่วงอกที่ได้ก็จะไม่สมบูรณ์

นอกจากน้ำจะทำหน้าที่ให้เมล็ดถั่วงอกเจริญเติบโตแล้ว น้ำยังทำหน้าที่ระบายความร้อนในภาชนะเพาะ การขาดน้ำในช่วงใดช่วงหนึ่ง หรือในระยะเวลาที่ยาวเกินไปยังทำให้ความร้อนในภาชนะเพาะขึ้นสูงเกินไปจนสามารถทำให้ถั่วงอกเน่าได้

ดังนั้น การให้น้ำ จึงควรให้อย่างสม่ำเสมอทุก ๆ2-3 ชั่วโมง หากภาชนะเพาะเป็นถังพลาสติก หรือถังเหล็ก หรือภาชนะที่ไม่เก็บความชื้น และทุก ๆ 3-4 ชั่วโมงหากเป็นไหดิน กระถางดินเผา โอ่งดินเผา หรือภาชนะที่เก็บความชื้นได้ดี

แต่ละครั้งของการให้น้ำก็ให้ใช้ฝักบัวรดน้ำถั่วให้ท่วมถั่ว 2 ครั้ง ครั้งแรก เพื่อระบายความความ ครั้งที่สองเพื่อ เพิ่มความชุ่มชื้นอย่างทั่วถึงให้แก่ถั่ว

4.  วัสดุช่วยเพาะอื่น ๆ (เช่น ทราย แกลบดิน แกลบเผา ฟางข้าว)

ในการเพาะถั่วงอก เราอาจใช้วัสดุช่วยเพาะบางชนิด เช่น ทรายหยาบ แกลบดิน แกลบเผา ฟางข้าว และวัสดุอื่น ๆ มาปิดทับถั่ว เพื่อช่วยกันแสงสว่างและช่วยรักษาความชุ่มชื้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มน้ำหนักในการกดทับถั่ว ก็จะทำให้ถั่วงอกเจริญเติบโตได้ดี ถึงขนาดเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้ภาชนะเพาะจำพวกถังพลาสติก หรือภาชนะดินเผาเลยเพียงแต่เพาะลงในวัสดุเพาะเหล่านี้ได้เลย ซึ่งเป็นวิธีการที่ชาวบ้านหลายแห่ง เพาะถั่วงอกตามหาดทรายริมแม่น้ำ หรือริมแหล่งน้ำจืดหรือทำกระบะทราย กระบะแกลบเผาขึ้นมาแล้วใช้ผ้าขาวบางห่อถั่วเขียวฝังลงในหลุมทราย หรือหลุมแกลบแล้วปิดทับด้วยทรายหรือแกลบหมั่นรดน้ำทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง 2-3 วันก็ขุดเอาห่อผ้าขึ้นมาก็จะได้ถั่วงอก อวบอ้วนน่ากินเช่นกัน

ข้อแนะนำต่อไปนี้เป็นวิธีการเพาะถั่วงอกจากถั่วต่าง ๆ 6 ชนิด คือ ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วลันเตา และถั่วลิสง ซึ่งมีวิธีการเพาะที่ง่าย สามารถทำกินเองได้ และหากใครจะพัฒนาเป็นอาชีพก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากถั่วเขียวงอกแล้ว ถั่วอื่น ๆ งอกยังมีคนทำไม่มากนัก

ถั่วเขียวงอก

ถั่วงอกที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นถั่วเขียวงอก เมล็ดถั่วเขียวที่นำมาใช้เพาะเป็นถั่วงอกมีอยู่ 2 พันธุ์ คือ ถั่วเขียวผิวมัน ซึ่งเป็นถั่วเขียวที่เราคุ้นเคยกันดี ผิวของถั่วมีสีเขียวมันและถั่วเขียวผิวดำ ผิวของถั่วจะมีสีดำ เป็นถั่วเขียวที่นิยมนำมาใช้เพาะถั่วงอกโดยเฉพาะ เพราะให้ถั่วงอกที่ขาวน่ากิน แต่เมล็ดพันธุ์จะหาซื้อยากกว่าถั่วเขียวผิวมัน อย่างไรก็ตามถั่วเขียวทั้งสองพันธุ์สามารถนำมาเพาะถั่วงอกได้อร่อยน่ากินไม่แพ้กัน

วิธีการเพาะถั่วเขียวงอก

1.  ล้างเมล็ดถั่วเขียวให้สะอาด แช่ในน้ำอุ่น แล้วทิ้งไว้ให้เย็น แช่น้ำค้างคืนไว้ 1 คืน เมล็ดถั่วจะเริ่มมีรากเล็ก ๆ โผล่ออกมา

2.  เทเมล็ดถั่วลงในถังเพาะที่เจาะรูที่ก้นถังและด้านข้างของถัง เพื่อเป็นรูระบายน้ำไว้แล้วเกลี่ยเมล็ดถั่วให้ถั่ว (ถังพลาสติกสีดำขนาดปากกว้าง 12 นิ้ว จะใช้ถั่วเขียวประมาณครึ่งกิโลกรัม จะได้ถั่วงอกประมาณ 3-4 กก.) รดน้ำให้ชุ่ม ใช้แผ่นฟองน้ำปิดทับถั่ว รดน้ำบนฟองน้ำให้ชุ่มอีกครั้งหนึ่ง แล้วปิดฝา วางไว้ในที่มืด

3.  รดน้ำเหมือนในข้อ 2 ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ถั่วเขียวจะใช้เวลาประมาณ 2 วันครึ่งถึง 3 วัน จึงเป็นถั่วงอกที่นำไปรับประทานหรือจำหน่ายได้

ถั่วดำงอก

ถั่วดำเป็นถั่วอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาเพาะเป็นถั่วงอกได้ดี ลักษณะของถั่วดำงอกจะมีหัวที่โตกว่าถั่วเหลืองมีรสชาติที่มันและมีลำต้นจะอวบอ้วนกว่าถั่วเขียวงอก มีรสชาติหวานกรอบ นำมากินเป็นผักดิบได้ดี ส่วนเมล็ดพันธุ์ ก็หาซื้อได้ทั่วไป และควรเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่

วิธีการเพาะถั่วดำงอก

1.  ล้างเมล็ดถั่วดำให้สะอาด แล้วแช่น้ำค้างไว้ 1 คืน

2.  เทเมล็ดถั่วลงในถังเพาะ เกลี่ยเมล็ดให้ทั่ว ใช้ฝักบัวรดน้ำให้ชุ่ม ใช้แผ่นฟองน้ำปิดทับ แล้วรดน้ำให้ชุ่มอีกครั้งหนึ่ง

3.  ปิดฝาแล้ววางไว้ในที่ร่ม

4.  รดน้ำเหมือนในข้อ 2 ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ถั่วดำจะใช้เวลา 3-4 วัน จึงเป็นถั่วงอกที่พร้อมน้ำไปรับประทานหรือจำหน่ายได้

ถั่วเหลืองงอก

ในความเป็นจริง ถั่วเหลืองงอกเป็นที่นิยมของผู้บริโภคอยู่ไม่น้อย แต่ที่มีการบริโภคกันไม่แพร่หลายเหมือนถั่วเขียวงอกคงเป็นเพราะเมล็ดพันธุ์ที่หาได้ยากกว่า และอัตราการงอกของเมล็ดถั่วเหลือง ก็เสื่อมสภาพเร็วกว่าถั่วเขียว จึงทำให้ถั่วเหลืองที่เก็บรักษาไว้แล้วนำมาเพาะเป็นถั่วเหลืองงอกได้ไม่ดี

ถั่วเหลืองงอกสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายวิธี ไม่ว่าจะกินสด เป็นผักสลัด หรือผัดหรือต้มจืด ด้วยจุดเด่นที่หัวของถั่วงอกที่โตมีความมันอร่อย การเพาะถั่วเหลืองงอกก็ใช้วิธีเดียวกับถั่วเขียวงอก แต่จะเพาะยากกว่า เพราะโอกาสเน่าจะมีมากว่าและใช้เวลามากกว่าการเพาะถั่วเขียวงอกเล็กน้อย

วิธีการเพาะถั่วเหลืองงอก

1.  ล้างเมล็ดถั่วเหลืองให้สะอาดด้วยน้ำธรรมดา (ไม่ควรล้างด้วยน้ำอุ่น เพราะจะทำให้อัตราการงอกของถั่วเหลืองลดลง) แล้วแช่น้ำค้างคืนไว้ 1 คืน เนื่องจากถั่วเหลืองเป็นพืชน้ำมันจึงควรหมั่นเปลี่ยนน้ำ เมล็ดถั่วที่สมบูรณ์จะเริ่มมีรากเล็ก ๆ งอกออกมา

2.  เทเมล็ดถั่วเหลืองลงในถังเพาะ เกลี่ยเมล็ดถั่วให้ทั่ว รดน้ำให้ชุ่ม ใช้แผ่นฟองน้ำปิดทับถั่ว รดน้ำบนฟองน้ำให้ชุ่มอีกครั้งหนึ่ง

3.  ปิดฝา วางไว้ในที่มืด

4.  รดน้ำเหมือนในข้อ 2 ทุก ๆ 3 ชั่วโมง พยายามอย่าให้ขาดน้ำ เพราะถั่วเหลืองมีโอกาสเน่าง่าย ถั่วเหลืองจะใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน จึงเป็นถั่วเหลืองงอกที่นำไปรับประทานหรือจำหน่ายได้

ถั่วแดงงอก

ถั่วแดงที่ใช้นำมาเพาะเป็นถั่วงอกนี้ เป็นถั่วแดงพันธุ์นิ้วนางแดง ที่มีขนาดและรูปร่างเหมือนถั่วเขียว แต่มีสีแดง เมื่อนำมาเพาะเป็นถั่วงอกแล้วรูปร่างหน้าตาจะคล้ายกับถั่วเขียวงอก เพียงแต่หัวของถั่วงอกจะมีสีแดง ลักษณะของต้นถั่วงอกก็คล้ายกัน มีขนาดใกล้เคียงกัน รสชาติกรอบและมัน แต่จะหวานน้อยกว่าถั่วเขียว วิธีการเพาะกับระยะเวลาในการเพาะก็ใกล้เคียงกับถั่วเขียวงอก

วิธีการเพาะถั่วแดงงอก

1.  ล้างเมล็ดถั่วแดงให้สะอาด แช่ในน้ำอุ่นทิ้งไว้ให้เย็น แล้วแช่ค้างคืนไว้ 1 คืน เมล็ดถั่วจะเริ่มมีรากงอกออกมา

2.  เทเมล็ดถั่วลงในถังเพาะ เกลี่ยเมล็ดถั่วให้ทั่ว รดน้ำให้ชุ่ม ใช้แผ่นฟองน้ำวางทับเมล็ดถั่ว รดน้ำผ่านฟองน้ำให้ชุ่มอีกครั้งหนึ่ง

3.  ปิดฝาแล้ววางไว้ในที่มืด

4.  รดน้ำเหมือนในข้อ 2 ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ถั่วแดงจะใช้เวลา 2 วันครึ่งถึง 3 วัน จึงเป็นถั่วงอกที่สามารถนำไปรับประทานหรือจำหน่ายได้

ถั่วลันเตางอก

ถั่วลันเตา เป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูง จึงเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายอย่าง รวมทั้งเป็นของว่างและกับแกล้ม นอกจากนี้ในปัจจุบันยังนิยมนำเอาถั่วลันเตามาเพาะเป็นต้นอ่อนของถั่วลันเตา ซึ่งชาวจีนเรียกว่าต้นโตเหมี่ยวเป็นที่นิยมรับประทานกันมาก

การเพาะถั่วลันเตางอกจะต้องใช้วัสดุเพาะคือขี้เลื่อย และแกลบช่วยในการเพาะ และตะกร้าสี่เหลี่ยมก้นแบนและเป็นรูเป็นภาชนะเพาะ เพื่อให้ถั่วลันเตางอกในแนวราบ เมล็ดพันธุ์ของถั่วลันเตาหาซื้อยากสักหน่อย และใช้เวลาค่อนข้างมากในการเพาะ

วิธีการเพาะถั่วลันเตางอก

1.  ล้างเมล็ดถั่วลันเตาให้สะอาด แช่น้ำทิ้งไว้นาน 18-24 ชั่วโมง

2.  นำขี้เลื่อยผสมแกลบ เทลงไปในภาชนะเพาะ เกลี่ยให้เรียบโรยเมล็ดถั่วลันเตาลงบนขี้เลื่อยกับแกลบเกลี่ยให้ทั่วอย่าให้ซ้อนทับกัน แล้วคลุมทับด้วยขี้เลื่อยผสมแกลบบาง ๆ รดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าให้แฉะจนเกินไป เก็บไว้ในที่ร่มรำไร เพราะถ้าหากต้นอ่อนถั่วลันเตาไม่ถูกแสงแดดเลย ต้นจะเหลืองและแข็ง

3.  รดน้ำวันละ 3 ครั้งก็เพียงพอ เพราะถ้ารดบ่อยกว่านี้เมล็ดจะเน่าได้ ประมาณ 10 วัน ต้นอ่อนของถั่วลันเตาจะสูงประมาณ 2-2.5 นิ้ว จึงจะพอดีสำหรับการรับประทาน

4.  ใช้กรรไกรคม ๆ ตัดที่โคนต้น ต้นอ่อนของถั่วลันเตาเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานถึง 10 วัน

ถั่วลิสงงอก

เอกลักษณ์ของถั่วลิสง คือ ความมันของเมล็ดถั่ว เมื่อนำมาคั่วใช้กินเป็นของว่างหรือกับแกล้ม คนทางใต้นำเอาถั่วลิสงมาเพาะเป็นถั่วลิสงงงอกกันเป็นผักสด ซึ่งนอกจากความกรอบของต้นถั่วแล้ว ยังมีรสชาติความมันแบบฉบับของถั่วลิสงอยู่ด้วย ถั่วลิสงงอกเพาะได้ง่าย แต่ใช้เวลานานกว่าถั่วเขียวและถั่วเหลือง เมล็ดถั่วหาซื้อได้ง่าย ควรเลือกเมล็ดที่สดใหม่ระมัดระวังเรื่องเชื้อรา

วิธีเพาะถั่วลิสงงอก

1.  ล้างเมล็ดถั่วลิสงให้สะอาด แล้วแช่น้ำค้างคืนไว้ 1 คืน

2.  เทเมล็ดถั่วลงในถังเพาะ เกลี่ยเมล็ดให้ทั่ว ใช้ฝักบัวรดน้ำให้ชุ่ม ใช้แผ่นฟองน้ำปิดทับ แล้วรดน้ำให้ชุ่มอีกครั้งหนึ่ง

3.  ปิดฝาแล้ววางไว้ในที่มืด

4.  รดน้ำเหมือนในข้อ 2 ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ถั่วลิสงจะใช้เวลา 4-5 วัน จึงเป็นถั่วงอกที่พร้อมจะนำไปรับประทานหรือจำหน่าย